นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบันได้รับแรงกดดันจากปัญหาภายในประเทศ และปัญหาการส่งออก เนื่องจากปริมาณสต็อกและปริมาณการผลิตที่มีอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และภาวะแห้งแล้งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวบางส่วน ซึ่งน่าจะส่งผลกระตุ้นให้ราคาข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ราคาข้าวในประเทศยังดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ราคาข้าวในประเทศขณะนี้จะตกต่ำ แต่ยังพบว่าสต็อกข้าวทั่วโลกขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งขณะนี้ราคาข้าวที่ตกต่ำอาจเป็นผลเชิงจิตวิทยา เนื่องจากหลายฝ่ายอาจกำลังรอดูท่าทีของราคาข้าวก่อนที่จะช้อนซื้อหรือขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากเดือน พ.ค.นี้ ราคาข้าวในประเทศอาจสูงขึ้น เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ภาวะการผลิตข้าวนาปรังปี 2553 ในพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี ผลผลิตจะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.98 เหลือประมาณ 3.144 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตที่น้อยลงจะส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น
ด้านนายอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเวียดนามยังเผชิญปัญหาดุลการค้าและปัญหาเงินเฟ้อ ก็มีแนวโน้มว่าเวียดนามอาจจะปรับลดค่าเงินด่องลงอีก ประเทศไทยก็ต้องเตรียมรับมือ เนื่องจากจะทำให้ราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าไทย นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางประเทศมีความต้องการการบริโภคข้าวลดลง โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่อาจต้องนำเข้าข้าวปี 2553 หันไปใช้ข้าวสาลีเพื่อบริโภคแทน ทำให้อินเดียยังไม่ต้องนำเข้าข้าว ส่วนตลาดแอฟริกาก็หันไปบริโภคข้าวโพด ทำให้ความต้องการข้าวลดลงบางส่วน
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางแก้ปัญหา ขณะนี้ภาครับได้จัดทำมาตรการโครงการประกันรายได้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในเบื้องต้น และรัฐบาลได้เตรียมเปิดตลาดสินค้าส่งออกข้าวใหม่ๆ เพิ่ม โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศไซบีเรีย เพราะมีกำลังซื้อปริมาณมาก และรัฐจะเร่งระบายข้าวในสต็อกแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะทำให้กลไกด้านราคากลับสู่ปกติ ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น.