นายกรัฐมนตรีแถลงผลงานรัฐบาลต่อสนช.

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday May 23, 2007 11:03 —สำนักโฆษก

วันนี้ เวลา 10.00 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนี้
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ
ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 8 ตุลาคม พุทธศักราช 2549 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2549 บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้เข้าทำหน้าที่บริหารประเทศมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงเห็นสมควรที่จะได้แถลงผลการดำเนินงานเพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ตลอดจนแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปในห้วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจ อันจะเป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนในวงกว้างถึงสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาดำเนินการ
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ
กระผมใคร่ขอเวลาสักเล็กน้อยย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อให้เห็นภาพของสถานการณ์โดยรวม กระผมใคร่ขอกราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกทุกท่านว่า รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง โดยภาระหน้าที่หลักอยู่บนพื้นฐานของการวางรากฐานระบอบการเมืองการปกครองและประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายหลักที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน รวมถึงการสร้างความสมานฉันท์กลับคืนสู่สังคมไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยมุ่งเน้นการปฏิรูปการเมือง การสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และจะดำเนินการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ของสังคมไทยในระยะยาว
ในช่วงที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน สภาวะทางเศรษฐกิจในขณะนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัว อันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยด้านความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมายาวนานเริ่มขยายตัวออกไปในวงกว้าง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 สถานการณ์ได้ทวีความตึงเครียด และนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดเห็นทางการเมืองและสังคมอย่างชัดเจน และเกิดภาวะไร้ระเบียบ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการขาดความเชื่อถือต่อผู้นำรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ นอกจากนี้ สถานการณ์ได้ถูกซ้ำเติมจากปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นในระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจ
เมื่อรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงนโยบายและโครงการที่มีอยู่ เพื่อให้การดำเนินงานต่อไปมีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงการยกเลิกนโยบายหรือโครงการในบางเรื่องที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว และไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติหรือสังคมโดยรวม
ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ปรับปรุงมาตรการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งพบว่าที่ผ่านมา มีกลไกที่ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง เกิดความสูญเสียงบประมาณ หรือเกิดผลที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของนโยบายในการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ
ดังตัวอย่างมาตรการที่ต้องมีการปรับแนวทางและบริหารจัดการให้ถูกต้อง คือ โครงการกองทุนหมู่บ้าน ที่เน้นด้านการกระจายสินเชื่อเป็นหลัก โดยขาดกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการนำเงินไปลงทุนเพื่อการประกอบอาชีพของประชาชนอย่างยั่งยืน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ขาดระบบสนับสนุนผู้ผลิตให้สามารถพัฒนาการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การวางแผนการตลาดที่เหมาะสม และโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ที่ต้องการจะสร้างการเข้าถึงเงินทุนให้กับผู้ที่มีศักยภาพในการลงทุน แต่โครงการก็ยังไม่สามารถทำให้ระบบการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมีการนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายและเป็นธรรมในสถาบันการเงิน ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลยังได้แก้ไขปัญหาหนี้สะสมของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้หนี้สะสมดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 50,407 ล้านบาท เหลือเพียง 28,746 ล้านบาท รวมทั้งแก้ไขปัญหาการชำระภาษีสรรพสามิตของธุรกิจโทรคมนาคมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐให้ถูกต้อง และรัฐบาลได้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทสำหรับการให้บริการโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจัดสรรค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,659 บาท เป็น 1,899 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งทำให้สถานพยาบาลสามารถพัฒนาคุณภาพการให้บริการได้ดีขึ้น
สำหรับกรณีตัวอย่างของนโยบายที่รัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกเนื่องจากไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน คือ การดำเนินนโยบายที่เน้นการ "อัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณโดยตรง" ไปยังกลุ่มประชาชนระดับรากหญ้า ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และการกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นผ่านคณะรัฐมนตรีสัญจรและการตรวจราชการ ซึ่งทำให้เกิดรายจ่ายค้างจ่ายข้ามปีงบประมาณเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้การจัดทำงบประมาณประจำปี 2550 ต้องจัดงบประมาณเพื่อคืนรายการที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้เกือบ 90,000 ล้านบาท และรายจ่ายดังกล่าวยังคงต้องผูกพันในปีงบประมาณ 2551 และ 2552 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านการคลังต่อไปในอนาคต
รัฐบาลชุดนี้ ตระหนักดีถึงความคาดหวังจากสาธารณชนที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและปิดช่องว่างทางการเมืองที่ประเทศเผชิญอยู่ แต่มิได้หมายความว่า รัฐบาลชุดนี้จะบริหารงานเพื่อรอให้การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยและดำเนินไปสู่กระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ การปรับรากฐานทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการวางนโยบายเชิงรากฐานทดแทนนโยบายเชิงกระแส ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความสมานฉันท์ และร่มเย็นเป็นสุข โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลัก 4 ประการ คือ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพ และการประหยัดอย่างมีเหตุผล
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ
ก่อนที่จะกล่าวถึงผลงานของรัฐบาล กระผมขอเรียนว่า การเป็นรัฐบาลในช่วงนี้มีภารกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งของรัฐบาลและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
ทั้งชาติ คือ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งรัฐบาลได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อพระราชพิธีว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550" และพระราชทานชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติว่า "งานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550" โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ซึ่งในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ รัฐบาลได้เตรียมการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ และสมพระเกียรติ ทั้งงาน พระราชพิธี งานรัฐพิธี งานศาสนพิธี และจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ตลอดทั้งปี 2550 จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ
การดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจของรัฐบาลชุดนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การแก้ไขและบรรเทาปัญหาเร่งด่วน และการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสาระของนโยบายและภารกิจดังกล่าวได้ถูกสอดแทรกอยู่ในนโยบายเฉพาะด้านที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549 โดยนโยบายด้านการวางรากฐาน แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ครอบคลุมถึง (1) การปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร (2) เศรษฐกิจ (3) สังคม (4) การต่างประเทศ และ (5) การรักษาความมั่นคงของรัฐ กระผมขอรายงานต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยสรุปดังนี้
ผลงานด้านการแก้ไขและบรรเทาปัญหาเร่งด่วนมีเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง คือ
เรื่องที่หนึ่ง การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลได้น้อมนำแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน ได้เริ่มปรับยุทธศาสตร์ และระบบกลไกการบริหารจัดการ ตลอดจนการดำเนินงานในพื้นที่ให้มีเอกภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนความคิด และอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชาสัมพันธ์และการปฏิบัติ การจิต วิทยาตอบโต้กับฝ่ายก่อความไม่สงบและผู้ไม่หวังดี และการปรับทัศนคติ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานสอบสวนในการดำเนินการออกหมายจับ ที่ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างสมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชน เพื่อพัฒนาระบบงานยุติธรรมให้มีความรวดเร็วในการให้บริการ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในการดำเนินการของภาครัฐต่อประชาชน
รัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดของเทศบาลสอนวิชาอิสลามศึกษา เพื่อให้นักเรียนไทย—มุสลิม ในพื้นที่ได้มีโอกาสรับบริการทางการศึกษาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น และรัฐบาลยังได้ดำเนินการจัดทำโครงการสร้างงานและจ้างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและเยาวชนว่างงานในพื้นที่ ประมาณ 27,000 คน รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำโครงการพัฒนาภายใต้แผนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวม 663 ล้านบาท
นอกจากนี้ องค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ก็ได้ปรับท่าทีมาร่วมมือและสนับสนุนแนวทาง แก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีของไทย โดยเลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ได้เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 30 เมษายน—วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 และได้แสดงความชื่นชมแนวทางสมานฉันท์และสันติวิธีของรัฐบาล รัฐบาลได้ใช้ทุกช่องทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี โดยในระดับรัฐมนตรีได้มีการเยือนประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศ เช่น บาห์เรน อียิปต์ ปากีสถาน เป็นต้น
เรื่องที่สอง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และการเตรียมป้องกันภัยแล้ง
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากร "น้ำ" โดยได้ประกาศให้ "น้ำ" เป็นวาระแห่งชาติ ครอบคลุมน้ำ 4 ประเภท คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำบริโภค และ น้ำเสีย แต่ภัยธรรมชาติอันแรกที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา คือ อุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่ประสบภัย 47 จังหวัด ในช่วงกลางปี 2549 หลังจากที่รัฐบาลได้เข้าบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการจัดหาน้ำสะอาดแจกจ่ายราษฎรกว่า 2 ล้านลิตร และได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร โดยจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ อาหารสัตว์ การให้บริการเวชภัณฑ์และวัคซีน การสนับสนุนพันธุ์พืชอายุสั้น การจัดตั้งศูนย์บริการการเกษตรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ รวม 909 ศูนย์ รวมทั้ง ยังได้ดำเนินการประสานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในกรอบวงเงิน 6,737 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน และจัดทำแผนฟื้นฟูการเกษตรหลังน้ำลด ขยายการชำระหนี้เงินกู้ 3 ปี แก่สมาชิกสหกรณ์ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยกรณีสมาชิกประสบภัยร้ายแรง ซึ่งมีสมาชิก สหกรณ์ได้รับความช่วยเหลือ 362 สหกรณ์ และ 57,330 กลุ่มเกษตรกร
นอกจากนั้นตามที่คาดว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรวม 37 จังหวัด รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝน น้ำท่า น้ำเก็บกักและการขาดแคลนระบบประปาหมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมาย ได้มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การซ่อมแซม ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านกว่า 2,500 แห่ง การบูรณะฟื้นฟูแหล่งน้ำ การก่อสร้างฝายคันน้ำกว่า 28,000 แห่ง การปรับปรุงบ่อน้ำตื้น 1,414 บ่อ การเป่าล้างบ่อบาดาล 4,699 บ่อ การเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมอีก 1,400 บ่อ การขุดลอกคลองเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง 450 สาย ขุดลอกตะกอนอ่างเก็บน้ำ 58 แห่ง ก่อสร้างแหล่งน้ำชุมชนชนบท 168 แห่ง รวมทั้งการซ่อมแซมอุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ และการเตรียมรถแจกจ่ายน้ำ เป็นต้น
ในระยะต่อไป รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทการบรรเทาอุทกภัยระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 6 ประการ คือ การป้องกันฟื้นฟูต้นน้ำ การฟื้นฟูแหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ การปรับปรุงแหล่งน้ำและระบบระบายน้ำ การจัดการด้านการใช้ที่ดินและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจหลัก การปรับปรุงรูปแบบการเกษตรและการใช้พื้นที่เกษตรเป็นแหล่งรับน้ำนอง การบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการบรรเทาภัยแล้ง โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 มีวงเงินงบประมาณรวมตลอดระยะเวลา 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2551-2559 จำนวน 112,032 ล้านบาท โดยเป็นการจัดสรรให้เฉพาะในปี 2551 จำนวน 10,577 ล้านบาท
นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำจะต้องจัดการอย่างเป็นบูรณาการกับที่ดินและป่าไม้ด้วย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินและป่าไม้ โดยส่งเสริมแนวทางการฟื้นตัวของสภาพป่าตามธรรมชาติ มีการประเมินผลการปลูกป่าที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาป่าในเขตป่าอนุรักษ์ รวมทั้งสนับสนุนโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมจูงใจให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อสร้างงานและอาชีพใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ร้อยเอ็ด และเชียงราย พื้นที่รวม 3,064 ไร่ มีการเตรียมรับสถานการณ์ไฟป่า โดยกำหนดแผนการดำเนินงานในการบริหารจัดการน้ำ ควบคุมไฟป่า โดยการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
เรื่องที่สาม มลพิษทางน้ำในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผมเข้ามารับหน้าที่มีปัญหาเกิดขึ้นทั้งในลุ่มแม่น้ำพองและลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาจากทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการในเบื้องต้น มลพิษที่ผมได้กล่าวไปแล้วในเรื่องที่ 3 นี้ ถือว่าเป็นมลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา และปลาในกระชังของเกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้น และได้ให้ความช่วยเหลือในการจ่ายเงินค่าชดเชยแก่เกษตรกร จำนวน 231 ราย เพื่อเป็นการเยียวยาเฉพาะหน้า รวมทั้งได้จัดทำเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังเพิ่มเติมเป็นพิเศษ โดยจะใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนหลักในการแก้ไขปัญหาภัยน้ำเสียในระบบลุ่มน้ำแบบบูรณาการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยให้ดำเนินการในลุ่มน้ำที่มีปัญหาภัยน้ำเสียรุนแรงก่อนเป็นลำดับแรก
เรื่องที่สี่ หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ
เมื่อเกิดสถานการณ์หมอกควันขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือนั้น รัฐบาลได้ระดมกำลังพนักงานดับไฟป่าจากพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม จำนวน 580 คน และมอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการสนธิกำลังในการดำเนินการลาดตระเวนป้องปราม และเข้าดำเนินการดับไฟในพื้นที่นอกเขตป่าอนุรักษ์ รวมทั้ง ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข จัดเตรียมคลินิกพิเศษเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในท้องที่ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่ห้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ภายหลังที่ได้เปิดใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ได้มีปัญหาการให้บริการ ทั้งในด้านกายยภาพ การบริหารจัดการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านกายภาพ ทั้งในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารผู้โดยสาร ปัญหาการขนส่งสินค้า และปัญหาผิวทางวิ่ง ทางขับของท่าอากาศยานชำรุดเสียหาย และได้ดำเนินการตรวจสอบปัญหาในการจัดซื้อ จัดจ้าง และการให้สัมปทานในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องส่วนปัญหาของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งรีบ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่มีความอ่อนไหวต่อเสียงไปแล้ว จำนวน 16 แห่ง คือ โรงเรียน 8 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง และศาสนสถาน 5 แห่ง สำหรับการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบนั้น อยู่ในระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ
เรื่องที่หก เศรษฐกิจชะลอตัว
ตามที่ได้เรียนแล้วว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้มีแนวโน้มชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องจากต้นปี 2549 ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม ที่มีองค์ประกอบจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการประสานแนวคิดและแนวปฏิบัติเพื่อให้การขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนสอดประสานซึ่งกันและกัน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐพร้อมกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่สองเป็นต้น
รัฐบาลเห็นว่าในขณะที่ต้องส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยอยู่ในขณะนี้ การสร้างความมั่นใจของนักลงทุน และการกระตุ้นการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งในการรักษาการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ ดังนั้น นอกเหนือจากการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เร่งรัดการลงทุนโครงการระบบขนส่งทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จะเริ่มประมูลได้ภายในเดือนสิงหาคม 2550 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ (3) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทาง ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง และ (4) โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รัฐบาลเชื่อว่าจะการลงทุนของรัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะช่วยสร้างความ
เชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในระบบเศรษฐกิจของไทยต่อไป
ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสร้างประโยชน์ ทั้งในด้านการสร้างมูลค่า การพัฒนาเทคโนโลยีและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง ทั้งในเรื่องมาตรการทางการเงิน มาตรการทางภาษี และการกำหนดสิทธิพิเศษให้กับอุตสาหกรรม หรือบริการที่มีศักยภาพ และอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ได้ส่งผลให้มีมูลค่าการลงทุนจากบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 80,000 ล้านบาท มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมสูงเกินร้อยละ 80 ขณะที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 19
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และท่านสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพ
สำหรับผลงานที่เป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตตามนโยบายของรัฐบาลทั้ง 5 ด้าน มีดังนี้
ด้านที่หนึ่ง นโยบายการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร รัฐบาลได้ดำเนินการมีความคืบหน้าหลายประการ กล่าวคือ
ประการแรก รัฐบาลได้สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรเพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยเน้นความสำคัญในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญทุกระดับ เพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร และยังได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมือง สนับสนุนเครือข่าย องค์กร และมูลนิธิต่าง ๆ ให้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ การจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นของประชาชนรวม 45 เวที รวมทั้งได้จัดให้มีการสัมมนาการมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7-9 มีนาคม 2550 และจัดเวทีเสียงประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในต่างจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 นอกจากนั้นยังได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์เร่งด่วน ผลิตวัสดุประชาสัมพันธ์ คู่มือให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเปิดรับความเห็นผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งตู้ปณ. และโทรศัพท์หมายเลข 1111 โดยจะรวบรวม ประมวลข้อคิดเห็นเสนอคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
ประการที่สอง การเสริมสร้างมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยได้ดำเนินการส่งเสริมองค์กรอิสระและประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งการป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งทางแพ่งทางอาญา และทางวินัยอย่างต่อเนื่อง โดยคดีทางแพ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 289 เรื่อง และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ จำนวน 746 เรื่อง คดีทางอาญาดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 80 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 955 เรื่อง คดีทางวินัยดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 377 เรื่อง และอยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 663 เรื่อง
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรูปแบบใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายหรือการกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลจึงได้จัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และคณะรัฐมนตรีจะได้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า การมีพระราชบัญญัติดังกล่าวจะช่วยป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย และเป็นการเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนส่งเสริมให้องค์กรอิสระและประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องการสนับสนุนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบทั้งหลาย รัฐบาลได้ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการในการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ รวมทั้งให้มีการต่ออายุการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยให้มีวาระการทำงานไปจนกระทั่งสิ้นสุดวาระของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยได้ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจและวิธีการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้สามารถดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้แม้ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาบุคคลใดกระทำความผิด โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในประการที่สาม การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมืองที่เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมทางการเมือง โดยการจัดให้มี "สภาพัฒนาการเมือง" เป็นองค์กรหลักในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมือง รวมทั้งทำหน้าที่ประสาน ติดตาม กำกับ การดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาการเมืองให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนองตอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองและยกร่างแผนแม่บทพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 28 เวที มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 คน พร้อมกับเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งคณะกรรมการได้ดำเนินการรายงานผลของการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการเมืองและการยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองจะเห็นได้ว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพื่อการวางรากฐานที่สำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร และจะได้ดำเนินการสนับสนุนประชาชนในการแสดงประชามติที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2550 นี้ และการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลได้มีการปรึกษาหารือร่วมกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ที่เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงวันอาทิตย์ที่ 16 หรือวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทั้งในประเทศและนานาอารยะประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เพื่อเป็นการผลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อไป อันจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยในระยะต่อไปด้วย
(ยังมีต่อ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ