คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
แถลงต่อรัฐสภา วันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และแต่งตั้งรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และครอบคลุมถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน
ประเทศไทยมีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรี และมีการสะสมทางปัญญามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ แต่ก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ทุกครั้ง เนื่องด้วยภูมิปัญญาของสังคมและคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยที่ยึดมั่น ในสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันสูงสุดที่คนไทยทุกคนเคารพและยึดมั่น
ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ชุมชน ความรักในอิสรภาพและความยุติธรรม ซึ่งต่างล้วนเป็นพลังผลักดันให้สังคมไทยสามารถแสวงหาทางออกได้เสมอมาจนเป็น ที่ยอมรับของนานาประเทศ
ด้วยต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เราได้สะสมมาตั้งแต่ในอดีต ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและ ความเป็นไปของโลก สามารถนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองด้วยดีเสมอมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดในการบริหารบ้านเมืองจึงไม่สามารถ ใช้กรอบแนวคิดแบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีตได้ ดังนั้น กรอบแนวคิดใหม่ ๆ จึงมีความจำเป็น
ที่จะต้องนำมาใช้เพิ่มเติมร่วมกับต้นทุนดั้งเดิมของประเทศที่เรามี เพื่อรวบรวมพลังจาก ทุกภาคส่วนมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้น
จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง ไปอย่างมีนัยสำคัญ ได้ส่งผลให้ประเทศไทยในวันนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงและยังไม่สามารถก้าวพ้นวิกฤตได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือ
๑.๑ วันนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองไปสู่ศูนย์กลางใหม่ทางทวีปเอเชียในระยะยาว สหรัฐอเมริกายังมีการว่างงานสูง อีกทั้งสถาบันการเงิน ครัวเรือน และรัฐบาลยังอ่อนแอด้วยภาระหนี้เกินตัว เศรษฐกิจยุโรปเผชิญปัญหาการคลังและมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทั้งกรีซ สเปน และอิตาลี รวมทั้งภาระอุ้มชูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของการถือครองทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ
ทั้งที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและทรัพย์สินอื่น ๆ ในขณะที่จีนและอินเดียกลับมีศักยภาพ ในการขยายตัวของเศรษฐกิจและกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะบทบาทและความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มมีมากขึ้นและแผ่ขยายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก โดยได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นโรงงานผลิตของโลกไปสู่การบริหารและ ถือครองทรัพย์สินและทรัพยากรพลังงานของโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ
๑.๒ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกสินค้าและการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก จึงมีความเสี่ยงสูงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และยังไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มที่จากการผลิตและการใช้ทรัพยากรของประเทศ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศลดลงจากร้อยละ ๗๔.๘ ในปี ๒๕๕๒ เป็นร้อยละ ๖๗.๕ ในปี ๒๕๕๓ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวเมื่อโลกมีวิกฤตเศรษฐกิจ (ติดลบร้อยละ ๒.๓ ในปี ๒๕๕๒) และขยายตัวเมื่อโลกฟื้นตัว (ขยายตัวร้อยละ ๗.๘ ในปี ๒๕๕๓) เป็นวงจรอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การขยายตัวดังกล่าวมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ ๒๘.๕ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นของบริษัทต่างชาติที่ไทยเป็นเพียงแหล่งประกอบ ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรยังคงเป็นการส่งออกวัตถุดิบที่ราคาผันผวนขึ้นกับตลาดโลก ในขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าการเพิ่มมูลค่าของบริการและขาดการบริหารจัดการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน
๑.๓ ประเทศไทยยังคงนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศสูง สัดส่วน การนำเข้าพลังงานสุทธิต่อการใช้รวมยังคงสูงถึงร้อยละ ๕๕ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่งและการผลิตสินค้าที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพและต้นทุน การผลิตที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ แม้ว่าในภูมิภาคอาเซียนเองจะมีแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมากมาย แต่การแสวงหาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาความมั่นคงของพลังงานในภูมิภาคยังมีน้อย และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อประเทศไทยในระยะยาว
๑.๔ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีอยู่สูงแสดงถึงฐานเศรษฐกิจ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ประชาชนระดับฐานรากยังมีรายได้น้อยและขาดโอกาสในการเพิ่มรายได้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาเกษตร และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงไม่มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นชนชั้นกลางที่จะเป็นฐานการบริโภค และสร้างสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและเป็นของตนเองได้ และในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ ช่วงภาวะเงินเฟ้อก็จะเป็นกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตมากกว่าคนอื่น
๒. การเปลี่ยนผ่านทางด้านการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง ที่ผ่านมา แม้จะมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาผูกโยงกับภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า สังคมไทยและคนไทยจะสามารถ หาข้อสรุปที่นำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้ในที่สุด
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อการวางพื้นฐานเพื่ออนาคตระยะยาว และทำให้สูญเสียโอกาสในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาประเทศในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงเฉลี่ยร้อยละ ๓.๖ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพ ที่ควรจะเป็น และส่งผลต่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ ในประเทศคือ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้
๓. การเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากรและสังคมไทย โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของคนไทยในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปัญหายาเสพติด และปัญหาวัยรุ่นที่จะบั่นทอนคุณภาพของเยาวชนไทย ซึ่งมี ความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษา การให้บริการสุขภาพและสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลง
ในภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และกฎระเบียบของการแข่งขันในตลาดโลก เป็นต้น
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ หลักการของนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จะยึดหลักการบริหาร ที่มีความยืดหยุ่นที่คำนึงถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบ ต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะรายงานต่อรัฐสภาเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด นโยบายของรัฐบาลมีจุดมุ่งหมาย ๓ ประการ คือ
ประการที่หนึ่ง เพื่อนำประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพคนไทยในทุกช่วงวัย ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดความสามารถในการอยู่รอดและแข่งขันได้ของเศรษฐกิจไทย
ประการที่สอง เพื่อนำประเทศไทยสู่สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์และอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกันและมีหลักปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อประชาชนคนไทยทุกคน
ประการที่สาม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ อย่างสมบูรณ์โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถบรรลุถึงภารกิจและดำเนินไปด้วยแนวทางที่กล่าวมา รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินไว้โดยแบ่ง การดำเนินการเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก และระยะ การบริหารราชการ ๔ ปีของรัฐบาล เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังต่อไปนี้
๑.๑ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
๑.๑.๑ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิด ความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๑.๑.๒ เยียวยาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องแก่บุคคลทุกฝ่าย เช่น ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง และความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
๑.๑.๓ สนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและได้รับ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและค้นหาความจริงจากกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความเสียหายทางทรัพย์สิน
๑. ๒กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็น "วาระแห่งชาติ" โดยยึดหลักนิติธรรมในการปราบปรามลงโทษผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้มีอิทธิพล และ ผู้ประพฤติมิชอบ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม พร้อมทั้งมีกลไกติดตามช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ดำเนินการอย่างจริงจังในการป้องกันปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือเชิงรุกกับต่างประเทศในการควบคุมและสกัดกั้นยาเสพติด สารเคมี และสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศภายใต้การบริหารจัดการอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินการป้องกันกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไปไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับยาเสพติด
๑.๓ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลที่เป็นสากลเพื่อให้ การใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ ต่อประเทศโดยรวมอย่างแท้จริง ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ ขยายการบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องการห้ามการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ครอบคลุมผู้ใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งสำคัญและตำแหน่งระดับสูงอย่างทั่วถึง เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ของบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรม
๑.๔ ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเร่งให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ รวมทั้งสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ฟื้นฟูการขุดลอก คูคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ขยายเขตการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จัดสร้างคลองส่งน้ำขนาดเล็กเข้าสู่ไร่นา และขยายเขตการจัดรูปที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการผลิต ส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับชนิดพืช และจัดหาแหล่งน้ำ ในระดับไร่นาและชุมชนอย่างทั่วถึง
๑.๕ เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการขจัดความยากจน ยาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นหลักปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับประชาชนในพื้นที่ อำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง เพิ่มโอกาส ทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เคารพอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการการบริหารจัดการทุกภาคส่วนให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งปรับปรุง พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทันสมัยกับสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม
๑.๖ เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขปัญหากระทบกระทั่งตามแนวพรมแดน ผ่านกระบวนการทางการทูตบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเร่งดำเนินการตามข้อผูกพันในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในและภายนอกภูมิภาค
๑.๗ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
๑.๗.๑ ชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราวเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที และปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงาน
๑.๗.๒ จัดให้มีบัตรเครดิตพลังงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างขนส่งผู้โดยสารสาธารณะในวงเงินที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้จริงต่อเดือน
๑.๗.๓ ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ผลิต
๑.๗.๔ แก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยการดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อสุทธิของประชาชนโดยป้องกันและแก้ไขการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
๑.๘ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค
๑.๘.๑ พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและ ผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๓ ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับ ผู้ที่มีหนี้เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพและแผนการปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจร เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถใช้หนี้คืน
๑.๘.๒ ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า ๓๐๐ บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร รวมทั้งมีมาตรการเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้แรงงานและบุคลากรสามารถดำรงชีพได้อย่าง มีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดี
๑.๘.๓ จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ ๖๐-๖๙ ปี จะได้รับ ๖๐๐ บาท อายุ ๗๐-๗๙ ปี จะได้รับ ๗๐๐ บาท อายุ ๘๐-๘๙ ปี จะได้รับ ๘๐๐ บาท และอายุ ๙๐ ปีขึ้นไป จะได้รับ ๑,๐๐๐ บาท
๑.๘.๔ ให้มีมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก
๑.๙ ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ ๒๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และลดลงเหลือร้อยละ ๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษี และรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
๑.๑๐ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุน สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพิ่มสวัสดิการของรัฐเพื่อเป็นการดูแลสังคมในชุมชน จัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดย
๑.๑๐.๑ เพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ ๑ ล้านบาท
๑.๑๐.๒ จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ ๑๐๐ ล้านบาท
๑.๑๐.๓ จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในวงเงินประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกู้ยืมเพื่อการสร้างอาชีพ ผนวกกับกลไกของ "หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ" ในสถานศึกษาโดยมุ่งให้เกิดวิสาหกิจนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
๑.๑๐.๔ จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นจำนวนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ ๔๐๐,๐๐๐ และ ๕๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับขนาดของหมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านบริหารจัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง
๑.๑๑ ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดัน ให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจาก การรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ ๑๕ ที่ราคาเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยา ความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร
๑.๑๒ เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ โดยประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๕ เป็นปี "มหัศจรรย์ไทยแลนด์" ("Miracle Thailand" Year) และประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีมหามงคลที่จะมีขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๕
๑.๑๓ สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น
๑.๑๓.๑ สนับสนุนภารกิจของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในการผลิตงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพแก่ราษฎรผู้ยากไร้ ให้สามารถพัฒนาเป็นช่างฝีมือด้านศิลปะที่มีความสามารถสูงและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
๑.๑๓.๒ บริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้มีศักยภาพ ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชน วิสาหกิจชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ การเข้าถึงแหล่งทุนและการตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้มีศูนย์กระจายและแสดงสินค้าถาวรในภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวหลักที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและ การส่งออก
๑.๑๔ พัฒนาระบบประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ บูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและคุ้มค่าต่อการให้บริการมาใช้ให้แพร่หลาย รวมทั้งจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ และมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร
๑.๑๕ จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๕ ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต รวมทั้งจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
๑.๑๖ เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบ ต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ ทั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติท่านประธานรัฐสภาที่เคารพในส่วนของนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ ๔ ปีของรัฐบาลชุดนี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายหลักในการบริหารประเทศซึ่งปรากฏตามนโยบายข้อที่ ๒ ถึง ข้อที่ ๘ ดังต่อไปนี้
๒.๑ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ น้อมนำพระราชดำริทั้งปวง ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พร้อมทั้งอัญเชิญไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชน ในชาติมีความตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งจะส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคม แห่งการรู้รักสามัคคี และดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
๒.๒ พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ ให้มีความพร้อมในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนให้กองทัพมีโครงสร้างที่เหมาะสมและมีความทันสมัย ส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้สามารถบูรณาการขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนให้เป็นเอกภาพ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง สนับสนุนสิทธิและหน้าที่กำลังพลของกองทัพเพื่อให้เป็นทหารอาชีพในระบอบประชาธิปไตย และสามารถผนึกกำลังกับประชาชนให้มีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งกำหนดเป็นบทบาทของทหารในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ขณะเดียวกันจะปรับปรุงสวัสดิการของกำลังพลทุกระดับให้มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
๒.๓ พัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศส่งเสริมให้กองทัพพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับมิตรประเทศ และมีความพร้อม ในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ พัฒนาความสัมพันธ์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน บนพื้นฐานของการสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามหลักฐานพื้นฐานของกฎหมายและสนธิสัญญา ที่มีอยู่เพื่อมิให้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อระงับยับยั้งและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพติดให้หมดไป
๒.๔ พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรับมือภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์ สร้างขึ้นที่มากขึ้น โดยมุ่งระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทา และฟื้นฟูความเสียหายของชาติ ที่เกิดจากภัยต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ในทุกด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของมนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย และอุบัติภัย ทั้งนี้ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับ ความเปลี่ยนแปลงของประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในยุคโลกาภิวัตน์
๒.๕ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด องค์กรอาชญากรรม การค้ามนุษย์ ผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และบุคคลที่ไม่มีสถานะชัดเจน โดยการปรับปรุงระบบป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งกฎหมาย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด ดูแลให้ความเป็นธรรมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบสุขภายในประเทศควบคู่ไปกับ การจัดการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษา ความมั่นคงของชาติกับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน
๓.๑นโยบายเศรษฐกิจมหภาค
๓.๑.๑ ดำเนินการให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้เศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างมีเสถียรภาพ โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และก่อให้เกิด การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีการจ้างงานเต็มที่ ระดับราคามีเสถียรภาพ ระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยการสร้างความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ รวมถึงการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น
๓.๑.๒ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยให้เป็นทั้งแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการและเป็นช่องทางการออมของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรทางการเงินชุมชน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพต่าง ๆ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ทุกระดับ พร้อมกับการพัฒนาความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชน
๓.๑.๓ พัฒนาระบบสถาบันการเงินในประเทศให้รับผิดชอบต่อคนส่วนใหญ่และผู้ด้อยโอกาส สามารถให้บริการที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมการเงินและความต้องการที่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ด้วยค่าบริการที่ต่ำและการบริการที่มีประสิทธิภาพ การสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง โดยการออกมาตรการที่จำเป็น และปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงส่งเสริม หลักธรรมาภิบาลในระบบการเงิน ปรับปรุงระบบกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
๓.๑.๔ ปรับโครงสร้างภาษีอากรทั้งระบบเพื่อสนับสนุน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างฐานรายได้ภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งจากภาษีและที่มิใช่ภาษี
๓.๑.๕ ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง โดยปรับปรุงองค์ประกอบและโครงสร้างงบประมาณให้เหมาะสม มีระบบบริหารความเสี่ยงทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ จัดลำดับความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายให้สอดคล้องกับทิศทาง การพัฒนาและให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาในอนาคต ส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการร่วมลงทุนและดำเนินการในกิจการของรัฐ ตลอดจนส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการรายได้ในท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพาเงินอุดหนุน จากส่วนกลาง
๓.๑.๖ ปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน รวมทั้งปฏิรูประบบการกำกับดูแลการลงทุนและการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกที่สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อความเปลี่ยนแปลง
๓.๑.๗ บริหารสินทรัพย์ของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งสินทรัพย์ของภาครัฐ ตลอดจนทุนในท้องถิ่นที่รวมถึง ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมทั้งพิจารณาการจัดตั้งกองทุนที่สามารถใช้ ในการบริหารสินทรัพย์ของชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองแห่งชาติ และกองทุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
๓.๒ นโยบายสร้างรายได้
๓.๒.๑ ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จัดให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งหลักประกันความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในภาวะปกติและภาวะวิกฤต รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม เชิงสุขภาพและสปา ที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มสูง ให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ๒ เท่าตัวในเวลา ๕ ปี
๓.๒.๒ ขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานในประเทศมาเป็นเวลานานให้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอาหารคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่มีฐานะและรสนิยมเฉพาะตัว การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง และอื่น ๆ จะทำให้เป้าหมายการเป็นครัวที่มีคุณภาพของโลกสัมฤทธิผลรวดเร็วยิ่งขึ้น
๓.๒.๓ ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเลียมและพลังงานทดแทนสามารถสร้างรายได้จากความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการจ้างงานให้แก่ประเทศโดยถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่
๓.๒.๔ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการในประเทศ และธุรกิจวิสาหกิจชุมชน ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและคุณภาพสูง ซึ่งจะต้องสร้างคนที่มีฐานความรู้ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดความรู้ สู่การสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัย พัฒนา สร้างตราสินค้าใหม่จากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะงานศิลปหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน อัญมณี และอื่นๆ
๓.๒.๕ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความพร้อมทางด้านแรงงานและวัตถุดิบเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศและภูมิภาค
๓.๒.๖ ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศในสาขาที่เป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีมูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทย รวมถึงการลงทุนในการสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ โดยปรับปรุงกฎ ระเบียบ และสภาวะแวดล้อมของการลงทุน ให้เอื้ออำนวยและดึงดูดนักลงทุน
๓.๒.๗ เสริมสร้างกระบวนการสร้างอาชีพ สร้างงาน ที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นระบบ ในทุกระดับชั้นความรู้ และส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึง แหล่งเงินกู้และเงินร่วมลงทุนระยะยาว รวมทั้งจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิด การผลิต การแปรรูป และการค้าอย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้สินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพ สามารถขายได้ในราคาที่ดี
๓.๒.๘ ส่งเสริมการขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการเงิน ภายใต้ประโยชน์ร่วมกันของกรอบความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้าหลายฝ่าย โดยจัดมาตรการเตรียมพร้อมและให้ธุรกิจและประชาชนไทยสามารถปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่และมีความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในทุกภาคส่วน
๓.๓ นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ๓.๓.๑ ภาคเกษตร
๑)ส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นกลไกของเกษตรกรในการสื่อสารกับรัฐบาลและร่วมกันพัฒนาเกษตรกรด้วยตนเอง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๒)เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช โดยการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก และถ่ายทอด องค์ความรู้จากการวิจัยไปสู่เกษตรกรเพื่อให้มีการใช้พันธุ์ดี ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยตามคุณสมบัติของดินแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุน การผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต
๓)เพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตด้านปศุสัตว์ ให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศและการส่งออก เพิ่มสมรรถนะการควบคุม ป้องกัน วินิจฉัย และบำบัดโรค การติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน การพัฒนาเทคโนโลยีด้านชีวภัณฑ์สัตว์ และการตรวจสอบคุณภาพ
๔)พัฒนาการประมง ทั้งในการเพาะเลี้ยงและ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการฟื้นฟูทรัพยากรประมงและจัดระเบียบการทำประมงให้สมดุลกับศักยภาพการผลิตตามธรรมชาติ ขยายพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการประมงทะเลพื้นบ้าน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แสวงหาลู่ทางการทำประมง ในน่านน้ำต่างประเทศที่ไม่ขัดต่อระเบียบขององค์การระหว่างประเทศและประเทศที่นำเข้า โดยการพัฒนากองเรือประมงน้ำลึกและความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาสินค้าประมงให้มีคุณภาพและปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนพัฒนากระบวนการตรวจสอบคุณภาพสัตว์น้ำตามมาตรฐานสากล
๕)เสริมสร้างฐานรากของครัวเรือนเกษตรกร ให้เข้มแข็งโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นขั้นตอน โดยมีการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าที่แม่นยำ และประสานโครงสร้างพื้นฐานของทางราชการและเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างกระบวนการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน
๖)จัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรที่มีข้อมูลการเกษตรของครัวเรือนครบถ้วน สามารถเชื่อมโยงกับบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอเพื่อความสะดวกในการสนับสนุนช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกร สร้างหลักประกันความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร จัดให้มีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ตลอดจนจัดให้มีรายการโทรทัศน์เพื่อการเกษตรเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกรทั่วไป
๗)เร่งรัดพัฒนาธุรกิจการเกษตร โดยการพัฒนาสถาบันเกษตรกรในด้านธุรกิจ สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จากโครงการกองทุนตั้งตัวได้ ร่วมมือสนับสนุนสถาบันการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการเกษตรทุกสาขา และดำเนินการ ให้บุคลากรของสถาบันการศึกษาได้ทำหน้าที่สนับสนุนการส่งเสริมการเกษตร พัฒนารูปแบบการจัดการผลิต การบรรจุผลิตภัณฑ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิต เร่งรัดการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ยางพาราและพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อรองรับวิกฤตพลังงานโลก ส่งเสริมการผลิตสินค้าใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรต่อผลผลิตมวลรวมของประเทศอย่างต่อเนื่อง
๘)พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก โดยการส่งเสริมการผลิตสินค้าใหม่ที่มีกำไรสูง มีการแปรรูปอย่างครบวงจรเพื่อแสวงหามูลค่าเพิ่มสูงสุด พัฒนาระบบตลาดทุกขั้นตอน ยกระดับผลผลิต ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ สร้างกลุ่มธุรกิจรายสินค้าระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างโอกาสชี้นำในเรื่องราคาโดยเฉพาะตลาดข้าว เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกทั้งในแง่สินค้าเกษตร อาหารไทย และสนับสนุนการลงทุนภาคเกษตรในต่างประเทศ
๙)ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อเผชิญกับวิกฤตอาหารโลก สร้างความสมดุลระหว่างพืชอาหาร และพืชพลังงาน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก ปรับโครงสร้างและจัดหาที่ทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้และดำเนินการฟื้นฟูคุณภาพดินให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ตลอดจนการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
๓.๓.๒ ภาคอุตสาหกรรม
๑)ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้เป็น ที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมให้เอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ทั้งในกระบวนการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมให้มีการสร้างตราสินค้าไทย
๒)ยกระดับภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ใช้ปัญญา ใช้เทคโนโลยี และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทดแทนอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานเป็นหลัก โดยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมจากวัฒนธรรมของชาติเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ เช่น อุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์ อุตสาหกรรมอาหารไทย อุตสาหกรรมการกีฬา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการออกแบบ เป็นต้น
๓)พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมีโอกาสในการขยายตลาด เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ อาหารฮาลาล เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
๔)สร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสนับสนุนช่องทางการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ส่งเสริมสถาบันเฉพาะทางให้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทดสอบผลิตภัณฑ์ ส่งเสริม การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น
๕)กำหนดมาตรฐานและคุณภาพขั้นพื้นฐาน ของสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการยอมรับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าร่วมกันในกลุ่มอาเซียน
๖)พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในทุกภูมิภาคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ที่ไม่ก่อมลพิษ และพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าว กับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสำหรับรองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
๗)เร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ลดการใช้ทรัพยากรและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยหลักการการลดการใช้ การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบสภาวะแวดล้อม และพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
๘)ส่งเสริมและจัดให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานจากภาคเกษตร อุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงาน อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนและสะอาด ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล และ ก๊าซธรรมชาติ (NGV)
๙)สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทุกสาขาการผลิตเข้าประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีความพร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ความเพียงพอของแหล่งพลังงาน การจัดการของเสีย การจัดการมลพิษเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการจัดและวางระบบการผลิตที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว
๑๐)เร่งรัดสำรวจและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน
๓.๓.๓ ภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการกีฬา
๑) การพัฒนาการท่องเที่ยว
๑.๑) ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวและเร่งรัดการปรับปรุงมาตรฐานในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และสุขอนามัย โดยคำนึงถึงการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวของผู้พิการและผู้สูงอายุ
๑.๒) พัฒนา บูรณะ และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
๑.๓) ยกระดับและรักษามาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้การประกอบการและดำเนินธุรกิจเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนามาตรฐานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตลอดจนปรับปรุงการบริการภาครัฐเพื่อให้สามารถดึงดูดและรองรับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๔) ส่งเสริม สนับสนุนตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกในกลุ่มต่าง ๆ ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจลงตรา การยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวที่อยู่ในกรอบการค้าเสรี หรือมีความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนร่วมกับประเทศไทย และการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเป้าหมาย
๑.๕) ส่งเสริมกิจกรรมและรูปแบบ การท่องเที่ยวเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว พัฒนาคุณภาพการบริการท่องเที่ยว สนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติในประเทศไทย และส่งเสริมการเสนอตัวให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดกิจกรรมนานาชาติขนาดใหญ่
๑.๖) ผลักดันความร่วมมือของหน่วยงาน ต่าง ๆ เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้เพียงพอกับความต้องการ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กับการท่องเที่ยว และเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัย และป้องกันการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน
๑.๗) พัฒนาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
๒) การพัฒนาภาคบริการ
๒.๑) เร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการด้านบริการให้มีองค์ความรู้ เสริมสร้างนวัตกรรมและทักษะทั้งด้านภาษา มาตรฐานการบริการ และ การจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าบริการ การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน มาตรฐานธุรกิจและการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับการขยายตัวของธุรกิจ และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคบริการไทย
๒.๒) พัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพเพื่อขยายฐานการผลิตและการตลาดสู่ระดับภูมิภาค โดยเพิ่มความหลากหลาย มูลค่า ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศและรายได้ท้องถิ่น เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจการประชุมและแสดงสินค้า การศึกษานานาชาติ การก่อสร้าง ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจออกแบบแฟชั่น ธุรกิจอัญมณี การบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและนันทนาการ รวมทั้งสินค้าบริการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
๓) การพัฒนากีฬา
๓.๑) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกีฬาของภูมิภาคและของโลก จัดให้มีการแข่งขันกีฬาและกีฬาคนพิการระดับโลกที่สำคัญ ๆ ตลอดจนการประชุมเกี่ยวกับกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเป็น "ทีมไทยแลนด์"
๓.๒) จัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาให้เพียงพอ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามกีฬา วัสดุ อุปกรณ์ ที่ทันสมัย และจัดให้มีผู้ฝึกสอนและอาสาสมัครการกีฬาประจำศูนย์และสนามกีฬา รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริจาคเพื่อพัฒนาการกีฬา ด้วยมาตรการจูงใจที่เหมาะสม เช่น มาตรการภาษี มาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการการเงิน ภายใต้ความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล
๓.๓) จัดให้มีทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถและมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้มีความสามารถสูงด้านกีฬา ในระดับนานาชาติ ให้สามารถพัฒนาเป็นนักกีฬาทีมชาติที่สร้างชื่อเสียงและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนของประเทศ รวมทั้งปรับบทบาทของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติให้สนับสนุนภารกิจในการพัฒนานักกีฬาตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน
๓.๔) พัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนากีฬาที่มีศักยภาพไปสู่กีฬาอาชีพ พร้อมไปกับการพัฒนาผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินให้ได้มาตรฐานสากล ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงการกีฬาและการแข่งขันกีฬาในทุกระดับ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถในนามทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาและมหกรรมกีฬาต่าง ๆ
๓.๓.๔ การตลาด การค้า และการลงทุน
๑) ส่งเสริมนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและ เป็นธรรมเพื่อป้องกันการผูกขาดตัดตอน ส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการในด้านการคุ้มครองและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทย ในต่างประเทศ
๒) สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปรับปรุงพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมการค้าการลงทุน ที่ครอบคลุมการลงทุนด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และปรับปรุงมาตรการบริหาร การนำเข้าเพื่อป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม การทุ่มตลาด และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานทางด้านคุณภาพและความปลอดภัย การปรับเปลี่ยนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีคุณภาพที่สามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน กระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต
๓) สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขา ที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพทั้งในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้า การทำสัญญาสินค้าเกษตรตามข้อตกลง การเปิดสาขา การหาตัวแทนและหุ้นส่วนในต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยของคนไทย ตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และนโยบายไทยเป็นครัวอาหารโลก
๔) ปรับปรุงมาตรการการส่งเสริมการลงทุน ให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การกีฬา และบริการ โดยเน้นกิจการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม
๕) ส่งเสริมการขยายตลาดเชิงรุกเพื่อรักษา ตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดหลัก โดยส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก พร้อมทั้งรักษาส่วนแบ่งในตลาดหลักไม่ให้ลดลง ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในเชิงของทักษะ เทคโนโลยี และวิทยาการที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลกเพื่อการขยายตัวอย่างยั่งยืน ของประเทศในอนาคต และเป็นการส่งเสริมให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลายจากผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ
๖) พัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างโอกาสใหม่ ในการหารายได้ การผลิตสินค้าและบริการอันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก ซึ่งพัฒนาจากแนวคิดระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ใช้นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะขยายโอกาสในการส่งออก ลดต้นทุนจากการพัฒนาระบบการกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตท้องถิ่นไปสู่ตลาดในทุกระดับ โดยให้ความสำคัญ ในการเชื่อมโยงให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่ตลาดโลกของภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศและศูนย์กลาง การผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลในโลก
๗) ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการตลาดภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมทั้ง วางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ
๘) เร่งรัดจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยให้ความสำคัญต่อจังหวัดชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้า การตลาด การลงทุน การจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน
๓.๔ นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการ
๓.๔.๑ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ระบบประปา และระบบไฟฟ้าให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงเพียงพอ รวมทั้งส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการขนส่งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน พร้อมทั้งสร้างโอกาสการกระจายรายได้ กระจายเศรษฐกิจ และกระจาย การลงทุนสู่ชนบท รวมทั้งกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และ กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์และการคุ้มครองผู้บริโภค
๓.๔.๒ ขยายการให้บริการน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ครอบคลุมประชาชนในทุกพื้นที่ และสร้างการเข้าถึงบริการน้ำสะอาดอย่างเท่าเทียมกัน ทั่วประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
๓.๔.๓ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและฐานการส่งออกของประเทศ รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบรางของประเทศให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว
๓.๔.๔ พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าและบริการที่สะดวกและปลอดภัย ทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟ
๑) พัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและ หัวเมืองหลักในเส้นทางที่มีความสำคัญ
๒) ศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางอื่นเพื่อเตรียมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
๓) ศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟสาย แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังชลบุรีและพัทยา
๓.๔.๕ เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า ๑๐ สายทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ครบใน ๔ ปี โดยเก็บค่าบริการ ๒๐ บาทตลอดสายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมบัตรเดียว และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสได้ที่อยู่อาศัยในราคาและค่าเช่าถูกตามบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้า
๓.๔.๖ พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ขนส่งเดินเรือชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งด้านทะเลอันดามันและฝั่งด้านทะเลอ่าวไทย โดยพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมสองฝั่งทะเลภาคใต้
๓.๔.๗ พัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาค และอุตสาหกรรมการบินของไทย รวมทั้งเพิ่มความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้รองรับผู้โดยสารจากปีละ ๔๕ ล้านคน เป็นปีละ ๖๕ ล้านคนขึ้นไป เพื่อให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชียและโลก
๓.๕ นโยบายพลังงาน ๓.๕.๑ ส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค โดยใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิยุทธศาสตร์
๓.๕.๒ สร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานและระบบไฟฟ้าจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งให้มีการกระจายแหล่งและประเภทพลังงานให้มีความหลากหลาย เหมาะสม และยั่งยืน
๓.๕.๓ กำกับราคาพลังงานให้มีราคาเหมาะสม เป็นธรรม และมุ่งสู่การสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยปรับบทบาทกองทุนน้ำมันให้เป็นกองทุนสำหรับรักษาเสถียรภาพราคา ส่วนการชดเชยราคานั้นจะดำเนินการอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม ส่งเสริม ให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในภาคขนส่ง และส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลในภาคครัวเรือน
๓.๕.๔ ส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ ๒๕ ภายใน ๑๐ ปี ทั้งนี้ ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร
๓.๕.๕ ส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่าง เต็มรูปแบบ โดยลดระดับการใช้พลังงานต่อผลผลิตลงร้อยละ ๒๕ ภายใน ๒๐ ปี และมีการพัฒนาอย่างครบวงจร ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์และอาคารสถานที่ที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งเสริมกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน สร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพให้เป็นระบบ จริงจังและต่อเนื่องทั้งภาคการผลิต ภาคการขนส่ง และภาคครัวเรือน
๓.๖นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ
๓.๖.๑ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพ ด้วยราคาที่เหมาะสม และการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร ยกระดับคุณภาพการศึกษา เสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
๓.๖.๒ ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผลักดันให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ใช้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัดให้มีบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามมาตรฐานการให้บริการในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ และสถานศึกษาที่กำหนดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการจัดให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง
๓.๖.๓ ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ อีกทั้งดำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิอันพึงได้ของประเทศในการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเหนือพื้นผิวโลก
๓.๖.๔ ส่งเสริมการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน รวมทั้งการพัฒนาการปรับเปลี่ยนระบบการใช้เทคโนโลยีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยผลักดันให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
๓.๖.๕ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีกลไกสนับสนุนแหล่งทุน สำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพได้มาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาค
๔.๑นโยบายการศึกษา
๔.๑.๑ เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการปฏิรูประบบความรู้ของสังคมไทย อันประกอบด้วยการยกระดับองค์ความรู้ให้ได้มาตรฐานสากล จัดให้มีโครงการตำราแห่งชาติที่บรรจุความรู้ที่ก้าวหน้าและได้มาตรฐานทั้งความรู้ที่เป็นสากลและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการอ่าน พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและภาษาถิ่น จัดให้มีระบบการจัดการความรู้ ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับให้รองรับ การเปลี่ยนแปลงของโลกและทัดเทียมกับมาตรฐานสากลบนความเป็นท้องถิ่นและความเป็นไทย เพิ่มผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาทุกระดับชั้นโดยวัดผลจากการผ่านการทดสอบมาตรฐาน ในระดับชาติและนานาชาติ ขจัดความไม่รู้หนังสือให้สิ้นไปจากสังคมไทย จัดให้มีครูดีเพียงพอในทุกห้องเรียน ให้มีโรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษาคุณภาพสูงในทุกพื้นที่ พัฒนามหาวิทยาลัยเข้าสู่ระดับโลก พัฒนาระบบการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม มุ่งการสร้างจริยธรรมในระดับปัจเจก รวมทั้งสร้างความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ความเสมอภาค และดำเนินการให้การศึกษาเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง ปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหารการศึกษาโดยการกระจายอำนาจสู่พื้นที่ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความพร้อม
๔.๑.๒ สร้างโอกาสทางการศึกษา กระจายโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย โดยคำนึงถึงการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชากรทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้บกพร่องทางกายและการเรียนรู้ รวมทั้ง ชนกลุ่มน้อย โดยส่งเสริมการให้ความรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงแรกเกิดให้ได้รับการดูแล อย่างมีประสิทธิภาพทั้งแม่และเด็ก สนับสนุนการจัดการศึกษาตามวัยและพัฒนาการอย่างมีคุณภาพตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดให้มีการเทียบโอน วุฒิการศึกษาสำหรับกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น กลุ่มแม่บ้าน จัดให้มีระบบสะสมผลการศึกษาและการเทียบโอนเพื่อขยายโอกาสให้กว้างขวางและลดปัญหาคนออกจากระบบการศึกษา
นอกจากนี้ จะดำเนินการลดข้อจำกัดของการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูง โดยจัดให้มี "โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต" โดยให้ผู้กู้เริ่มใช้คืนต่อเมื่อมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวได้ พักชำระหนี้แก่ผู้เป็นหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยปรับเปลี่ยนการชำระหนี้เป็นระบบ ที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต ปรับปรุงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อทุกระดับให้เอื้อต่อ
การกระจายโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะจัดให้มีระบบคัดเลือกกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ดำเนิน "โครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน" เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ จัดการศึกษาชุมชนเพื่อมุ่งให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้และการศึกษาตลอดชีวิต
๔.๑.๓ ปฏิรูปครู ยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง โดยปฏิรูประบบการผลิตครูให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติ สร้างแรงจูงใจให้คนเรียนดีและมีคุณธรรมเข้าสู่วิชาชีพครู ปรับปรุงระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนครู พัฒนาระบบความก้าวหน้าของครูโดยใช้การประเมินเชิงประจักษ์ที่อิงขีดความสามารถและวัดสัมฤทธิผลของการจัดการศึกษาเป็นหลัก จัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพครู อย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาหนี้สินครูโดยการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล พัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อใช้ในการกระจายครู ขจัดปัญหาการขาดแคลนครูในสาระวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา
๔.๑.๔ จัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยกระบวนการสร้างประสบการณ์ระหว่างเรียนอย่างเหมาะสม และสนับสนุนการสร้างรายได้ระหว่างเรียน และสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำได้ทันทีโดยความร่วมมือระหว่างแหล่งงานกับสถานศึกษา ส่งเสริมให้มีศูนย์อบรมอาชีวศึกษาเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนสามารถเรียนรู้หาประสบการณ์ก่อนไปประกอบอาชีพโดยให้สถาบันอาชีวศึกษาดำเนินการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์ซ่อมสร้างประจำชุมชนเพื่อฝึกฝนช่างฝีมือและการสร้างทักษะในการให้บริการแก่ประชาชน
ทั้งนี้ จะดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมการศึกษาในสายอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับและสามารถมีรายได้สูงตามความสามารถ
๔.๑.๕ เร่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการเร่งยกระดับคุณภาพและการกระจายโอกาสทางการศึกษา จัดให้มีระบบการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติเพื่อเป็นกลไก ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียนรู้ให้เป็นแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษา พัฒนาระบบ "ไซเบอร์โฮม" ที่สามารถส่งความรู้มายังผู้เรียนโดยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ส่งเสริมให้นักเรียน ทุกระดับชั้นได้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ขยายระบบโทรทัศน์ เพื่อการศึกษาให้กว้างขวาง ปรับปรุงห้องเรียนนำร่องให้ได้มาตรฐานห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเร่งดำเนินการให้ "กองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" สามารถดำเนินการตามภารกิจได้
๔.๑.๖ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ พัฒนามหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ระดมสรรพกำลังเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายการวิจัยแห่งชาติเพื่อสร้างทุนทางปัญญาและนวัตกรรม ผลักดัน ให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การสร้างรากฐานใหม่ของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการวิจัยสำหรับสาขาวิชาที่จำเป็น พัฒนาโครงสร้างการบริหารงานวิจัยของชาติโดยเน้นความสัมพันธ์อย่างเหมาะสมและ มีประสิทธิภาพระหว่างองค์กรบริหารงานวิจัยกับสถาบันอุดมศึกษา
๔.๑.๗ เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ สอดคล้อง ตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ รับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ และการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้ครบทุกอุตสาหกรรม
๔.๒ นโยบายแรงงาน
๔.๒.๑ ส่งเสริมให้ผู้ต้องการมีงานทำในระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตำแหน่งงานว่างของสถานประกอบการได้โดยสะดวก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สถานประกอบการสามารถรับทราบข้อมูลของผู้ต้องการมีงานทำได้ทุกระดับความต้องการ และส่งเสริมให้แรงงานที่อยู่นอกระบบสามารถเลือกและมีงานทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมกับสถานะ
๔.๒.๒ ให้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน และดูแลหลักประกันความมั่นคง ในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน
๔.๒.๓ ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
๔.๒.๔ เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้มากขึ้น เพื่อผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง และปรับปรุงแนวทาง การขยายความคุ้มครองและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการประกันตนของแรงงานนอกระบบ
๔.๒.๕ เร่งยกระดับแรงงานไร้ฝีมือให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือให้เป็นแรงงานมีฝีมือ โดยภาครัฐจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้แรงงานมีฝีมือทั้งระบบ
๔.๒.๖ เตรียมการรองรับการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเน้นระบบบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ จัดระบบอำนวยความสะดวก และมาตรการการกำกับดูแล ติดตาม การเข้าออกของแรงงานทุกประเภทเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีฝีมือเข้าประเทศควบคู่กับ การป้องกันผลกระทบจากการเข้าประเทศของแรงงานไร้ฝีมือ
๔.๒.๗ กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุม การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนและการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ
๔.๓.๑ ลงทุนด้านบริการสุขภาพ โดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพทั้งระบบอย่างมีบูรณาการเชื่อมโยงในทุกระดับ จัดให้มีระบบสารสนเทศทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้เพียงพอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถ ของโรงพยาบาลระดับต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ความเป็นเลิศที่กระจายอยู่ ในส่วนภูมิภาค และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งสนับสนุนให้โรงพยาบาลในระดับต่าง ๆ มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาสถานบริการปฐมภูมิ ในเขตเมืองและชนบทที่สมบูรณ์แบบทั่วประเทศ
๔.๓.๒ ผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ โดยกำหนดแผนงานแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการเร่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาเดิมในชนบท พร้อมกับการสร้างขวัญกำลังใจในเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพ และการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม
๔.๓.๓ จัดให้มีมาตรการสร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมาย เพื่อลดอัตราป่วย ตาย และผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง อย่างมีบูรณาการและครบวงจร ตั้งแต่ การมีนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ จัดให้มีการสื่อสารสาธารณะของรัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้ความรู้ป้องกันโรคเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพตนเองของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การให้บริการเชิงรุก ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
๔.๓.๔ พัฒนาขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขทุกคนให้เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ขยายความครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของคน ในชุมชน พัฒนาแกนนำสุขภาพครอบครัวและการสาธารณสุขมูลฐาน ที่ชุมชน ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพและจัดการปัญหาสุขภาพของตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
๔.๓.๕ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยบรรลุนิติภาวะ วัยชรา และผู้พิการ สนับสนุนโครงการส่งเสริมเชาว์ปัญญาของเด็ก และให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ฝึกอบรม ผู้ปฏิบัติงานศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรีเพื่อดูแลสุขภาพของสตรีและเด็กอย่างบูรณาการทั่วประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ให้ความรู้และดูแลป้องกันการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้ได้เข้าถึงการบริการอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพ และเป็นธรรม รวมทั้งให้มีระบบการฟื้นฟูสุขภาพในชุมชน จัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อเผยแพร่ความรู้ ด้านสุขภาพผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างเป็นระบบ
๔.๓.๖ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี สร้างนิสัยความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่นมั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด
๔.๓.๗ ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย โดยประสานความร่วมมือ กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างความก้าวหน้าในทางวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย สนับสนุนเอกชนให้จัดบริการศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการใช้บุคลากร ทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน
๔.๔ นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ๔.๔.๑ เร่งดำเนินการให้ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม มีบทบาทนำในการร่วมเทิดทูนสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่อยู่สบาย โดยน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้แก่รัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการทำงานตั้งใจให้ประเทศเป็นที่อยู่ที่สบายในโลกที่มีความวุ่นวาย และน้อมนำพระราชดำรัสในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครศรีอยุธยา "การรักษาวัฒนธรรม คือ การรักษาชาติ" มาหล่อหลอมและยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับคนในชาติ
๔.๔.๒ อุปถัมภ์ คุ้มครอง และทำนุบำรุงศาสนา ส่งเสริม การปรับปรุงองค์กรและกลไกที่รับผิดชอบด้านศาสนาเพื่อให้การบริหารจัดการ ส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนา มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนาเพื่อนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตมากขึ้น
๔.๔.๓ อนุรักษ์ ทำนุบำรุง และบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการแสดง ทั้งที่เป็นมรดกของชาติและการแสดงพื้นบ้าน ให้เป็นมรดกไทยมรดกโลกของคนรุ่นต่อไป โดยจัดหาสถานที่จัดการแสดงทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค และเพิ่มพื้นที่เวทีทางด้านวัฒนธรรมให้สามารถจัดการแสดงได้อย่างต่อเนื่องในราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าชมได้เพื่อสืบสานและสืบทอดการแสดง ที่ทรงคุณค่าและสมควรภาคภูมิใจสู่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และถ่ายทอดสู่ชาวต่างชาติให้ร่วมชื่นชมคุณค่าของวัฒนธรรมไทย
๔.๔.๔ สร้างสรรค์อารยธรรมที่ดีงามสู่วิถีชีวิตและสังคมคุณภาพ ดังนี้
๑) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญต่อบุคลากรทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ทุกแขนง ทุกสาขาอาชีพ ให้ได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อเป็นแม่พิมพ์ในการถ่ายทอดภูมิปัญญา องค์ความรู้ รวมถึงเป็นทูตวัฒนธรรม และเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่อนุชน รุ่นต่อไป
๒) ส่งเสริมความร่วมมือและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอารยประเทศและประชาคมอาเซียน ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านการสื่อสารรูปแบบใหม่และเทคโนโลยีทันสมัย ผลิตสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สื่อเคลื่อนไหว สารคดีและภาพยนตร์ รวมทั้งเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางการสื่อสารอันทันสมัย
๔.๔.๕ นำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่า ทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม และนำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนให้สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างครบวงจรที่สร้างรายได้เข้าประเทศ
๔.๔.๖ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการนันทนาการ เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นไทยเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีคุณธรรม เอื้ออาทรต่อผู้อื่น และเกิดการเรียนรู้ศิลปะอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจถึงคุณค่า ซาบซึ้งในความสุนทรีย์ของศิลปะ
๔.๔.๗ ขยายบทบาทและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ของสภาวัฒนธรรมทุกจังหวัดกับภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนเพื่อขยายบทบาท สภาวัฒนธรรมทุกจังหวัดให้เป็นกลไกเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมทั้งวิถีชีวิตและสื่อทุกประเภทที่มีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งขจัดสื่อที่เป็นภัยต่อสังคม ขยายสื่อดีเพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม อย่างเท่าทันสถานการณ์
๔.๕ นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม
๔.๕.๑ ส่งเสริมการพัฒนาให้ครอบครัวและสังคมไทย มีความมั่นคงอบอุ่น โดยเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายครอบครัว รวมทั้งพัฒนาความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่พ่อแม่และผู้ปกครองรู้จักใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทันเพื่อลดช่องว่างระหว่างสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของคณะสงฆ์และผู้นำทางศาสนาให้สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ของประชาชนในแต่ละชุมชนเพื่อเชื่อมประสานระหว่างบ้าน ศาสนา โรงเรียน เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่นมั่นคง
นอกจากนี้ จะส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น โดยประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว และส่งเสริมให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการของส่วนราชการและกองทุนต่าง ๆ ร่วมกับอาสาสมัครภาคประชาชน รวมถึงชักจูงให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมกับภาครัฐเพื่อรวมพลังทุกภาคส่วนในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของชีวิต คนไทยโดยการใช้พื้นที่เป็นฐาน
๔.๕.๒ สร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีแห่ง ความเป็นมนุษย์ ด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมแหล่งอบายมุขสิ่งเสพติด ตลอดจนป้องกัน ปราบปราม และลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ รวมถึงให้โอกาสประชาชนที่มีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือ มีที่อยู่อาศัยพร้อมกับการสร้างอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
๔.๕.๓ ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโต เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กแรกเกิดเด็กก่อนวัยเรียน และเยาวชนทุกช่วงวัยให้มีความรู้คู่จริยธรรม ให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง ๖ เดือนแรก สนับสนุนให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพ ขจัดการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในทุกรูปแบบ ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมควบคู่กับการเรียนรู้จากกิจกรรม รวมถึงส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ เพื่อสร้างความฉลาดทางปัญญาและความฉลาด ทางอารมณ์ให้กับเด็กและเยาวชนของชาติ
๔.๕.๔ สนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาค ด้วยการปกป้องสิทธิของสตรี ปรับปรุงกฎหมายที่คุ้มครองสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว และดึงศักยภาพของสตรีให้มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข แก่สตรีทั้งในเมืองและชนบทเพื่อให้มีความรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ มีหลักประกันในการดำรงชีวิต จัดตั้งสถานดูแลเด็กในที่ทำงานภาครัฐและเอกชนจนถึงระดับชุมชน การเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของศูนย์พึ่งได้เพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของสตรีให้เป็นหลัก ในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง รวมถึงจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาบทบาทสตรีไทย ให้เท่าทันโลกยุคใหม่
๔.๕.๕ เสริมสร้างให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่าง ๆ สำหรับรองรับผู้สูงอายุและคนพิการ สร้างความพร้อมในการเป็นสังคมผู้สูงอายุ พัฒนาบริการสุขภาพอนามัย ให้การสงเคราะห์ จัดการศึกษา จัดสวัสดิการ รวมถึงหาอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมภายใต้ หลักคิดที่ว่า ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์สูง สมควรให้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมือง
๔.๕.๖ ลดอุบัติภัยและความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร ให้เหลือน้อยที่สุด ส่งเสริมการเรียนรู้การเดินทางและการใช้การขนส่งอย่างปลอดภัย โดยน้อมนำหลักการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และถือเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ของประเทศ
๕.๑ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเร่งให้มีการปลูกป่าเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการป้องกันการลักลอบบุกรุกทำลายป่าไม้และสัตว์ป่า เร่งสำรวจและจัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าแบบกลุ่มป่า ป่าชุมชน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วม และให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ทั้ง ๕ ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สร้างแรงจูงใจและส่งเสริมรายได้ จากการอนุรักษ์ป่าไม้ ฟื้นฟูป่าไม้ตามแนวทางพระราชดำริ เพิ่มความชุ่มชื้นของป่าโดยฝาย ต้นน้ำลำธาร ป้องกันไฟป่า ส่งเสริมการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพจากป่าและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
๕.๒ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการฟื้นฟูทะเลไทย จัดสร้างและขยายปะการังเทียมและหญ้าทะเลโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและแก้ไขกฎระเบียบให้สามารถใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนได้ ปรับปรุง การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล อุทยานแห่งชาติทางทะเลบนฐานนิเวศอย่างมีส่วนร่วม เร่งประกาศเขตคุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ระบบนิเวศสำคัญ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ปรับปรุงและขยายเขตการทำประมงชายฝั่ง จำกัดและยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการดูแลเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามหลักวิชาการ
๕.๓ ดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเร่งรัดการควบคุมมลพิษ โดยการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงขององค์กร ภาคประชาชน ผลักดันกฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ ขยะ น้ำเสีย กลิ่น และเสียง ที่เกิดจากการผลิตและบริโภค โดยเฉพาะเร่งรัดการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากสังคมเมืองและการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การจัดการระบบกำจัดขยะ ของเสียอันตราย มลพิษทางอากาศ หมอกควันโดยวิธีที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการ ขยะมูลฝอยและการจัดการน้ำเสียชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาเมืองและกิจกรรมที่ลดการผลิต ก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างกฎเกณฑ์ ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้หลักการบุคคลที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และหลักการการตอบแทนคุณค่าระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม
๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มี การกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนโดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย พิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินทิ้งร้าง ทางราชการ ปกป้องที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ห้ามการปิดกั้นชายหาดสาธารณะ ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
๕.๕ ส่งเสริมและสร้างความตระหนักและจิตสำนึกทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การดำเนินกิจกรรม และการปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสินค้า และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๕.๖ ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ โดยการจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงศักยภาพของลุ่มน้ำ จัดหาและจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ ด้วยการบูรณาการระบบน้ำในประเทศทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำ สนับสนุนเกษตรกรทำแหล่งน้ำในไร่นา พร้อมการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่น ๆ และการจัดสร้างระบบโครงข่ายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภค
๕.๗ สร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมในการรองรับ และปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและพิบัติภัยธรรมชาติ โดยการพัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์และคาดการณ์ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติในระดับประเทศและระดับพื้นที่ จัดทำยุทธศาสตร์รองรับพิบัติภัยระยะยาว ส่งเสริมและเร่งรัดการเตือนภัย และการเตรียมความพร้อมในการรับมือความแปรปรวนในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นฐานกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ป้องกันภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วม สึนามิ แผ่นดินไหว และดินถล่ม สร้างกลไกส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลระดับชุมชน ท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถ ในระดับชุมชนให้เข้มแข็งพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติต่างๆ ดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบในเรื่องของความจำเป็นของโครงการพัฒนาเขื่อนและเกาะ เพื่อป้องกันกรุงเทพฯ และภาคกลางให้ปลอดภัยจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกตามสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น
๕.๘ พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่ชุมชน ท้องถิ่น ส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกับต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัดและช่วยลดมลพิษ จัดหาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาเครือข่ายนักวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยและภาคีอื่น ๆ สนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการฟื้นฟูดินและการป้องกันการชะล้างทำลายดิน ดำเนินการศึกษา สำรวจและกำหนดยุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากรธรณีอย่างยั่งยืน รวมถึงการศึกษาและอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์
๖.๑เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐาน ขององค์ความรู้ โดยพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ทัดเทียมกับพัฒนาการในระดับนานาชาติ จัดให้มีแหล่งความรู้สาธารณะเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปองค์กร เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สิ่งพิมพ์ และผ่านทางเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนยกมาตรฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับ
๖.๒ เร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และครูวิทยาศาสตร์ ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง และนำพาประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้แบบสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ พัฒนาสายงานการวิจัยเพื่อให้นักวิจัยมีระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาแหล่งงานด้านการวิจัยเพื่อรองรับบุคลากรการวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชน
๖.๓ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาขั้นสูงให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ โดยเฉพาะในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น สาขา ความหลากหลายทางชีวภาพ
๖.๔ จัดระบบบริหารงานวิจัยให้เกิดประสิทธิภาพสูง โดยการจัดเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการวิจัยระหว่างหน่วยงานและสถาบันวิจัยที่สังกัดภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาเพื่อลดความซ้ำซ้อนและทวีศักยภาพ จัดทำแผนวิจัยแม่บทเพื่อมุ่งเป้าหมายของการวิจัยให้ชัดเจน เน้นให้เกิดการวิจัยที่ครบวงจรตั้งแต่การวิจัยพื้นฐานไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์โดยมุ่งให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าในระดับสูงสุด ส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยโดยมุ่งเข้าสู่ระดับร้อยละ ๒ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
๖.๕ ส่งเสริมการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การวางแผนการผลิตด้านการเกษตร การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
๗.๑ เร่งส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยส่งเสริมความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อเสริมสร้าง ความเข้าใจอันดีและความใกล้ชิดระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การขยายการคมนาคมขนส่ง และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน
๗.๒ สร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและส่งเสริม ความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง
๗.๓ เสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเวทีสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาคต่างๆ เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์
๗.๔ กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย
๗.๕ สนับสนุนการเข้าถึงในระดับประชาชนของนานาประเทศพร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้ประชาชน รัฐบาล และประชาคมระหว่างประเทศ มีทัศนคติในทางบวกต่อประชาชนและประเทศไทย
๗.๖ ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงในโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเพื่อก่อให้เกิดฉันทามติในการกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายต่างประเทศ
๗.๗ สนับสนุนการทูตเพื่อประชาชน คุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย ดูแลคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่ประกอบอาชีพและมีถิ่นฐานในต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาทและความแข็งแกร่งของชุมชนชาวไทยในการรักษาเอกลักษณ์และความเป็นไทย
๗.๘ ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาคให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายฐานเศรษฐกิจทั้งการผลิตและ การลงทุน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่อยู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและเมืองชายแดน
๗.๙ ประสานการดำเนินงานของส่วนราชการในต่างประเทศตามแนวทางนโยบายทีมประเทศไทยเพื่อให้การดำเนินงานด้านการต่างประเทศมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีคุณภาพ
๗.๑๐ ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิม และองค์กรอิสลามระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในฐานะปัญหาภายในประเทศที่มีความสำคัญด้วยหลักการตามแนวพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"
๘.๑ ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
๘.๑.๑ พัฒนาระบบราชการอย่างต่อเนื่อง เน้นการบริหารเชิงกลยุทธ์ในระดับชาติอย่างมีวิสัยทัศน์และมุ่งผลสัมฤทธิ์ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ ในการวางแผนและตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้บทบาทและภารกิจของหน่วยงานภาครัฐมีความกระชับ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งการดูแลพื้นที่ การปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ปกติ และการปฏิบัติราชการตามระเบียบวาระงานพิเศษ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเกิดประโยชน์สูงสุดกับการบริการประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
๘.๑.๒ เสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบการบริหารงานแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ยกระดับสมรรถนะของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ พัฒนาและส่งเสริมรูปแบบโครงสร้าง และระบบการบริหารงานใหม่ที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัวสูง และปรับปรุงระบบบริการประชาชนให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการเพิ่มศูนย์บริการครบวงจรที่ครอบคลุมการให้บริการที่หลากหลายขึ้น และการให้บริการถึงตัวบุคคลผ่านระบบศูนย์บริการร่วมและระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์แบบ มุ่งเน้น การจัดการความรู้และพัฒนาส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการสร้างนวัตกรรมในการทำงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
๘.๑.๓ พัฒนาและส่งเสริมระบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐโดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีที่สามารถประเมินผลงานได้ด้วยระบบคุณธรรม และให้หลักประกันความมั่นคงบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและผลงานสาธารณะ ตลอดจนปรับปรุงพัฒนาทัศนคติ วิธีคิด และวิธีปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน
๘.๑.๔ พัฒนาสมรรถนะของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติราชการและการส่งมอบบริการสาธารณะ โดยจะเน้นการพัฒนาข้าราชการในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับต้นซึ่งจะปรับค่าตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต ดูแลครอบครัว และสามารถรักษาเกียรติศักดิ์ของการเป็นบุคลากรภาครัฐ
๘.๑.๕ เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจังเพื่อให้ข้าราชการเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ ของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน โดยปรับปรุงกฎหมายให้มีการเปิดเผยบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ของรัฐตำแหน่งระดับสูงและตำแหน่งที่มีอำนาจมาก รวมทั้งบุคลากรขององค์กรอิสระต่อสาธารณชน เพื่อความโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ และเปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบบุคลากรของภาครัฐเพิ่มขึ้น พัฒนาและนำมาตรการทางสังคมมาใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และความถูกต้องชอบธรรม
๘.๑.๖ สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถให้บริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตามความคาดหวัง รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งร่วมกันจัดบริการสาธารณะบางอย่าง ซึ่งโดยสภาพหรือเพื่อประสิทธิภาพ ควรที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมกันทำ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น ให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจกับ แผนชุมชนและแผนระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ปรับปรุงการจัดระบบความสัมพันธ์ของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรของท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายได้ที่เหมาะสม และมีระบบบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพพร้อมรองรับภารกิจ และให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ตลอดจนเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติเป็นหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น
๘.๑.๗ พัฒนาระบบราชการให้เป็นระบบที่โปร่งใสขึ้น โดยการวางระบบการตรวจสอบและประเมินผลสัมฤทธิ์ตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ความคุ้มค่า พัฒนากระบวนการติดตาม เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดความสุจริตและมีประสิทธิภาพ
๘.๑.๘ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น รวมทั้งให้ประชาชนมีโอกาสแสดงประชาทัศน์ ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่บรรลุตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมเสนอความเห็น ปัญหา และแนวทางแก้ไข และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
๘.๑.๙ ส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการที่ดีในภาคเอกชน โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบกิจการที่โปร่งใส และสนับสนุนให้ภาคเอกชนยึดมั่น ในความรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม โดยการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความเป็นธรรม ตลอดจนป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม
๘.๒ กฎหมายและการยุติธรรม
๘.๒.๑ปฏิรูประบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับหลักนิติธรรม เร่งรัดจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ดำเนินการโดยอิสระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงสนับสนุนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นรูปธรรมปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหลายบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักนิติธรรมและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และให้ประเทศไทย มีระบบและกระบวนการอำนวยความยุติธรรมเป็นมาตรฐานเดียว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนอันเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่
๘.๒.๒ ปรับปรุงระบบการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยมาตรการเชิงรุก ให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่าย รวดเร็ว ทั้งการช่วยเหลือด้านกฎหมาย ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส การคุ้มครองดูแลรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเยียวยาผู้บริสุทธิ์และผู้ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้อง การกระจายโอกาสการเข้าถึงความยุติธรรมไปสู่ระดับจังหวัด การเสริมสร้างความเข้มแข็งและยุติธรรมระดับชุมชนและหมู่บ้าน การพัฒนาทางเลือกของกระบวนการยุติธรรม
๘.๒.๓ เพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การนำมาตรการทางภาษีและการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินมาใช้ในการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด ดูแลแก้ไขและฟื้นฟูพัฒนาผู้กระทำความผิดให้เป็นคนดีสามารถกลับสู่สังคมได้ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน การคุมประพฤติ การบังคับคดีและส่งเสริมความยุติธรรมและความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
๘.๒.๔ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเชิงรุก โดยประชาชนมีส่วนร่วม จัดให้มีกลไกการบริหารจัดการแบบครบวงจร วิเคราะห์แนวโน้มของอาชญากรรมล่วงหน้า เพื่อป้องปรามและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมให้สอดคล้องกับ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมอาชญากรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นพลังแผ่นดินในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนในการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงและรับข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งรวมถึงกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุโทรคมนาคม
๘.๓ ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากทางราชการ สื่อสารมวลชน และสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม
๘.๓.๑ ส่งเสริมและพัฒนาช่องทางในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน ด้วยการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่ทันสมัย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสื่อสารมวลชนในประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสื่อสารมวลชนโลก
๘.๓.๒ ส่งเสริมและพัฒนากิจการสื่อสารมวลชนทั้งทางด้านเทคโนโลยี เครือข่าย และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการสมัยใหม่ และส่งเสริมให้สื่อมวลชนร่วมเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศโดยเพิ่มรายการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม คุณธรรม นวัตกรรม การเตือนภัยกรณีภัยพิบัติต่าง ๆ หรือ อื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยประสานความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน
๘.๓.๓ ส่งเสริมให้สื่อสารมวลชนทุกประเภทมีอิสระและเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและตระหนัก ต่อจรรยาบรรณของสถาบันสื่อสารมวลชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างดุลยภาพของข่าวสาร
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ นโยบายทั้งหมดที่ได้นำเสนอมานี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงเจตจำนงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕ ที่ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งความมุ่งมั่นของคณะรัฐมนตรีที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ซึ่งในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีนั้นจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยจัดทำรายละเอียดการดำเนินการ ประกอบด้วย แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่าง ๆ และแผนการตรากฎหมาย เพื่อเป็นแนวทาง การบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงนโยบายรัฐบาล อันเนื่องมาจากปัจจัยที่มีผลกระทบจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา และอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ รัฐบาลจะรายงานให้รัฐสภาทราบต่อไป
รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่นที่จะให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง มีความสามัคคี ปรองดอง และมีความยุติธรรม รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก พร้อมทั้งนำความสุขกลับคืนมาให้พี่น้องประชาชน คนไทยทุกคน