นายกรัฐมนตรีกล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาอาเซียนครบรอบ 40 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นที่มั่นคงและการพัฒนาที่ก้าวหน้าของอาเซียนมาจนถึงทุกวันนี้ และหวังว่าความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะกระชับเพิ่มพูนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
วันนี้ เวลา 07.30 น. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาอาเซียน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ดังนี้
สวัสดีครับพี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้เป็นวันครบรอบ 40 ปี ของการสถาปนาสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนได้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และพัฒนาก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะกระชับเพิ่มพูนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และผมเห็นว่าประชาชนชาวไทยและประชาชนอาเซียนทุกคนควรมีความภูมิใจกับความสำเร็จของอาเซียนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศสมาชิก ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือของอาเซียนมาโดยตลอด หัวข้อของการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีครั้งนี้ ก็คือ “อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวในใจกลางของเอเชียที่มีพลวัต หรือ One ASEAN at the Heart of Dynamic Asia” หมายถึงอาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเอเชีย ผมเห็นว่าเป็นคำกล่าว ที่สะท้อนบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาคเอเชีย และเวทีระหว่างประเทศตลอดช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา
อาเซียนถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 จากความพยายามของไทยที่ต้องการให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการรวมตัวและร่วมมือกันมากขึ้น ในปัจจุบันนี้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศล้วนเป็นสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือของอาเซียนได้ขยายจากการเน้นส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค จนครอบคลุมไปถึงความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม แรงงาน และด้านอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคทั้งสิ้น
ปัจจุบันอาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการสร้าง “ประชาคมอาเซียน” เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าร่วมกันในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จในปี 2558 ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ภายนอกภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันขยายครอบคลุมประเทศคู่เจรจาและองค์กร รวม 11 ราย ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ขณะนี้อาเซียนยังอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสาธารณรัฐเกาหลีด้วย และล่าสุดอาเซียนกับสหภาพยุโรปได้ตกลงกันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่จะจัดทำความตกลงเปิดการค้าเสรีระหว่างกัน นอกจากนี้ อาเซียนยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคในกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียและแปซิฟิก ความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ซึ่งประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นต้น
พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย
แม้อาเซียนจะเป็นองค์กรความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จและประเทศสมาชิกได้ร่วมกันแก้ปัญหาและเผชิญ สิ่งท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบต่างๆ ด้วยกันมาตลอด 40 ปี แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมและบริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การที่นับวันจีนและอินเดียจะมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค การแข่งขันกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและกับกลุ่มประเทศต่างๆ ตลอดจนปัญหาและภัยคุกคามในรูปแบบเก่า และแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย และสภาวะโลกร้อน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนจะต้องปรับตัวและเพิ่มความเข้มแข็งขององค์กร และนี่คือที่มาส่วนหนึ่งของการยกร่างกฎบัตรอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนและจะเป็นเอกสารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของความร่วมมือของอาเซียนต่อไป
กฎบัตรอาเซียนเป็นเสมือนธรรมนูญของอาเซียนซึ่งนอกจากจะทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกสถานะ อำนาจการต่อรองและความน่าเชื่อถือของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีกฎเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง มีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยมีกลไกเพื่อดูแลสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยได้สนับสนุนมาโดยตลอด รวมทั้งการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งภายในปี 2558 ดังที่กล่าวมาแล้ว
ในโอกาสนี้ ผมจึงขอแสดงความยินดีกับอาเซียนและขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคและความอยู่ดีกินดีของประชาชนอาเซียนอย่างยั่งยืนยาวนาน ผมขอพลานุภาพแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ทุกท่านเคารพนับถือ โปรดดลบันดาลให้พี่น้องประชาชนชาวไทยและพี่น้องประชาชนของมิตรประเทศอาเซียนจงประสบแต่ความผาสุกสวัสดี และมีความมั่นคงก้าวหน้าตลอดไป ขอบคุณครับ
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เวลา 07.30 น. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาอาเซียน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ดังนี้
สวัสดีครับพี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้เป็นวันครบรอบ 40 ปี ของการสถาปนาสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนได้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และพัฒนาก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะกระชับเพิ่มพูนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และผมเห็นว่าประชาชนชาวไทยและประชาชนอาเซียนทุกคนควรมีความภูมิใจกับความสำเร็จของอาเซียนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศสมาชิก ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือของอาเซียนมาโดยตลอด หัวข้อของการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีครั้งนี้ ก็คือ “อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวในใจกลางของเอเชียที่มีพลวัต หรือ One ASEAN at the Heart of Dynamic Asia” หมายถึงอาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเอเชีย ผมเห็นว่าเป็นคำกล่าว ที่สะท้อนบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาคเอเชีย และเวทีระหว่างประเทศตลอดช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา
อาเซียนถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 จากความพยายามของไทยที่ต้องการให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการรวมตัวและร่วมมือกันมากขึ้น ในปัจจุบันนี้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศล้วนเป็นสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือของอาเซียนได้ขยายจากการเน้นส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค จนครอบคลุมไปถึงความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม แรงงาน และด้านอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคทั้งสิ้น
ปัจจุบันอาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการสร้าง “ประชาคมอาเซียน” เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าร่วมกันในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จในปี 2558 ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ภายนอกภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันขยายครอบคลุมประเทศคู่เจรจาและองค์กร รวม 11 ราย ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ขณะนี้อาเซียนยังอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสาธารณรัฐเกาหลีด้วย และล่าสุดอาเซียนกับสหภาพยุโรปได้ตกลงกันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่จะจัดทำความตกลงเปิดการค้าเสรีระหว่างกัน นอกจากนี้ อาเซียนยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคในกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียและแปซิฟิก ความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ซึ่งประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นต้น
พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย
แม้อาเซียนจะเป็นองค์กรความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จและประเทศสมาชิกได้ร่วมกันแก้ปัญหาและเผชิญ สิ่งท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบต่างๆ ด้วยกันมาตลอด 40 ปี แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมและบริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การที่นับวันจีนและอินเดียจะมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค การแข่งขันกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและกับกลุ่มประเทศต่างๆ ตลอดจนปัญหาและภัยคุกคามในรูปแบบเก่า และแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย และสภาวะโลกร้อน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนจะต้องปรับตัวและเพิ่มความเข้มแข็งขององค์กร และนี่คือที่มาส่วนหนึ่งของการยกร่างกฎบัตรอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนและจะเป็นเอกสารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของความร่วมมือของอาเซียนต่อไป
กฎบัตรอาเซียนเป็นเสมือนธรรมนูญของอาเซียนซึ่งนอกจากจะทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกสถานะ อำนาจการต่อรองและความน่าเชื่อถือของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีกฎเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง มีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยมีกลไกเพื่อดูแลสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยได้สนับสนุนมาโดยตลอด รวมทั้งการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งภายในปี 2558 ดังที่กล่าวมาแล้ว
ในโอกาสนี้ ผมจึงขอแสดงความยินดีกับอาเซียนและขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคและความอยู่ดีกินดีของประชาชนอาเซียนอย่างยั่งยืนยาวนาน ผมขอพลานุภาพแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ทุกท่านเคารพนับถือ โปรดดลบันดาลให้พี่น้องประชาชนชาวไทยและพี่น้องประชาชนของมิตรประเทศอาเซียนจงประสบแต่ความผาสุกสวัสดี และมีความมั่นคงก้าวหน้าตลอดไป ขอบคุณครับ
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--