มก.โชว์หุ่นยนต์อัจฉริยะเตะฟุตบอลชิงแชมป์โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 14, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โชว์ความพร้อมทีมหุ่นยนต์เตะฟุตบอล "สกูบา" (Skuba) ก่อนลงป้องกันแชมป์เวิลด์โรโบคัพ 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยแสดงความสามารถด้วยเทคนิคต่างๆ ของหุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่มีระบบการมองเห็นและการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ ลักษณะหุ่นยนต์เป็นทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 18 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร โดยลงโปรแกรมกลยุทธ์ให้หุ่นยนต์สามารถแข่งขันกันเองได้ โดยไม่มีการควบคุมจากมนุษย์ให้กับหุ่นยนต์ในระหว่างการแข่งขัน
อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาทีม Skuba กล่าวถึงความเป็นมาของการแข่งขันและการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ว่า ในปี 2551 ทีม Skuba ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมในรุ่น Small-Size League จากการแข่งขัน World Robo Cup 2008 ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน และในปี 2552 ทีม Skuba สามารถคว้าแชมป์โลกในรุ่น Small-Size League พร้อมกับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม และรางวัลเอกสารงานวิจัยหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม รวม 3 รางวัล จากการแข่งขัน World Robo Cup 2009 ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย และในปีเดียวกัน ทีม Skuba ยังได้ลงแข่งขันในรายการ China Robo Cup 2009 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภูมิภาค สามารถคว้าแชมป์ในรุ่น Small-SizeLeague และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมมาได้อีกหนึ่งรางวัล
สำหรับการแข่งขัน World Robo Cup 2010 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2553 ณ ประเทศสิงคโปร์ ทีม Skuba ได้เตรียมความพร้อมสูงสุด โดยได้พัฒนาขีดความสามารถของหุ่นยนต์อย่างเต็มที่เพื่อลงแข่งขันในรุ่น Small-Size League ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณสร้างหุ่นยนต์และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิสวิตา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับความพร้อมของหุ่นยนต์ที่ได้เตรียมการไว้มีความพิเศษเพิ่มขึ้น อาทิ การเคลื่อนที่ได้เร็วซึ่งอาจเรียกได้ว่าเคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดสำหรับทีมแข่งขันในตอนนี้ โดยขณะนี้หุ่นยนต์มีความเร็วสูงสุด 3.5 เมตรต่อวินาที มีการพัฒนาระบบการปรับจูนหุ่นยนต์อัตโนมัติ ทำให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้ในทุกสภาพความเสียดทานของสนาม กล่าวคือ สนามที่เป็นพรมเรียบ ซึ่งพรมเรียบนั้นก็มีหลายสภาพของความเสียดทานตามแต่ชนิดหรือวัสดุที่ใช้ทำพรม หรือตามแต่สภาพการใช้งานของสนาม ซึ่งหุ่นยนต์สามารถปรับจูนตัวเองให้เข้ากับสภาพความเสียดทานของสนามที่อาจแตกต่างกัน
อาจารย์กาญจนพันธุ์ สุขวิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้จัดการทีม Skuba กล่าวถึงการพัฒนาแผนการเล่นรูปแบบใหม่ให้สามารถรับมือทีมที่มีความสามารถในการตั้งรับสูงว่า ทีมเน้นแผนการเล่นเชิงรุกและบุกอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งรุกเราได้
สำหรับการแข่งขัน Robo Cub Thailand Championship ในประเทศไทยนั้น มีการแข่งขันในปี 2008 เป็นปีสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่มีการจัดการแข่งขันอีกเลย เนื่องจากมีทีมมาสมัครน้อยมาก เพราะการแข่งขันชนิดนี้ต้องใช้หุ่นยนต์จำนวนมาก และใช้เทคโนโลยีที่สูงมาก ไม่มีการใช้คนบังคับเลย ทำให้ลงทุนสูงและต้องการจำนวนคนทำหุ่นยนต์จำนวนมากหลากหลายสาขา และการแข่งขันนี้ในทุกๆ ปีจะต้องมีการต่อยอดจากปีเก่า คือเทคโนโลยีของหุ่นยนต์จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้หลายทีมประสบปัญหาการหาสมาชิกทีมใหม่ๆ
เมื่อปี 2008 ทีมจากประเทศไทยที่มีศักยภาพสามารถเข้าแข่งขันได้มี 3 ทีม ได้แก่ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ไปแข่งขันต่อในเวทีโลกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโอกาสของทีม Skuba ที่ถึงแม้จะไม่เคยได้แชมป์ประเทศไทย แต่ก็ได้มีโอกาสไปเปิดตัวในเวทีโลก และในปีนั้นเราก็คว้าที่ 3 ของโลกมาได้
ปี 2009 ซึ่งไม่มีแข่งในประเทศไทยอีกแล้ว ก็มีทีมจากประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีโลกที่ประเทศออสเตรีย 2 ทีม คือ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในปีนั้น ทีม Skuba ประสบความสำเร็จสูงสุด คว้าแชมป์โลก, แชมป์เทคนิคยอดเยี่ยม และแชมป์เอกสารงานวิจัยหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม คือได้ทีเดียว 3 รางวัลซ้อน ในปี 2010 นี้ มีทีมจากประเทศไทยที่ได้ไปแข่งขันในเวทีโลกที่ประเทศสิงคโปร์เพียง 1 ทีมเท่านั้น คือ ทีม Skuba มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ