วันนี้ (8ก.ค. 57) เวลา 14.25น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม คสช.ครั้งที่5/2557 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานฯ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม คสช. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายอาคม ฯ ได้กล่าวยืนยันว่าจากการติดตามข้อมูลและดัชนีต่างๆ ทางเศรษฐกิจในช่วง 5-6 เดือนแรกในปีนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้น ทำให้เห็นสัญญาณที่ดีในเดือน มิถุนายน 2557 จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจในปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ในกรอบ 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์ ตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และมีโอกาสที่จะเติบโตในขั้นสูงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ หัวหน้า คสช. ห่วงเศรษฐกิจในช่วงนี้ว่าหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมานั้น หากจะดูความเชื่อมั่นทั้งจากผู้บริโภคและนักลงทุน จะเห็นว่าปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่สิ่งที่จะยืนยันเพื่อให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีคือต้องอยู่ที่นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่ คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มจะเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นไป โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2557 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ จากที่ในช่วงไตรมาสแรกติดลบ 0.6 เปอร์เซ็นต์ และเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงไตรมาส 3/2557 และไตรมาส 4/2557 ซึ่งหากปัจจัยต่างๆ รอบด้านดีขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีปรับเพิ่มคาดการณ์ประมาณการในวาระการทบทวนครั้งต่อไป แต่ต้องขึ้นกับว่าไม่มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นด้วย
พร้อมกันนี้ นายอาคมฯ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ได้ประเมินรายได้จากการจัดเก็บภาษีและการประเมินการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการต่างๆ เดิมได้มีการกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้สะดวกนั้น ได้มีการปรับลดลงมาเหลือประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังถือว่าการเบิกจ่ายอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่เดียวกัน คสช. ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะเม็ดเงินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งเม็ดเงินที่กระจายไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้จะสามารถไปช่วยในเรื่องตัวเลขการส่งออกของไทยที่อาจจะไม่สูงมากนักได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณ ยืนยันว่างบประมาณประจำปี 2558 ของส่วนราชการสามารถดำเนินการได้ตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ โดยจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2557 และประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังให้ความสำคัญในเรื่องการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องข้าว กระทรวงพาณิชย์ได้มีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะสามารถส่งออกข้าวได้มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน โดยหากสามารถระบายข้าวออกสู่ตลาดส่งออกได้จะทำให้ไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกอีกครั้ง
ขณะที่สินค้ากล้วยไม้ จะมีการลดต้นทุนเรื่องโลจิสติกส์เพื่อให้คุณภาพกล้วยไม้สดของประเทศไทยออกสู่ต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ที่ประชุม คสช. ยังได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณามุ่งเจาะตลาดส่งออกใหม่ ๆ
อีกทั้งให้มีการพิจารณากลไกสถาบันการเงินของประเทศไทย เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้มีโอกาสในการส่งออกได้มากขึ้น ตลอดจนใช้กลไกในเรื่องของธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ส่งออกด้วย ส่วนความมีเสถียรภาพค่าเงินบาท ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 32 บาท นั้น คิดว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนน่าจะมีความพอใจ ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
รวมทั้งที่ประชุมฯ ได้มีความห่วงใยในเรื่องการเตรียมการในฤดูการท่องเที่ยว high season ทั้งเรื่องการเดินทาง และความปลอดภัยในชีวิตของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ด้าน ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธฯ ได้กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 และ 31 มีนาคม 2556 เรื่องข้อเสนอการดำเนินการการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อวันที่ 26 และ 31 มีนาคม 2557 เห็นชอบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 ส่วนระยะต่อไป ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธานได้พิจารณาถึงความเหมาะสม โดยให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้ ครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งขณะนี้สิ้นสุดระยะเวลาตามที่มติ ครม. ดังกล่าวแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของการจ่ายฯ แต่เพื่อให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขตามเกณฑ์เดิมได้พลางก่อน จึงจำเป็นขอขยายระยะเวลาออกไป ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557
รวมทั้ง คสช. อนุมัติประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 และกาประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านไอซีทีในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียน (ASEAN ICT Master Plan 2015)
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th