เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตปลานิลมาตรฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 27, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ดร.จีรวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2551 กรมประมงได้จัดโครงการนำร่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปลาน้ำจืด เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก FTA ในอุตสาหกรรมปลาน้ำจืดของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยได้มีการจัดฝึกอบรมให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเกี่ยวกับการพัฒนาฟาร์มเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน GAP ซึ่งถือเป็นการสร้างเสริมศักยภาพฟาร์มปลาน้ำจืดของไทยให้มีความเข้มแข็งในการที่จะแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ
ปลานิลเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่ได้นำร่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืด ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก FTA ในอันดับต้นๆ ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง กระบวนการหลังจับ กระบวนการแปรรูป และกระบวนการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพและปลอดภัย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อตรวจติดตามผลหลังการดำเนินโครงการนำร่องของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลของคุณเอกสิทธิ์ อรรถจินดา หนึ่งในเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งมีสมาชิกประมาณ 30-40 คน เพื่อพัฒนาต่อยอดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปลาน้ำจืด อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างคุ้มค่า เช่น ปลานิล 1 ตัวนำเนื้อมาทำอาหาร เกล็ดปลานำไปประดิษฐ์งานฝีมือ ส่วนชิ้นส่วนที่เหลือรวมทั้งเครื่องในนำไปเปลี้ยงปลา และทำ EM ได้ ส่วนใหญ่จะมีคนมารับซื้อถึงที่กลุ่ม สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้สร้างตู้สำหรับอบปลานิลในการทำปลานิลแดดเดียว แทนการนำไปตากแดด ซึ่งนอกจากจะประหยัดเวลาแล้ว ปลาที่ได้ยังสะอาดและมีมาตรฐานกว่าการนำปลาไปตากแดดอีกด้วย ซึ่งต่อไปกรมประมงจะผลักดันด้านการตลาดให้มากขึ้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ