เปิดปาล์มน้ำมันพันธุ์ใหม่"สุราษฎร์ธานี7"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

แต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันค่อนข้างสูง โดยปี 2551 มีการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 3,285,800 เมล็ด และปี 2552 นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 4,359,720 เมล็ด ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศคอสตาริกา เบนิน และปาปัวนิวกินี ช่องทางที่จะลดปริมาณการนำเข้าพันธุ์ปาล์มได้นั้น ไทยต้องพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกร ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง กับการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมพันธุ์ใหม่ชื่อ "สุราษฎร์ธานี 7" ซึ่งถือเป็นข่าวดีของชาวสวนปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปี 2553 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์ใหม่ประสบความสำเร็จอีก 1 พันธุ์ คือ ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 โดยคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์แนะนำแล้ว เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้นำไปปลูกเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งปาล์มน้ำมันลูกผสมพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตทะลายสดสูงเฉลี่ย 3,646 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรประมาณ 6.6% ขณะเดียวกันยังให้ผลผลิตน้ำมันดิบสูงเฉลี่ย 881 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 ประมาณ 12.4% และสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 17% ทั้งยังให้เนื้อในต่อผลสูงเฉลี่ย 11% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้วย
ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 เดิมชื่อคู่ผสม 198 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ T159/398 กลุ่มแทนซาเนีย (Tanzania) กับแม่พันธุ์ D78/193 กลุ่มเดลิดูรา(Deli Dura) เมื่อปี 2544 จากนั้นทีมนักวิจัยได้มีการปลูกทดสอบร่วมกับปาล์มน้ำมันคู่ผสมอื่นๆ จำนวน 23 คู่ และใช้พันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีระหว่างปี 2546-2552 และทำการคัดเลือกได้ปาล์มน้ำมันลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรแล้ว ยังจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศได้ค่อนข้างมาก
พื้นที่ที่จะปลูกปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 ควรเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและเหมาะสมปานกลาง โดยมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,400-1,800 มม.ต่อปี มีช่วงแล้งติดต่อกันไม่เกิน 1-3 เดือน หรือมีสภาพการขาดน้ำ (water deficit) ประมาณ 100-300 มม.ต่อปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสม 25-29 องศาเซลเซียส หากดินมีการระบายน้ำที่ดีและความอุดมสมบูรณ์ดี จะสามารถให้ผลผลิตทะลายปาล์มสดได้มากกว่า 3 ตันต่อไร่ต่อปี
การปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์นี้ควรใช้ระยะปลูก 9x9x9 แบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ตามแนวเหนือ-ใต้ เกษตรกรควรมีการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างดี โดยปฏิบัติตามหลัก GAP ปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะมีอายุเก็บเกี่ยวทะลายสด 5-6 เดือน มีช่วงอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 25 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากพันธุ์สุราษฎร์ธานี 7 เป็นลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) จึงไม่สามารถนำเมล็ดที่ได้ไปทำพันธุ์เพื่อปลูกต่อได้ เพราะอาจเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น
กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี เร่งผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งช่วงปีแรกนี้ (2553-2554) คาดว่าจะสามารถผลิตเมล็ดงอกปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7 ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 เมล็ดงอก และปีถัดไปคาดว่าจะผลิตได้เพิ่มขึ้นถึง 200,000 เมล็ดงอก ปัจจุบันศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีมีกำลังการผลิตเมล็ดงอกปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1-7 ได้ปีละ 4-5 ล้านเมล็ดงอก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ
ศูนย์ได้มีการจัดจำหน่ายเมล็ดงอกปีละ 2 ล้านเมล็ด ขณะเดียวกันยังมีการส่งมอบเมล็ดงอกให้หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรนำไปผลิตเป็นต้นกล้าขนาดเล็ก (อายุ 3-5 เดือน) ประมาณ 600,000 ต้น และต้นกล้าใหญ่ (อายุ 8-12 เดือน) ประมาณ 250,000 ต้น เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรด้วย โดยกรมได้กำหนดราคาจำหน่ายเมล็ดงอกปาล์มน้ำมันเมล็ดละ 13 บาท ต้นกล้าขนาดเล็กอายุ 3-5 เดือน ต้นละ 30 บาท และต้นกล้าอายุ 8-12 เดือน ต้นละ 55 บาท
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้กรมวิชาการเกษตรได้เปิดให้สั่งจองเมล็ดงอกและต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถสั่งจองได้ที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี โทร.0-7727-4026, 0-7727-4101, 0-86479-4479.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ