บอร์ดบีโอไอ อนุมัติ 92 โครงการใหญ่ โชว์ผลงานรอบ 1 เดือน เงินลงทุนรวมกว่า 2.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ค้างอยู่ คาดสามารถอนุมัติได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

ข่าวทั่วไป Friday July 18, 2014 16:46 —สำนักโฆษก

วันนี้ (18 ก.ค. 57) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก คือ เรื่องเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้มีการเสนอคณะอนุกรรมการนโยบายพิจารณาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและได้นำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาในวันนี้ โดยกรอบนโยบายใหม่เดิมได้มีการกำหนดไว้ในระยะ 5 ปี แต่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมีการขยายระยะเวลาออกไป อีก 2 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างในช่วงปี 2558 – 2564

ทั้งนี้ โยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ดังกล่าว ได้มีการดำเนินการโดยกำหนดเป้าหมายไว้หลายเรื่อง โดยเป้าหมายหลักจะเป็นการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจะเน้นการปรับประเภทของกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนไปยังกลุ่มเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีในระดับสูงขึ้น และมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้ฐานความรู้ในประเทศเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนการลงทุนให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มมูลค่าในประเทศให้สูงขึ้น รวมทั้งเน้นการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยไปต่างประเทศ ให้มีโอกาสลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

สำหรับการประชุมฯ วันนี้ คณะกรรมการได้ให้ข้อคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่กันอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของคณะกรรมการไปปรับปรุงใหม่ให้เรียบร้อย แล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นหลักซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีการหารือร่วมกันนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ต้องการให้การส่งเสริมการลงทุนเน้นประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายของบีโอไอที่ได้มีการปรับประเภทกิจการส่วนใหญ่แล้ว รวมทั้งต้องการที่จะให้มีการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมีการเชื่อมโยงกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

ขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีการลงทุนกิจการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนของ SMEs ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ คสช. ก็มีนโยบายที่จะผลักดันให้มีการส่งเสริมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และให้มีการเชื่อมโยงกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมและบริการทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว การลักลอบขนสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรประเภทเดียวกันกับของประเทศไทยได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี อีกสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการได้เน้นคือ การพยายามให้ลดการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ให้น้อยลง เพราะประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องนำรายได้จากภาษีไปใช้ในการพัฒนาประเทศในอีกหลายด้าน เพราะฉะนั้น หากสามารถลดการสูญเสียภาษีเงินได้ก็จะทำให้มีเม็ดเงินที่จะสามารถไปลงทุนหรือพัฒนาประเทศในเรื่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวของคณะกรรมการฯ ไปปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่แล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมฯ พิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่มารับการส่งเสริมการลงทุน โดย ได้อนุมัติไปทั้งสิ้น 15 โครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 51,526 ล้านบาท ซึ่งกิจการที่มีการอนุมัติมากที่สุดจะเป็นเรื่องของพลังงานผลิตไฟฟ้า ทั้งจากพลังงานลม ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานจากผลิตผลทางการเกษตร โดยมีเงินลงทุนประมาณ 34,000 ล้านบาท รองลงไปจะเป็นทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วน โดยมีการอนุมัติโครงการอีโคคาร์ระยะ 2 ไป 1 โครงการ ให้แก่ ออโต้อัลลายแอนซ์ วงเงินลงทุนประมาณ 9,700 ล้านบาท รวมทั้งกิจการประเภทเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมเบาที่มาจากภาคเกษตร วงเงินลงทุน 4,300 ล้านบาท และกิจการผลิตกระจกเคลือบผิวกันรังสี วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2557 จนถึงขณะนี้ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการต่าง ๆ ไปแล้วหลายครั้ง โดยสามารถอนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุนรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 258,678 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ค้างการพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 742,890 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวถือว่าสามารถดำเนินงานได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ และคาดว่าจะสามารถพิจารณาและอนุมัติโครงการที่ค้างอยู่ทั้งหมดได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วิไลวรรณ/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ