นายกรัฐมนตรีระบุยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ ต้องหารือกับกกต. สนช.ก่อน แต่คาดจะเลือกตั้งได้ในภายในเดือนธันวาคมนี้
วันนี้ ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังร่วมรายการพิเศษ "เกาะติด 19 สิงหา ลงประชามติ” เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนว่า คงต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะยังมีกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ ที่จะต้องมีการพิจารณา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องหารือกัน ส่วนการกำหนดวันที่จะหารือกันถึงวันเลือกตั้งนั้น ในวันนี้คงจะยังไม่ทัน และวันพรุ่งนี้จะเดินทางประเทศมาเลเซีย คงจะหารือกันหลังจากที่เดินทางกลับมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองอยากให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนจะได้เตรียมตัว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเรียนได้ว่าภายในปีนี้ หมายถึงว่าห้วงเวลาที่เหมาะคือเดือนธันวาคม หลังจากพิธีเฉลิมฉลองในปีมหามงคล คงหลังวันที่ 5 ธันวาคม ไปแล้ว คงมีอยู่เพียง 2 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กำหนดวันเลือกตั้งน่าจะเป็นไปตามเดิมที่เคยหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด การที่จะกำหนดได้คงจะต้องหารือกันก่อน และทำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น การที่จะพูดว่าวันไหนจริง ๆ คงจะต้องเป็นสิ่งที่ได้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทุกขั้นตอนหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลกับกระแสที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติหรือไม่ อย่างเช่นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะมีการเคลื่อนไหวกันต่อ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงออกถึงการตัดสินใจของประชาชนแล้ว ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ได้เรียนคือ เราเคารพในเสียงของคนส่วนน้อย แต่เราจะปฏิบัติตามเสียงของคนส่วนใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าผลการลงประชามติในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ทหารเข้าสู่การเมืองมากขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องของการที่จะเข้าสู่การเมือง ถ้าคำว่า ทหาร คงใช้ไม่ได้ เพราะว่าทหารหมายถึงผู้ที่ยังอยู่ในเครื่องแบบ ผู้ที่ยังรับราชการอยู่ คงจะไปทำงานการเมืองไม่ได้ ถ้าผู้ที่พ้นจากอาชีพนั้นไปแล้ว คงสามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองได้ เพราะมีสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เข้าสู่การเมืองถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงสืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ก็เหมือนอย่างที่พวกเราทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ในประวัติศาสตร์ของไทย และความเป็นมาเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นผู้ตัดสินจริง ๆ ว่า จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการลงประชามติที่ออกมาเท่ากับไม่กีดกันให้ทหารเล่นการเมืองใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้น คิดว่าประชาชนได้ตัดสินใจที่จะเดินก้าวหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เราอาจจะมีสิ่งที่ยังมองเห็นว่าไม่ค่อยดีนักในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ว่าเราสามารถที่จะแก้ไขได้ เหมือนอย่างที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวว่า ยังไม่สมบูรณ์ น่าที่จะมีโอกาสแก้ไขในอนาคตต่อไปข้างหน้า ซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า พื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองเก่า ผลการลงประชามติประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะประเมินเรื่องนี้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องทำต่อไป รัฐบาลคงไม่ประเมิน เพราะรัฐบาลจะไม่ตั้งพรรค และไม่ลงเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าประชาชนคงอยากเห็นชาติบ้านเมืองพ้นจากสภาวะวิกฤต อยากให้เปลี่ยนผ่านในช่วงนี้ไป นั่นเป็นสิ่งที่ได้รับฟังจากประชาชนในชนบท และในเมืองเป็นส่วนใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมั่นใจหรือไม่ว่าสถานการณ์จากนี้ไปประเทศชาติจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำงานทางการเมืองนั้นน่าจะเปิดกว้างขึ้น และทุกคนจะมองเห็นช่องทางที่จะก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย นั่นจะเป็นจุดที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างก็มองไปข้างหน้า เพื่อที่จะเห็นอนาคตที่ดีกว่า ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราคงจะต้องช่วยกันเพราะเราคงไม่อยากที่จะเห็นอนาคตที่ไม่สู้จะดีนัก ถ้าเราช่วยกันทุกคน เราจะมีอนาคตที่ดีกว่า
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังร่วมรายการพิเศษ "เกาะติด 19 สิงหา ลงประชามติ” เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนว่า คงต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะยังมีกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ ที่จะต้องมีการพิจารณา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องหารือกัน ส่วนการกำหนดวันที่จะหารือกันถึงวันเลือกตั้งนั้น ในวันนี้คงจะยังไม่ทัน และวันพรุ่งนี้จะเดินทางประเทศมาเลเซีย คงจะหารือกันหลังจากที่เดินทางกลับมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองอยากให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนจะได้เตรียมตัว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเรียนได้ว่าภายในปีนี้ หมายถึงว่าห้วงเวลาที่เหมาะคือเดือนธันวาคม หลังจากพิธีเฉลิมฉลองในปีมหามงคล คงหลังวันที่ 5 ธันวาคม ไปแล้ว คงมีอยู่เพียง 2 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กำหนดวันเลือกตั้งน่าจะเป็นไปตามเดิมที่เคยหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด การที่จะกำหนดได้คงจะต้องหารือกันก่อน และทำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น การที่จะพูดว่าวันไหนจริง ๆ คงจะต้องเป็นสิ่งที่ได้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทุกขั้นตอนหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลกับกระแสที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติหรือไม่ อย่างเช่นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะมีการเคลื่อนไหวกันต่อ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงออกถึงการตัดสินใจของประชาชนแล้ว ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ได้เรียนคือ เราเคารพในเสียงของคนส่วนน้อย แต่เราจะปฏิบัติตามเสียงของคนส่วนใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าผลการลงประชามติในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ทหารเข้าสู่การเมืองมากขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องของการที่จะเข้าสู่การเมือง ถ้าคำว่า ทหาร คงใช้ไม่ได้ เพราะว่าทหารหมายถึงผู้ที่ยังอยู่ในเครื่องแบบ ผู้ที่ยังรับราชการอยู่ คงจะไปทำงานการเมืองไม่ได้ ถ้าผู้ที่พ้นจากอาชีพนั้นไปแล้ว คงสามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองได้ เพราะมีสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เข้าสู่การเมืองถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงสืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ก็เหมือนอย่างที่พวกเราทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ในประวัติศาสตร์ของไทย และความเป็นมาเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นผู้ตัดสินจริง ๆ ว่า จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการลงประชามติที่ออกมาเท่ากับไม่กีดกันให้ทหารเล่นการเมืองใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้น คิดว่าประชาชนได้ตัดสินใจที่จะเดินก้าวหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เราอาจจะมีสิ่งที่ยังมองเห็นว่าไม่ค่อยดีนักในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ว่าเราสามารถที่จะแก้ไขได้ เหมือนอย่างที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวว่า ยังไม่สมบูรณ์ น่าที่จะมีโอกาสแก้ไขในอนาคตต่อไปข้างหน้า ซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า พื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองเก่า ผลการลงประชามติประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะประเมินเรื่องนี้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องทำต่อไป รัฐบาลคงไม่ประเมิน เพราะรัฐบาลจะไม่ตั้งพรรค และไม่ลงเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าประชาชนคงอยากเห็นชาติบ้านเมืองพ้นจากสภาวะวิกฤต อยากให้เปลี่ยนผ่านในช่วงนี้ไป นั่นเป็นสิ่งที่ได้รับฟังจากประชาชนในชนบท และในเมืองเป็นส่วนใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมั่นใจหรือไม่ว่าสถานการณ์จากนี้ไปประเทศชาติจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำงานทางการเมืองนั้นน่าจะเปิดกว้างขึ้น และทุกคนจะมองเห็นช่องทางที่จะก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย นั่นจะเป็นจุดที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างก็มองไปข้างหน้า เพื่อที่จะเห็นอนาคตที่ดีกว่า ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราคงจะต้องช่วยกันเพราะเราคงไม่อยากที่จะเห็นอนาคตที่ไม่สู้จะดีนัก ถ้าเราช่วยกันทุกคน เราจะมีอนาคตที่ดีกว่า
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--