นายประเสริฐ โกศลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว กรมการข้าว ว่าขณะนี้ได้เกิดการระบาดของหนอนห่อใบข้าวอย่างรุนแรงบริเวณพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สาเหตุจากเกษตรกรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูง และใช้สารฆ่าแมลงที่ไม่ได้แนะนำให้ใช้ในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาในนาข้าว ศัตรูธรรมชาติซึ่งช่วยควบคุมแมลงศัตรูข้าวถูกทำลายเป็นจำนวนมาก
หนอนห่อใบข้าวมีชื่อสามัญว่า หนอนม้วนใบข้าว หรือหนอนกินใบข้าว ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ เมื่อเกาะใบข้าวปีกจะหุบเป็นรูปสามเหลี่ยมเกาะอยู่ในร่มใต้ใบข้าว ตัวเมียวางไข่บนใบข้าวตามแนวเส้นใบและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไข่มีสีขาวขุ่นค่อนข้างแบนเป็นกลุ่ม แต่บางครั้งก็วางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่ 4-6 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม หนอนมี 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนระยะที่ 5 เป็นวัยที่กินใบข้าวได้มากที่สุด ระยะหนอน 15-17 วัน หนอนเข้าดักแด้ในใบข้าวที่ห่อตัวนั้น ระยะดักแด้ 4-8 วัน
ลักษณะการทำลายและการระบาด ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนาตั้งแต่ข้าวยังเล็ก และวางไข่ที่ใบอ่อนโดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบสีขาวๆ มีผลทำให้การสังเคราะห์แดดลดลง หนอนจะใช้ใยเหนียวที่สกัดจากปากดึงขอบใบข้าวจากทั้งสองด้านเข้าหากันเพื่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้ หนอนจะทำลายใบข้าวทุกระยะการเติบโตของข้าว ถ้าหนอนมีปริมาณมากจะใช้ใบข้าวหลายๆ ใบมาห่อหุ้มและกัดกินอยู่ภายใน ซึ่งปกติจะพบหนอนเพียงตัวเดียวในใบห่อนั้น ในระยะข้าวออกรวงจะทำลายใบธงซึ่งมีผลต่อการผลิต ทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง หนอนห่อใบข้าวสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัยต่อฤดูปลูก พบระบาดในนาเขตชลประทาน โดยเฉพาะแปลงนาข้าวที่ใส่ปุ๋ยในอัตราสูง
การป้องกันกำจัดเกษตรกรควรปฏิบัติดังนี้
1.ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นประจำควรปลูกข้าว 2 พันธุ์ขึ้นไป โดยปลูกสลับพันธุ์กันจะช่วยลดความรุนแรงของการระบาด
2.กำจัดพืชอาศัย เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าปล้อง หญ้าไซ หญ้าชันกาด และข้าวป่า
3.ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดและสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ หรือสารผสมสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ในข่าวอายุหลังการหว่าน 40 วัน เพราะศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลาย ทำให้เกิดการระบาดของหนอนห่อใบข้าวรุนแรงได้ในระยะข้าวตั้งท้อง-ออกรวง
4.เมื่อเริ่มมีการระบาดไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกิน 5 กก.ต่อไร่ หรือปุ๋ยยูเรียไม่เกิน 10 กก.ต่อไร่ ควรแบ่งใส่ปุ๋ยในช่วงข้าวกำลังเจริญเติบโตและลดปริมาณปุ๋ยที่ใส่ โดยปุ๋ยสูตร 16-20-0 ใส่ไม่เกิน 30 กก.ต่อไร่
5.เมื่อตรวจพบผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว 4-5 ตัวต่อตารางเมตร และพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15% ในข้าวอายุ 15-40 วัน ใช้สารฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่น ไฟโพรนิล อัตรา 30-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร สารเบนซัลเทป อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และสารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 80-110 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เฉพาะพื้นที่ที่มีใบถูกทำลายเป็นรอยระยะยาว
นอกจากนี้ ศูนย์ยังได้รายงานว่าพบมีการทำลายของหนอนกระทู้กล้าในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากขณะนี้มีข้าวระยะตกกล้าเป็นจำนวนมาก และหนอนสามารถเคลื่อนย้ายข้ามแปลงนา โดยติดไปกับซากพืชที่ลอยน้ำจากการไหลบ่าของน้ำจากบางพื้นที่ที่มีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวควรเฝ้าระวังด้วย
ผู้ที่ประสบปัญหาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานของกรมการข้าว หรือศูนย์บริการชาวนา 50 แห่งทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ.