วันนี้ (4 เมษายน 2550) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการสัมมนาธุรกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ไทย- ญี่ปุ่น “Thailand-Japan Business, Investment and Tourism Forum” สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ในวันนี้ได้มาอยู่ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทย ผู้แทนจากภาครัฐบาลและสื่อมวลชน นอกจากนั้น นับตั้งแต่เริ่มการเยือนจนถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นอันเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างชาติของเราทั้งสอง
การเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่นครบ 120 ปีในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดียิ่งของประเทศทั้งสองประเทศที่จะได้ร่วมยินดีกับความสำเร็จในอดีตและร่วมวางแผนความก้าวหน้าร่วมกันต่อไปในอนาคต มีหลายกิจกรรมเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นในประเทศไทย และในประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้ ตลอดทั้งปี แต่อย่างที่ทุกท่านทราบ ความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาชนและชาติของประเทศทั้งสอง ผูกพันกันมายาวนานกว่านั้น การติดต่อทางการค้าและการเดินทางไปมา นับย้อนหลังได้ถึงกว่า 400 ปี นับตั้งแต่สมัยอยุธยาของไทย เมื่อนายยามาดา นางามาสา (Yamada Nagamasa) นักผจญภัยและพ่อค้าชาวญี่ปุ่นเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อทำการค้าและร่วมต่อสู้เพื่อพระมหากษัตริย์ไทย บุคคลชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงท่านนี้ นับว่าได้ปูทางต่อมาให้กับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในยุคหลังๆ จำนวนนับไม่ถ้วนในการเข้ามาทำธุรกิจและท่องเที่ยวอันเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบันนี้ การแลกเปลี่ยนต่างๆระหว่างกันได้ขยายวงมากขึ้น ในด้านการค้า สินค้าจากญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งของสินค้านำเข้าในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เป็นตลาดส่งออกสินค้าไทยอันดับ4 หลังจากกลุ่มอาเซียน สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มูลค่าการค้าระหว่างกันมีปริมาณถึง ร้อยละ 16 ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอับดับ 1 ของไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ด้วยมูลค่าถึง 3.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 ในด้านการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 1.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา เป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย เท่านั้น ตัวเลขอันน่าประทับใจนี้ แสดงให้เห็นถึง การพึ่งพิงระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในหลายมิติ และเป็นหน้าที่ของทุกท่าน ที่จะช่วยกันพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป
การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)เมื่อวานนี้ เป็นการเปิดสู่มิติใหม่ด้านความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าถึงตลาดการค้าการลงทุนได้มากขึ้น แต่ยังรวมไปถึงความร่วมมือด้านวิชาการในหลายสาขา อาทิ การเกษตร ยานยนต์ สิ่งทอ และSMEs แม้ในขณะนี้ ความริเริ่มที่สำคัญในหลายด้านกำลังได้รับการเตรียมการให้พร้อม เพื่อที่จะนำไปปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จและผลประโยชน์จาก JTEPA ขึ้นอยู่กับพวกท่านว่าจะนำไปใช้อย่างไร และขึ้นอยู่พวกท่านที่จะช่วยเราโน้มน้าวให้ประชาชนของประเทศเราเห็นว่า นี่เป็น สถานการณ์ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างชนะ (win-win situation) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า ความตกลงอันครบวงจรนี้ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกันในระยะยาวจะได้สร้างประโยชน์เพื่อชุมชนนักธุรกิจและผู้บริโภคทั้งสองฝ่าย
ขอให้มิตรสหายชาวญี่ปุ่นได้โปรดวางใจว่าประเทศไทยยินดีและสนับสนุนโอกาสต่างๆที่จะเปิดขึ้นในการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เรามีความจริงจังต่อข้อผูกพันที่ได้กระทำไว้ และขอเรียนว่า ขณะนี้ กำลังมีพัฒนาที่มั่นคงในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และในครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนสมาคมธุรกิจต่างๆของไทยมาร่วมพบกับท่านเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและลู่ทางเกี่ยวกับธุรกิจของไทย ผมจึงเชื่อมั่นว่า กิจกรรมในวันนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักธุรกิจชาวญีปุ่นและชาวไทย ว่ายังมีโอกาสอีกมากมายที่จะกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความก้าวหน้าที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีขออวยพรให้การสัมมนาประสบความสำเร็จ
*Yamada Nagamasa ชาวญี่ปุ่นจากเมืองชิซูโอกะได้เดินทางประเทศไทยสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยาและได้เข้ารับราชการที่ประเทศไทย จนในที่สุดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญาเสนาภิมุข”
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ทศยาพร นิตยะ รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น