เครื่องตรวจนมเสีย ลดต้นทุนโรงงานนม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 7, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

เครื่องตรวจสอบความผิดปกติของนม ยู.เอช.ที. หรือผลิตภัณฑ์อาหารเหลวบรรจุกล่องโดยไม่ทำลาย แบบรายงานผลโดยตรงเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้คัดกรองนมเสียหรือนมบูดทิ้งไป เป็นผลงานของ ผศ.ดร.สุวรรณ หอมหวน, ดร.ณัฐดนัย ตัณฑวิรุฬห์ และคณะ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2553 รางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผศ.ดร.สุวรรณ หอมหวน กล่าวถึงแนวคิดของการประดิษฐ์เครื่องตรวจสอบนม ยู.เอช.ที.ว่า การผลิตนมพร้อมดื่ม ยู.เอช.ที. ตั้งแต่เริ่มให้ความร้อนจนถึงการบรรจุกล่องผลิตภัณฑ์นม อาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายสาเหตุ เช่น ท่อขนส่งนมไม่สะอาด หรือผู้ปฏิบัติงานมีความสะอาดไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์หมดอายุก่อนกำหนดได้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบนมที่บรรจุกล่องแล้ว เพื่อคัดนมที่ผิดปกติทิ้งก่อนจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค
เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจึงต้องสุ่มตัวอย่างน้ำนมเป็นประจำทุก 10-20 นาที ไปเพาะเชื้อ และหากตัวอย่างใดมีปริมาณจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็นำนมที่ผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวมาตรวจด้วยเครื่องตรวจคุณภาพนมกล่องแบบไม่ทำลาย เพื่อคัดกรองนมกล่องที่มีแนวโน้มเสียทิ้งก่อนจำหน่าย เนื่องจากนมที่ผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ปนเปื้อนจุลินทรีย์ทุกกล่อง (ทั้งนี้การปนเปื้อนจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตเป็นการปนเปื้อนเชื้อเพียงเล็กน้อย นมจึงไม่เสียทันทีแต่จะค่อยๆ เสีย โดยอาจทำให้นมมีรสเปรี้ยว จับตัวเป็นก้อน หรือแยกตกตะกอนอย่างชัดเจน ส่งผลให้หมดอายุก่อนกำหนด ซึ่งการเสียเหล่านี้ไม่มีทางทราบได้เลยเพราะนมอยู่ในกล่อง)
พร้อมกันนี้ยังมีการสุ่มตัวอย่างนมกล่องที่ผลิตแล้วและเก็บไว้ 7 วัน ก่อนจำหน่ายมาเพาะเชื้อ ถ้าตัวอย่างใดพบเชื้อเกินมาตรฐาน ก็นำนมจากลังนั้นมาตรวจและคัดนมกล่องที่เสียทิ้งไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการไม่มีเครื่องตรวจความผิดปกติของนมกล่อง แต่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้บริโภคก็จำเป็นต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาการผลิตเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีเพราะได้ทำการเปิดกล่องออกดูแล้ว ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรงกับผู้ผลิต ประกอบกับอุตสาหกรรมนมและอาหารในปัจจุบันจะใช้เครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศที่เรียกว่า Electester
เครื่องตรวจจากต่างประเทศดังกล่าวทำงานโดยไม่ต้องเปิดกล่องออกดู ซึ่งมีส่วนประกอบของเครื่องซับซ้อนเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกเกือบทั้งหมด โดยมีราคามากกว่า 3 ล้านบาทต่อเครื่อง ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงมุ่งพัฒนาสร้างเครื่องตรวจความผิดปกติของนมแบบไม่ทำลาย โดยออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นใหม่แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์การทำงานอย่างเดียวกันให้มีประสิทธิภาพการทำงานและอ่านผลได้แม่นยำทัดเทียมกับเครื่อง Electester แต่มีราคาถูกกว่า เพื่อใช้เป็นทางเลือกและลดต้นทุนการควบคุมคุณภาพให้แก่โรงงานนมและอาหารในประเทศ
คุณสมบัติและลักษณะเด่นของเครื่องตรวจสอบความผิดปกติของนม ยู.เอช.ที. หรือผลิตภัณฑ์อาหารเหลวบรรจุกล่องโดยไม่ทำลายแบบรายงานผลโดยตรง นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ โดยได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีการสั่นทางกลแบบการสั่นสะเทือนเสรี แบบมีตัวหน่วงชนิดของเหลวหนืดกรณีการหน่วงน้อยเกินไป เพื่อตรวจวิเคราะห์และคัดแยกนมรสชาติต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์อาหารเหลวบรรจุกล่องขนาดต่างๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อเพียงเล็กน้อย นมหรืออาหารเหลวจึงไม่เสียทันที แต่จะค่อยๆ เสียจนอาจทำให้นมมีรสเปรี้ยว จับตัวเป็นก้อนหรือแยกตกตะกอนอย่างชัดเจน ส่งผลให้หมดอายุก่อนกำหนด
การทำงานโดยการสั่นหรือเขย่าเป็นเครื่องวัดคุณภาพนมในกล่อง ทำให้สามารถแยกนมหรืออาหารเหลวปกติออกจากผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มว่าจะเสียก่อนวันหมดอายุจริง หรือเริ่มเสียก่อนที่จะนำออกไปจำหน่ายโดยไม่ต้องทำการแกะกล่องออกดู ซึ่งจะทำให้ลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุกล่องแล้ว แทนการแกะออกดูทุกกล่องที่ต้องสงสัยว่ามีความผิดปกติในช่วงเวลาการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น
นอกจากนี้ เครื่องตรวจสอบความผิดปกติของนม ยู.เอช.ที.ดังกล่าว ยังสามารถตรวจวิเคราะห์คัดแยกนมดีและนมเสีย สำหรับผลิตภัณฑ์นมบรรจุกล่องรสชาติต่างๆ รวมถึงขนาดบรรจุต่างๆ ในปริมาณ 700-1200 กล่องต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความเร็วของผู้ใช้ในการวางลงบนถาด ซึ่งจะแสดงผลคัดแยกเป็นสัญญาณเสียงและภาพผ่านจอ โดยสามารถปรับค่าเกณฑ์การแบ่งนมดีและนมระงับบนโปรแกรมได้เลยทำให้ผลการตรวจถูกต้อง 100% ส่วนอุปกรณ์แต่ละชิ้นของเครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นในส่วนทางกลและทางไฟฟ้าและระบบควบคุม แยกส่วนกันอย่างชัดเจนจึงสะดวกต่อการบำรุงรักษา เมื่ออุปกรณ์เสียก็ซ่อมแซมหรือนำอะไหล่ที่ผลิตได้เองในประเทศมาเปลี่ยนเฉพาะส่วนได้
สำหรับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการผลิตนม สามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเครื่องตรวจสอบความผิดปกติของนม ยู.เอช.ที. ได้ที่โทร. 0-3435-5310.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ