มทร.คิดค้นยางปูพื้นจากยาง-ขี้เลื่อยยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยสตรีซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ภายใต้ชื่องาน Korea International Women's Invention Exposition 2010 (KIWIE 2010) ที่ผ่านมา มีนักวิจัยสตรีจากหลายประเทศส่งผลงานเข้าประกวด รวมทั้งประเทศไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยหลายรางวัล หนึ่งในนั้นมีสิ่งประดิษฐ์ที่นอกจากจะไปคว้าเหรียญเงินมาได้แล้ว ยังมีความโดดเด่นของชิ้นงานที่น่ากล่าวถึงคือ การนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุด ในที่นี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "ยางพารา" คือพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
สิ่งประดิษฐ์ที่กล่าวถึงข้างต้นคือ แผ่นกระเบื้องปูสนามภายนอกอาคาร ทำจากวัสดุยางธรรมชาติคอมโพสิต ผลงานของ ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ และ น.ส.ธัญนันท์ วรเศรษฐพงษ์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
เจ้าของผลงานเปิดเผยว่า ผลงานที่คิดค้นขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อผลิตวัสดุที่มีต้นทุนต่ำขึ้นมาเป็นทางเลือก จากกระเบื้องเซรามิกที่วางขายในตลาดซึ่งมีราคาแพง อีกทั้งยังเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารา ส่งออกยาง และมีผลิตภัณฑ์จากยางพาราส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ดังนั้น เมื่อวัตถุดิบในมีประเทศมีมากอยู่แล้ว จึงเป็นอีกทางที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาพืชเศรษฐกิจและทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแผ่นกระเบื้องยางปูสนามนอกอาคารดังกล่าว เกิดจากการคิดค้นสูตรและเทคนิคการใช้ยางธรรมชาติคอมโพสิต โดยนำขี้เลื่อยจากยางพาราซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์มาผสมกับยางพารา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า สูตรที่เหมาะสมในการนำไปผลิตทางการค้าคือ สูตรเติมขี้เลื่อยในอัตราส่วนที่เหมาะสม คือมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แผ่นกระเบื้องยางปูพื้นที่ได้มีขนาด 25x25x25 ซม. มีความสวยงาม สามารถต่อเป็นจิ๊กซอว์และสามารถรับแสงได้ดี ทนต่อสภาวะอากาศการใช้งานภายนอกอาคาร
จากการทดสอบพบว่า แผ่นกระเบื้องยางปูสนามมีค่าคุณสมบัติการทนต่อแรงดึงเท่ากับ 4014 MPa ค่าทนทานต่อแรงดึง หลังจากทำการบ่มเร่งสภาวะที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 22 ชั่วโมงคือ 5.45 MPs ค่าความแข็งเท่ากับ 91.8 shor A ค่าการทนทานต่อการขัดถู 100 รอบ คือ 0.431 คุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีค่าสูงกว่ายางธรรมชาติบริสุทธิ์ และเปอร์เซ็นต์การดูดซับน้ำคือ 4.5%
เจ้าของผลงานกล่าวว่า ในการคิดค้นก่อนจะประสบความสำเร็จได้พิจารณาและคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ความทนทานต่อสภาวะอากาศ สามารถรับน้ำหนักได้ ไม่ลื่น สามารถเปลี่ยนรูปแบบการวางและง่ายต่อการจัดการดูแลรักษา ตลอดจนสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ทั้งเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย ที่มีผลต่ออายุการใช้งานและการบำรุงรักษา อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน บริเวณภายนอกอาคารจะร้อนมาก ดังนั้น วัสดุควรมีลักษณะเป็นฉนวนไม่นำความร้อน ทำให้เราสามารถเดินบนสนามหญ้าได้ ไม่อุ้มน้ำ รักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญราคาต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับเซรามิกที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป ผู้ใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.08-3923-9790.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ