พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวปาฐกถาเรื่อง“ภาษาไทยบนแผ่นดินไทย” ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง ”การแก้วิกฤตภาษาไทย” เนื่องในวันภาษาไทย 2550 จัดโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย
วันนี้ เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวปาฐกถาเรื่อง“ภาษาไทยบนแผ่นดินไทย” ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง ”การแก้วิกฤตภาษาไทย” เนื่องในวันภาษาไทย 2550 จัดโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย โดยมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอก พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และคณะครูภาษาไทย เข้าร่วมรับฟังการปาฐกถา
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวปาฐกถาโดยมีสาระสำคัญว่า คนไทยมีภาษาประจำชาติภาษาเดียวคือภาษาไทย ฉะนั้นนับได้ว่าคนไทยโชคดีมหาศาล ไม่มีปัญหาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนบางประเทศมีภาษาที่ใช้กันมากกว่า 1 ภาษา ทำให้เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร เพื่อนคนจีนของผมคนหนึ่งเป็นข้าราชการที่ปักกิ่ง เล่าให้ฟังว่า เวลาเขาพาภรรยาไปเยี่ยมพ่อตาแม่ยาย เขาไม่สามารถพูดโดยตรงกับพ่อตาแม่ยายได้ ต้องให้ภรรยาเป็นล่าม ดูตลกดี ที่จริงในประเทศของเรายังมีภาษาที่เขาเรียกกันว่าภาษาภูมิชาติพันธุ์ ซึ่งพูดกันในระหว่างกลุ่ม แต่ผมคิดเอาเองว่าไม่น่าจะถือว่าเป็นอุปสรรค และขณะนี้ทางภาคราชการและภาคเอกชนกำลังพยายามให้เขาพูดอ่าน เขียน ภาษาไทย อยู่ โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยเรื่องนี้มาก
ก่อนที่ผมจะนำท่านทั้งหลายไปสู่เรื่องของภาษากลางซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเรา ผมขอนำพูดถึงเรื่องภาษาถิ่น ผมมีความเห็นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นไว้ให้มั่นคงและยั่งยืน ต้องมองเห็นความสำคัญของภาษาถิ่น ภาษาถิ่นแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาวถิ่นนั้น ๆ ที่เขารักและหวงแหนมากเหมือนกัน ผมเป็นคนใต้ ผมมีความภูมิใจในการเป็นชาวใต้ พยายามที่จะอนุรักษ์ภาษาใต้ดั้งเดิมไว้ แต่การอนุรักษ์ค่อนข้างยากมาก มีสาเหตุหลายประการซึ่งผมจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ เดี๋ยวนี้คนใต้แหลงใต้เฉพาะสำเนียง แต่คำที่ใช้เป็นภาษากลางเกือบทั้งหมด ผมเคยไปรับราชการที่ภาคอีสาน 4 ปี พยายามฝึกพูดภาษาอีสานจนสามารถพูดกับชาวอีสานได้ดีพอใช้ คนอีสานจะดีใจมากถ้าคนภาคอื่นเว่าอีสานได้ ที่จริงชาวถิ่นต่าง ๆ ใช้ภาษาถิ่นเฉพาะพูดกันในแวดวงกันเองของเขา และใช้ในการละเล่นต่าง ๆ เช่น โนราห์ เพลงบอกของชาวใต้ การพูดเป็นทางการ การสอนเด็กในโรงเรียนเขาจะใช้ภาษากลาง หรือบางคนเรียกว่าภาษาของชาวกรุงเทพฯ ผมก็งง ๆ อยู่เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าที่เรียกว่าภาษาของชาวกรุงเทพฯ ถูกหรือผิด ถ้าตีความตามพจนานุกรม ชาวกรุงเทพฯ คือกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาจากทุกภาคของประเทศของเรา เอาละครับ เป็นอันว่าเราตกลงกันว่าภาษาประจำชาติของเราคือภาษากลาง ส่วนในการเขียนภาษาถิ่นนั้น ชาวถิ่นเขาจะเขียนเฉพาะกรณีพิเศษ เช่น เขียนบทเพลง และที่มีหลักฐานชัดเจนคือมีการเขียนภาษาถิ่นไว้ในพจนานุกรมภาษาถิ่น
ในการพูดภาษากลางของคนภาคต่าง ๆ ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ผมหมายถึงว่าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ บางครั้งก็มีเรื่องให้ได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานครื้นเครง ครูโรงเรียนภาคอีสานพยายามชักชวนให้เด็กพูดภาษากลาง และบอกกับเด็กว่าภาษากลางเป็นภาษาสำคัญ ต่อไปนี้เรามาพูดภาษากลางกันดีกว่า ครูภาคใต้บอกนักเรียนว่าจะทำสิ่งใดให้มีความรอบคอบ อย่ากุบกับ ความแตกต่างหลากหลายในเรื่องภาษาในโลกนี้มีปรากฏชัดเจน แต่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักของเรามีภาษากลางเป็นภาษาประจำชาติ คนไทยทุกคนพึงภูมิใจในภาษาของเรา เรามีภาษาของเราเอง มีพยัญชนะ สระ ตัวเลข ของเราเอง เราเป็นเจ้าของภาษาไทยที่พ่อขุนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา ทำให้คนไทยสื่อสารเข้าใจกันได้ และสิ่งสำคัญที่พวกเราไม่ค่อยได้นึกถึงกันคือว่า ภาษาไทยซึ่งเรามีภาษาเดียวคือภาษากลาง ทำให้เราเป็นคนไทยเลือดเนื้อเดียวกันโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย
ผมขออนุญาตออกนอกเรื่องนิดหนึ่ง มีคนบางกลุ่มพูดกันว่าปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสาเหตุหนึ่งเกิดจากคนไทยมุสลิมพูดภาษาไทยไม่ได้ หรือพูดได้บ้างแต่สื่อกันไม่เข้าใจ ผมไม่เห็นด้วยเลย ขอเรียนว่าถ้านับอายุเป็นเกณฑ์ ผมติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของคนไทยที่สูงอายุ เมื่อผมเป็นเด็ก ผมมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่นับถือศาสนาอิสลามหลายคน เรียนโรงเรียนเดียวกันก็มี เพื่อนคนไทยมุสลิมของผม อย่าว่าแต่พูดไทยได้เลย ขอประทานโทษ ด่าเป็นภาษาไทยก็ได้ ฉะนั้นคนไทยมุสลิมที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ เกิดในนี้อายุรุ่นผมต้องพูดภาษาไทยได้ เว้นแต่ไม่ประสงค์จะพูด หรือเป็นคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านเมืองของเราเมื่อโตแล้ว อาจจะพูดได้บ้าง พูดไม่ชัดบ้าง ปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้จึงไม่ใช่เรื่องของภาษาไทย
ปัญหาใหญ่ของ 3 จังหวัดภาคใต้มี 2 ปัญหา คือความเป็นไทยและความเป็นธรรม ถ้าจะลงลึกถึงรายละเอียดของเรื่องความเป็นไทยและความเป็นธรรมต้องใช้เวลามาก ขอพูดสรุปสั้น ๆ ว่า เราทั้งคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่น ต้องทำให้คนไทยมุสลิมโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้สำนึกมั่นและถือว่าเขาเป็นคนไทย มีความเป็นไทย หยิ่งในความเป็นไทย มีสิทธิและหน้าที่ของไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น และเขาจะต้องได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากสังคมเท่าเทียมกับคนไทยพุทธ คนไทยคริสต์ คนไทยซิกข์ โดยไม่มีข้อยกเว้น
ขออนุญาตกลับเข้าเรื่องภาษาไทยที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้นะครับ อย่างที่เรียนแล้วว่าภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของเรา เป็นภาษาสำคัญและเป็นภาษาหลัก พลเมืองไทยทุกคนจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้ดีที่สุด ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่เท่าที่ทราบและเท่าที่อาจารย์กาญจนาฯ กรุณารายงานเมื่อสักครู่นี้ การศึกษาทุกระดับยังไม่บรรลุผลที่น่าพึงพอใจ รวมถึงการศึกษาภาษาไทยด้วย ผมเดาว่าสาเหตุอาจจะมาจากระบบการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อยจนจับหลักไม่ได้ อาจจะมาจากการลอกเลียนแบบต่างประเทศหลายประเทศ แล้วแต่ว่าท่านผู้รู้จบมาจากสถาบันการศึกษาจากประเทศไหน แต่สำหรับภาษาไทย ผมมีความเห็นว่าลอกใครไม่ได้ ต้องคิดเอง ทำเอง ปรับปรุงเอง พัฒนาเอง บางทีเราอาจจะต้องหวนกลับไปหาบรรพบุรุษกระมัง
ผมเห็นว่าการสอนให้ท่องจำ ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล ไม่มีประโยชน์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้โดยเฉพาะในการเรียนภาษาไทย สาเหตุอีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เด็กไทยเรียนภาษาไทยไม่ได้ดี คือเพราะเรามีสาขาวิชาให้เลือกมาก เด็กจึงเลือกเรียนวิชาที่ตนชอบและเหมาะกับการประกอบอาชีพของเขา และเขาเรียนจบ เด็กจะสนใจภาษาไทยเฉพาะที่จะนำไปใช้สื่อสารในการประกอบอาชีพเท่านั้น จึงใช้ผิดบ้างถูกบ้าง ทั้งในการพูดและการเขียน แต่แม้แต่เขาใช้ภาษาไทยถูกบ้างผิดบ้างทั้งในการพูดและการเขียน ก็ไม่ได้ทำให้การประกอบอาชีพของเขาต้องมีอุปสรรคแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เด็กจะเริ่มให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนเป็นต้น นอกจากนั้นผมเข้าใจว่าภาษาไทย ผมเองความรู้สึกความคิด จากประสบการณ์ของผมเอง ผมเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ยาก ที่เรียนรู้ให้แตกฉานยากมาก ภาษาไทยมีความกว้างขวางและเหตุลึกซึ้ง ไวยากรณ์ก็ยาก มีภาษาไทยหลายคำทีเดียวมาจากภาษาบาลี สันสกฤต คำเหล่านั้นก็เป็นคำยาก คำหลายคำเขียนอย่างหนึ่ง อ่านอย่างหนึ่ง บางคำเขียนอย่างเดียวกันอ่านได้สองอย่าง บางคำออกเสียงโดยใช้ไม้ไต่คู้กำกับ บางคำก็ไม่มี เมื่อผมเรียนภาษาไทย คำว่าเพ็ชร มีไม้ไต่คู้ เดี๋ยวนี้ไม่มี นักปราชญ์ภาษาไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับผมเองพูดว่า คำว่าเพชร ถ้าไม่มีไม้ไต่คู้ต้องอ่านว่า เพ-ชร ท่านอาจจะพูดเล่นสนุก ๆ ก็ได้ ภาษาไทยยากอย่างนี้จึงไม่ชวนให้เรียนกระมัง
ที่ผมพูดมาแล้วไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลอะไร ที่จริงผมมองเห็นว่าภาษาไทยมีเสน่ห์มาก ผันได้ 5 เสียง เวลาชาวต่างประเทศฟังเราพูดภาษาไทยเขาบอกว่าไพเราะมาก เหมือนอย่างที่เราฟังคนพูดภาษาฝรั่งเศส เราฟังแล้วเพลิดเพลิน แต่ฟังไม่เข้าใจ เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันภาษาไทยมีความผิดเพี้ยนไปจากภาษาไทยที่คนไทยเคยใช้กันมา การออกเสียง การพูด การสะกด การการันต์ การใช้คำ เปลี่ยนแปลงไปมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยที่เป็นไปอย่างไม่น่าพึงประสงค์ เคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก นั่นคือพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมหวังว่าสมาคมครูภาษาไทยฯ จะให้ความสนใจต่อพระราชกระแสรับสั่งและนำไปคิดแก้ไข
ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงของภาษานั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้น อยู่เสมอ แต่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จงใจ แต่ถ้าไปถามเด็กสมัยนี้เขาจะตอบว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องวิวัฒน์ เขามีความเห็นว่าภาษาไทยก็มีสิทธิที่จะต้องพัฒนาให้ดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น คำว่าสามัญเขาจะออกเสียงว่าส่ามัญ เขาจะยิ้มและพอใจที่จะออกเสียงอย่างนั้น เขาบอกว่าเก๋ดี เรื่องนี้เห็นจะเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายเช่นเดียวกัน
นักปราชญ์ทางภาษาพูดว่าภาษางอกได้ น่าจะหมายความว่าภาษาเจริญเติบโตขึ้นมีคำเพิ่มมากขึ้น และความข้อนี้น่าจะหมายรวมถึงภาษาไทยด้วย เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจากราชบัณฑิตยสถาน ชื่อว่าศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หวังว่าทุกท่านในที่ประชุมนี้จะได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เป็นหนังสือที่ดีมาก ผมชอบมาก เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ ผู้ที่ชอบพูดไทยคำฝรั่งคำควรแสวงหาไปอ่าน และควรจะนำไปใช้ ผมเห็นว่าการพูดไทยคำฝรั่งคำไม่น่าจะมี ไม่น่าจะพูด เพราะถ้าผู้ที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษจะฟังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่สำคัญคือการกระทำอย่างนั้นเป็นการทำให้ความงดงามของภาษาไทยของเราลดเสื่อมลง เป็นการไม่สมควร และที่อาจจะเป็นไปได้คือผู้พูดก็อาจจะไม่เข้าใจภาษา อังกฤษที่ตนพูดดีพอ บางคนอาจจะสะกดไม่ถูกด้วยซ้ำไป การที่ราชบัณฑิตยสถานจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกมาเผยแพร่ เห็นจะพอพูดได้ว่าทำให้ภาษาไทยงอกขึ้น และส่งเสริมให้การใช้ภาษาไทยได้หลากหลายขึ้น
ผมอ่านข่าวพบข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า ราชบัณฑิตยสถานมีความคิดที่จะเก็บคำที่เกิดขึ้นใหม่ คำเหล่านั้นเกิดจากสื่อหนังสือพิมพ์บ้าง สื่อโทรทัศน์บ้าง คิดขึ้นมาใช้ อย่างที่อาจารย์กาญจนาฯ ได้เอ่ยถึงเมื่อสักครู่นี้ เช่น คำว่าเด็กแนว เด็กซิล หรือเมื่อเร็ว ๆ ใหม่ ๆ นี้เมื่อไม่กี่วันนี้เอง ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าเมื่อราชบัณฑิตยสถานเก็บคำที่งอกมาใหม่นี้เข้าไปอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถานแล้ว ภาษาไทยก็คงจะงอกขึ้นรวดเร็วและมีจำนวนมากขึ้น แต่ก็คงจะมีภาระยุ่งยากพอสมควรพอทีเดียว
ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้เรียนให้ทราบในตอนแรกแล้วว่าผมรัก ผมถนอม และหวงแหนภาษาไทยมาก มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความรู้สึกเหมือนผม และในการที่อาจารย์กาญจนาฯ กรุณาเชิญผมมาพูดนี้ ผมได้เรียนแล้วว่าผมจะพูดถึงเรื่องประสบการณ์ และจะให้ความเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับสมาคมครูภาษาไทยฯ บ้างก็ได้ ผมเห็นว่าเรามีหน้าที่ที่จะรักษาภาษาไทยของเราให้บริสุทธิ์ สะอาด สง่างาม และเป็นที่ปรารถนาของคนไทยที่จะพูดภาษาไทยให้ถูกต้องชัดเจน ผมจึงใคร่ขอให้ความเห็นส่วนตัวดังต่อไปนี้ครับ
1. ผมเห็นว่าควรจะสร้างสิ่งจูงใจให้คนไทยรัก ถนอม และหวงแหนภาษาไทย บอก สอน แนะนำคนไทยว่าประเทศไทยของเรามีเอกราช มีอธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงรับสั่งภาษาไทยได้ชัดเจนถูกต้องโดยตลอด ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะทำนุบำรุงภาษาไทยให้ดำรงอยู่คู่กับคนไทย ทรงเป็นแบบที่ดีเลิศ และเราที่เป็นคนไทย รักชาติ รักแผ่นดิน สิ่งแรกที่เราควรจะต้องทำคือเราต้องดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ต้องระลึกเสมอว่าภาษาไทยคือภาษาของชาติเรา เป็นสมบัติของชาติที่มีค่ายิ่งใหญ่ของเรา เราจะต้องรัก ถนอม และหวงแหนภาษาแม่ ในใจของเราต้องมีความสำนึกที่จารึกอยู่เสมอว่า คนไทยมีหน้าที่ที่จะต้องกวดขันในการพูด การเขียน การอ่าน ให้ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องทำให้ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว
2. ต้องมีความภูมิใจในการที่ประเทศของเรามีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ แปลกแตกต่างจากหลายชาติในโลกนี้ เราพูดได้ เราอวดได้ว่าเรามีพยัญชนะ มีสระ มีวรรณยุกต์ มีตัวเลขของเราเอง ภาษาไทยมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ พวกเราคนไทยจึงจำต้องรักษาภาษาไทยไว้ให้ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งอ่าน คนไทยต้องภูมิใจในภาษาไทย ภาษาประจำชาติของเรา จะทำให้เราเดินยืดอกได้อย่างสง่าผ่าเผย
3. ผมขอเสนอว่า ต้องปลูกฝังความเป็นไทยแก่เด็กและเยาวชน อบรมบ่มนิสัยเด็กและเยาวชนให้รู้คุณค่า ให้รู้บุญคุณของแผ่นดิน รู้จักพูดคำว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินถ้านิยามอย่างสั้นที่สุดคือเป็นคนดี การรัก การถนอมและหวงแหนภาษาไทย ดำรงความถูกต้องของภาษาไทยคือการเป็นคนดี เพราะฉะนั้นเด็กควรจะภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่เรามีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ
4. ผมคิดว่าพวกเราที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย ควรจะแสวงหาวิธีสอน วิธีเขียนที่ง่ายและที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ให้เด็กเล็ก นักเรียน นักศึกษา เห็นว่าภาษาไทยน่ารัก น่าเรียน และน่าเสน่หา
ขอเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าผมภูมิใจและดีใจมากที่ได้มาร่วมกับท่านทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยในวันนี้ ขอชมเชยในความปรารถนาดีของสมาคมฯ และขอขอบคุณทุกท่าน โดยเฉพาะอาจารย์กาญจนาฯ ที่นึกถึงผม และถ้าการบรรยายของผมวันนี้ พอจะมีเนื้อหาสาระและเป็นประโยชน์แก่ครูภาษาไทยบ้างแม้เล็กน้อย ผมก็จะดีใจมาก ขอบคุณมากครับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้แทนสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย มอบของที่ระลึกแด่ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จากนั้น นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย มอบหนังสือเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐถาเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2549 แด่ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และมอบแด่นายกรัฐมนตรี
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวปาฐกถาเรื่อง“ภาษาไทยบนแผ่นดินไทย” ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง ”การแก้วิกฤตภาษาไทย” เนื่องในวันภาษาไทย 2550 จัดโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย โดยมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอก พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และคณะครูภาษาไทย เข้าร่วมรับฟังการปาฐกถา
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวปาฐกถาโดยมีสาระสำคัญว่า คนไทยมีภาษาประจำชาติภาษาเดียวคือภาษาไทย ฉะนั้นนับได้ว่าคนไทยโชคดีมหาศาล ไม่มีปัญหาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนบางประเทศมีภาษาที่ใช้กันมากกว่า 1 ภาษา ทำให้เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร เพื่อนคนจีนของผมคนหนึ่งเป็นข้าราชการที่ปักกิ่ง เล่าให้ฟังว่า เวลาเขาพาภรรยาไปเยี่ยมพ่อตาแม่ยาย เขาไม่สามารถพูดโดยตรงกับพ่อตาแม่ยายได้ ต้องให้ภรรยาเป็นล่าม ดูตลกดี ที่จริงในประเทศของเรายังมีภาษาที่เขาเรียกกันว่าภาษาภูมิชาติพันธุ์ ซึ่งพูดกันในระหว่างกลุ่ม แต่ผมคิดเอาเองว่าไม่น่าจะถือว่าเป็นอุปสรรค และขณะนี้ทางภาคราชการและภาคเอกชนกำลังพยายามให้เขาพูดอ่าน เขียน ภาษาไทย อยู่ โดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยเรื่องนี้มาก
ก่อนที่ผมจะนำท่านทั้งหลายไปสู่เรื่องของภาษากลางซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเรา ผมขอนำพูดถึงเรื่องภาษาถิ่น ผมมีความเห็นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นไว้ให้มั่นคงและยั่งยืน ต้องมองเห็นความสำคัญของภาษาถิ่น ภาษาถิ่นแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาวถิ่นนั้น ๆ ที่เขารักและหวงแหนมากเหมือนกัน ผมเป็นคนใต้ ผมมีความภูมิใจในการเป็นชาวใต้ พยายามที่จะอนุรักษ์ภาษาใต้ดั้งเดิมไว้ แต่การอนุรักษ์ค่อนข้างยากมาก มีสาเหตุหลายประการซึ่งผมจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ เดี๋ยวนี้คนใต้แหลงใต้เฉพาะสำเนียง แต่คำที่ใช้เป็นภาษากลางเกือบทั้งหมด ผมเคยไปรับราชการที่ภาคอีสาน 4 ปี พยายามฝึกพูดภาษาอีสานจนสามารถพูดกับชาวอีสานได้ดีพอใช้ คนอีสานจะดีใจมากถ้าคนภาคอื่นเว่าอีสานได้ ที่จริงชาวถิ่นต่าง ๆ ใช้ภาษาถิ่นเฉพาะพูดกันในแวดวงกันเองของเขา และใช้ในการละเล่นต่าง ๆ เช่น โนราห์ เพลงบอกของชาวใต้ การพูดเป็นทางการ การสอนเด็กในโรงเรียนเขาจะใช้ภาษากลาง หรือบางคนเรียกว่าภาษาของชาวกรุงเทพฯ ผมก็งง ๆ อยู่เหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าที่เรียกว่าภาษาของชาวกรุงเทพฯ ถูกหรือผิด ถ้าตีความตามพจนานุกรม ชาวกรุงเทพฯ คือกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาจากทุกภาคของประเทศของเรา เอาละครับ เป็นอันว่าเราตกลงกันว่าภาษาประจำชาติของเราคือภาษากลาง ส่วนในการเขียนภาษาถิ่นนั้น ชาวถิ่นเขาจะเขียนเฉพาะกรณีพิเศษ เช่น เขียนบทเพลง และที่มีหลักฐานชัดเจนคือมีการเขียนภาษาถิ่นไว้ในพจนานุกรมภาษาถิ่น
ในการพูดภาษากลางของคนภาคต่าง ๆ ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ผมหมายถึงว่าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ บางครั้งก็มีเรื่องให้ได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานครื้นเครง ครูโรงเรียนภาคอีสานพยายามชักชวนให้เด็กพูดภาษากลาง และบอกกับเด็กว่าภาษากลางเป็นภาษาสำคัญ ต่อไปนี้เรามาพูดภาษากลางกันดีกว่า ครูภาคใต้บอกนักเรียนว่าจะทำสิ่งใดให้มีความรอบคอบ อย่ากุบกับ ความแตกต่างหลากหลายในเรื่องภาษาในโลกนี้มีปรากฏชัดเจน แต่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักของเรามีภาษากลางเป็นภาษาประจำชาติ คนไทยทุกคนพึงภูมิใจในภาษาของเรา เรามีภาษาของเราเอง มีพยัญชนะ สระ ตัวเลข ของเราเอง เราเป็นเจ้าของภาษาไทยที่พ่อขุนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา ทำให้คนไทยสื่อสารเข้าใจกันได้ และสิ่งสำคัญที่พวกเราไม่ค่อยได้นึกถึงกันคือว่า ภาษาไทยซึ่งเรามีภาษาเดียวคือภาษากลาง ทำให้เราเป็นคนไทยเลือดเนื้อเดียวกันโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย
ผมขออนุญาตออกนอกเรื่องนิดหนึ่ง มีคนบางกลุ่มพูดกันว่าปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสาเหตุหนึ่งเกิดจากคนไทยมุสลิมพูดภาษาไทยไม่ได้ หรือพูดได้บ้างแต่สื่อกันไม่เข้าใจ ผมไม่เห็นด้วยเลย ขอเรียนว่าถ้านับอายุเป็นเกณฑ์ ผมติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของคนไทยที่สูงอายุ เมื่อผมเป็นเด็ก ผมมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่นับถือศาสนาอิสลามหลายคน เรียนโรงเรียนเดียวกันก็มี เพื่อนคนไทยมุสลิมของผม อย่าว่าแต่พูดไทยได้เลย ขอประทานโทษ ด่าเป็นภาษาไทยก็ได้ ฉะนั้นคนไทยมุสลิมที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ เกิดในนี้อายุรุ่นผมต้องพูดภาษาไทยได้ เว้นแต่ไม่ประสงค์จะพูด หรือเป็นคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านเมืองของเราเมื่อโตแล้ว อาจจะพูดได้บ้าง พูดไม่ชัดบ้าง ปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้จึงไม่ใช่เรื่องของภาษาไทย
ปัญหาใหญ่ของ 3 จังหวัดภาคใต้มี 2 ปัญหา คือความเป็นไทยและความเป็นธรรม ถ้าจะลงลึกถึงรายละเอียดของเรื่องความเป็นไทยและความเป็นธรรมต้องใช้เวลามาก ขอพูดสรุปสั้น ๆ ว่า เราทั้งคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่น ต้องทำให้คนไทยมุสลิมโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้สำนึกมั่นและถือว่าเขาเป็นคนไทย มีความเป็นไทย หยิ่งในความเป็นไทย มีสิทธิและหน้าที่ของไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น และเขาจะต้องได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากสังคมเท่าเทียมกับคนไทยพุทธ คนไทยคริสต์ คนไทยซิกข์ โดยไม่มีข้อยกเว้น
ขออนุญาตกลับเข้าเรื่องภาษาไทยที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้นะครับ อย่างที่เรียนแล้วว่าภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของเรา เป็นภาษาสำคัญและเป็นภาษาหลัก พลเมืองไทยทุกคนจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้ดีที่สุด ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่เท่าที่ทราบและเท่าที่อาจารย์กาญจนาฯ กรุณารายงานเมื่อสักครู่นี้ การศึกษาทุกระดับยังไม่บรรลุผลที่น่าพึงพอใจ รวมถึงการศึกษาภาษาไทยด้วย ผมเดาว่าสาเหตุอาจจะมาจากระบบการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อยจนจับหลักไม่ได้ อาจจะมาจากการลอกเลียนแบบต่างประเทศหลายประเทศ แล้วแต่ว่าท่านผู้รู้จบมาจากสถาบันการศึกษาจากประเทศไหน แต่สำหรับภาษาไทย ผมมีความเห็นว่าลอกใครไม่ได้ ต้องคิดเอง ทำเอง ปรับปรุงเอง พัฒนาเอง บางทีเราอาจจะต้องหวนกลับไปหาบรรพบุรุษกระมัง
ผมเห็นว่าการสอนให้ท่องจำ ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล ไม่มีประโยชน์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้โดยเฉพาะในการเรียนภาษาไทย สาเหตุอีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้เด็กไทยเรียนภาษาไทยไม่ได้ดี คือเพราะเรามีสาขาวิชาให้เลือกมาก เด็กจึงเลือกเรียนวิชาที่ตนชอบและเหมาะกับการประกอบอาชีพของเขา และเขาเรียนจบ เด็กจะสนใจภาษาไทยเฉพาะที่จะนำไปใช้สื่อสารในการประกอบอาชีพเท่านั้น จึงใช้ผิดบ้างถูกบ้าง ทั้งในการพูดและการเขียน แต่แม้แต่เขาใช้ภาษาไทยถูกบ้างผิดบ้างทั้งในการพูดและการเขียน ก็ไม่ได้ทำให้การประกอบอาชีพของเขาต้องมีอุปสรรคแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เด็กจะเริ่มให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนเป็นต้น นอกจากนั้นผมเข้าใจว่าภาษาไทย ผมเองความรู้สึกความคิด จากประสบการณ์ของผมเอง ผมเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ยาก ที่เรียนรู้ให้แตกฉานยากมาก ภาษาไทยมีความกว้างขวางและเหตุลึกซึ้ง ไวยากรณ์ก็ยาก มีภาษาไทยหลายคำทีเดียวมาจากภาษาบาลี สันสกฤต คำเหล่านั้นก็เป็นคำยาก คำหลายคำเขียนอย่างหนึ่ง อ่านอย่างหนึ่ง บางคำเขียนอย่างเดียวกันอ่านได้สองอย่าง บางคำออกเสียงโดยใช้ไม้ไต่คู้กำกับ บางคำก็ไม่มี เมื่อผมเรียนภาษาไทย คำว่าเพ็ชร มีไม้ไต่คู้ เดี๋ยวนี้ไม่มี นักปราชญ์ภาษาไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับผมเองพูดว่า คำว่าเพชร ถ้าไม่มีไม้ไต่คู้ต้องอ่านว่า เพ-ชร ท่านอาจจะพูดเล่นสนุก ๆ ก็ได้ ภาษาไทยยากอย่างนี้จึงไม่ชวนให้เรียนกระมัง
ที่ผมพูดมาแล้วไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลอะไร ที่จริงผมมองเห็นว่าภาษาไทยมีเสน่ห์มาก ผันได้ 5 เสียง เวลาชาวต่างประเทศฟังเราพูดภาษาไทยเขาบอกว่าไพเราะมาก เหมือนอย่างที่เราฟังคนพูดภาษาฝรั่งเศส เราฟังแล้วเพลิดเพลิน แต่ฟังไม่เข้าใจ เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันภาษาไทยมีความผิดเพี้ยนไปจากภาษาไทยที่คนไทยเคยใช้กันมา การออกเสียง การพูด การสะกด การการันต์ การใช้คำ เปลี่ยนแปลงไปมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยที่เป็นไปอย่างไม่น่าพึงประสงค์ เคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก นั่นคือพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมหวังว่าสมาคมครูภาษาไทยฯ จะให้ความสนใจต่อพระราชกระแสรับสั่งและนำไปคิดแก้ไข
ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงของภาษานั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้น อยู่เสมอ แต่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จงใจ แต่ถ้าไปถามเด็กสมัยนี้เขาจะตอบว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องวิวัฒน์ เขามีความเห็นว่าภาษาไทยก็มีสิทธิที่จะต้องพัฒนาให้ดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น คำว่าสามัญเขาจะออกเสียงว่าส่ามัญ เขาจะยิ้มและพอใจที่จะออกเสียงอย่างนั้น เขาบอกว่าเก๋ดี เรื่องนี้เห็นจะเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายเช่นเดียวกัน
นักปราชญ์ทางภาษาพูดว่าภาษางอกได้ น่าจะหมายความว่าภาษาเจริญเติบโตขึ้นมีคำเพิ่มมากขึ้น และความข้อนี้น่าจะหมายรวมถึงภาษาไทยด้วย เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจากราชบัณฑิตยสถาน ชื่อว่าศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หวังว่าทุกท่านในที่ประชุมนี้จะได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เป็นหนังสือที่ดีมาก ผมชอบมาก เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ ผู้ที่ชอบพูดไทยคำฝรั่งคำควรแสวงหาไปอ่าน และควรจะนำไปใช้ ผมเห็นว่าการพูดไทยคำฝรั่งคำไม่น่าจะมี ไม่น่าจะพูด เพราะถ้าผู้ที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษจะฟังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่สำคัญคือการกระทำอย่างนั้นเป็นการทำให้ความงดงามของภาษาไทยของเราลดเสื่อมลง เป็นการไม่สมควร และที่อาจจะเป็นไปได้คือผู้พูดก็อาจจะไม่เข้าใจภาษา อังกฤษที่ตนพูดดีพอ บางคนอาจจะสะกดไม่ถูกด้วยซ้ำไป การที่ราชบัณฑิตยสถานจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกมาเผยแพร่ เห็นจะพอพูดได้ว่าทำให้ภาษาไทยงอกขึ้น และส่งเสริมให้การใช้ภาษาไทยได้หลากหลายขึ้น
ผมอ่านข่าวพบข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า ราชบัณฑิตยสถานมีความคิดที่จะเก็บคำที่เกิดขึ้นใหม่ คำเหล่านั้นเกิดจากสื่อหนังสือพิมพ์บ้าง สื่อโทรทัศน์บ้าง คิดขึ้นมาใช้ อย่างที่อาจารย์กาญจนาฯ ได้เอ่ยถึงเมื่อสักครู่นี้ เช่น คำว่าเด็กแนว เด็กซิล หรือเมื่อเร็ว ๆ ใหม่ ๆ นี้เมื่อไม่กี่วันนี้เอง ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าเมื่อราชบัณฑิตยสถานเก็บคำที่งอกมาใหม่นี้เข้าไปอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถานแล้ว ภาษาไทยก็คงจะงอกขึ้นรวดเร็วและมีจำนวนมากขึ้น แต่ก็คงจะมีภาระยุ่งยากพอสมควรพอทีเดียว
ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมได้เรียนให้ทราบในตอนแรกแล้วว่าผมรัก ผมถนอม และหวงแหนภาษาไทยมาก มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความรู้สึกเหมือนผม และในการที่อาจารย์กาญจนาฯ กรุณาเชิญผมมาพูดนี้ ผมได้เรียนแล้วว่าผมจะพูดถึงเรื่องประสบการณ์ และจะให้ความเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับสมาคมครูภาษาไทยฯ บ้างก็ได้ ผมเห็นว่าเรามีหน้าที่ที่จะรักษาภาษาไทยของเราให้บริสุทธิ์ สะอาด สง่างาม และเป็นที่ปรารถนาของคนไทยที่จะพูดภาษาไทยให้ถูกต้องชัดเจน ผมจึงใคร่ขอให้ความเห็นส่วนตัวดังต่อไปนี้ครับ
1. ผมเห็นว่าควรจะสร้างสิ่งจูงใจให้คนไทยรัก ถนอม และหวงแหนภาษาไทย บอก สอน แนะนำคนไทยว่าประเทศไทยของเรามีเอกราช มีอธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงรับสั่งภาษาไทยได้ชัดเจนถูกต้องโดยตลอด ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะทำนุบำรุงภาษาไทยให้ดำรงอยู่คู่กับคนไทย ทรงเป็นแบบที่ดีเลิศ และเราที่เป็นคนไทย รักชาติ รักแผ่นดิน สิ่งแรกที่เราควรจะต้องทำคือเราต้องดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ต้องระลึกเสมอว่าภาษาไทยคือภาษาของชาติเรา เป็นสมบัติของชาติที่มีค่ายิ่งใหญ่ของเรา เราจะต้องรัก ถนอม และหวงแหนภาษาแม่ ในใจของเราต้องมีความสำนึกที่จารึกอยู่เสมอว่า คนไทยมีหน้าที่ที่จะต้องกวดขันในการพูด การเขียน การอ่าน ให้ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องทำให้ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว
2. ต้องมีความภูมิใจในการที่ประเทศของเรามีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ แปลกแตกต่างจากหลายชาติในโลกนี้ เราพูดได้ เราอวดได้ว่าเรามีพยัญชนะ มีสระ มีวรรณยุกต์ มีตัวเลขของเราเอง ภาษาไทยมีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ พวกเราคนไทยจึงจำต้องรักษาภาษาไทยไว้ให้ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งอ่าน คนไทยต้องภูมิใจในภาษาไทย ภาษาประจำชาติของเรา จะทำให้เราเดินยืดอกได้อย่างสง่าผ่าเผย
3. ผมขอเสนอว่า ต้องปลูกฝังความเป็นไทยแก่เด็กและเยาวชน อบรมบ่มนิสัยเด็กและเยาวชนให้รู้คุณค่า ให้รู้บุญคุณของแผ่นดิน รู้จักพูดคำว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินถ้านิยามอย่างสั้นที่สุดคือเป็นคนดี การรัก การถนอมและหวงแหนภาษาไทย ดำรงความถูกต้องของภาษาไทยคือการเป็นคนดี เพราะฉะนั้นเด็กควรจะภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่เรามีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ
4. ผมคิดว่าพวกเราที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย ควรจะแสวงหาวิธีสอน วิธีเขียนที่ง่ายและที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ให้เด็กเล็ก นักเรียน นักศึกษา เห็นว่าภาษาไทยน่ารัก น่าเรียน และน่าเสน่หา
ขอเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าผมภูมิใจและดีใจมากที่ได้มาร่วมกับท่านทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยในวันนี้ ขอชมเชยในความปรารถนาดีของสมาคมฯ และขอขอบคุณทุกท่าน โดยเฉพาะอาจารย์กาญจนาฯ ที่นึกถึงผม และถ้าการบรรยายของผมวันนี้ พอจะมีเนื้อหาสาระและเป็นประโยชน์แก่ครูภาษาไทยบ้างแม้เล็กน้อย ผมก็จะดีใจมาก ขอบคุณมากครับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้แทนสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย มอบของที่ระลึกแด่ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จากนั้น นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย มอบหนังสือเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐถาเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2549 แด่ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และมอบแด่นายกรัฐมนตรี
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--