คสช. ให้มีการจัดตั้งจุดจำหน่ายสลากในราคา 80 บาท ทั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด เท่าที่สามารถทำได้ ส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาไม่เกิน 90 บาท

ข่าวทั่วไป Wednesday July 2, 2014 16:36 —สำนักโฆษก

พันเอก วินธัยฯ ชี้แจง คสช. ให้มีการจัดตั้งจุดจำหน่ายสลากในราคา 80 บาท ทั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด เท่าที่สามารถทำได้ ส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาไม่เกิน 90 บาท รวมทั้ง คสช. ได้กำหนดให้วันที่ 11 สิงหาคม 2557 เป็นวันหยุดราชการ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจ

วันนี้ (2ก.ค. 57) เวลา 16.10 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ นางสาวปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม คสช. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พันเอก วินธัยฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า คสช. มีแนวทางการปฏิบัติในระยะแรก ให้มีการจัดตั้งจุดขายในราคา 80 บาท ทั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด เท่าที่สามารถทำได้ ส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยพยายามไม่ให้ราคาเกิน 90 บาท เพราะเนื่องจากกองสลากฯ มีภาระสัญญาผูกพันคงค้างอยู่กับผู้ได้รับอนุญาตอยู่เดิม

อย่างไรก็ตามในอนาคตหรือระยะที่ 2 จะได้ให้คณะกรรมการหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้ราคาจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ทั้งหมด โดยจะพยายามจัดโควต้าให้กับผู้ค้าระดับกลาง ระดับล่าง รวมถึงผู้ค้าคนพิการที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรให้มากขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ โดยได้คำนึงถึงผู้ค้ารายย่อย กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้สามารถมีรายได้เลี้ยงชีพได้อย่างเหมาะสม และพอเพียง

ส่วนกรณีที่วันนี้มีข่าวจะจับกุม ผู้จำหน่ายสลากฯ เกินราคา 80 บาท นั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และไม่ใช่นโยบายของ คสช. ที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้ค้ารายย่อย จึงได้มีการประสานไปที่เจ้าหน้าที่กองสลากฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอให้ระงับการจับกุมหรือใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายในห้วงเวลานี้ไปก่อน

พร้อมกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คสช. ได้พิจารณาให้วันที่ 11 สิงหาคม 2557 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้เวลาในช่วงวันหยุดต่อเนื่องอย่างมีความสุข

ด้าน ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธฯ ได้กล่าวถึงมติที่ประชุม คสช. ว่า คสช. เห็นชอบในหลักการเรื่องมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อไปอีก 1 ปี ทั้งนี้ มาตรการในการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีถือเป็นมาตรการด้านการคลังที่สำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ผ่านการบริโภคและการลงทุน โดยกระทรวงการคลังยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558

สำหรับภาษีทั้ง 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเป็นการขยายระยะเวลา วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2558 ในอัตราร้อยละ 5, 10, 15, 20,25,30 และ 35 เพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรม โดยให้ผู้มีรายได้น้อยชำระภาษีน้อย และผู้มีรายได้มากควรชำระภาษีมาก

ประเภทที่ 2 คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล รอบบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ในอัตราร้อยละ 20 เพื่อสนับสนุนธุรกิจภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

และประเภทที่ 3 คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558 ในอัตราร้อยละ 7 รวมภาษีท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและลดภาระค่าครองชีพ

ทั้งนี้ ให้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไปได้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลในเรื่องการจัดเก็บรายได้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้

พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ตามที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เสนอหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีมาตรการเร่งด่วน 3 แนวทาง ได้แก่ การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การส่งเสริมการตลาด และการส่งเสริมการมีส่วนร่วม รวมวงเงินดำเนินการทั้งหมด จำนวน 4,804.1 ล้านบาท ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติไปแล้วในการประชุม คสช. ครั้งที่ผ่านมา จำนวน 376 ล้านบาท สำหรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

สำหรับวันนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 งบประมาณในวงเงินไม่เกิน จำนวน 2,292 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร งบประมาณในวงเงินไม่เกิน จำนวน 700 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 งบประมาณในวงเงิน ประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการดังกล่าวให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ในหมวดรายจ่ายอื่น

ทั้งนี้ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มีความเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้กว่า 3,570,000 ราย รวมทั้งช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1 ล้านครัวเรือน จึงเห็นควรให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ขอให้มีการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อกำหนดมาตรการในระยะยาวแบบยั่งยืนด้วย ซึ่ง คสช.ก็เห็นชอบต่อเสนอดังกล่าวของกระทรวงการคลัง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และให้รายงานต่อ คสช. เป็นประจำทุกเดือน

นอกจากนี้ คสช. ยังเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกเพิ่ม ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสมได้ทันในฤดูการผลิตปี 2557 และปี 2558 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และอนุมัติวงเงินดำเนินการ จำนวน 315 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะจัดหาแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงสีและผู้ประกอบการค้าข้าวให้สามารถรับซื้อข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดู และเป็นการดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดในเป้าหมายปริมาณ จำนวน 2 ล้านตัน เป็นระยะเวลา 3 – 6 เดือน โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่กู้เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกปีการผลิต 2557 และ 2558 จากเกษตรกรในราคานำตลาด ตันละ 100 – 200 บาท วงเงินงบประมาณปี 2558 คือ 315 ล้านบาท

ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประกอบการ รวมทั้งทำสัญญาให้รอบคอบทั้งในส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ระยะเวลา ปริมาณ และมีระบบการรายงานต่อ คสช. ถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการเป็นประจำทุกเดือน

พร้อมทั้ง คสช. ได้รับทราบผลการเจรจาระหว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับคู่สัญญา บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เรื่อง การขยายเวลาการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร(MRT) สายเฉลิมรัชมงคล เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยให้ยังคงอัตราเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 40 บาท ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2557 อย่างไรก็ตามมีข้อกำหนดในสัญญาโครงการระบบรถไฟฟ้ามหานครที่ต้องดำเนินการปรับอัตราค่าโดยสารทุก 2 ปี โดยผลการประชุมคณะกรรมการ รฟม. ครั้งที่ 16/2556 ได้มีมติอนุมัติค่าโดยสารใหม่ ซึ่งมีอัตราเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 42 บาท โดยใช้อัตรานี้ 24 เดือน ซึ่งอัตราใหม่ดังกล่าวจะเริ่มต้นหลังจากที่อัตราเดิมที่ได้มีการคงไว้จนถึงเดือนตุลาคม 2557 สิ้นสุดลง

อีกทั้ง คสช. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แยกประเภทหรือชนิดของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าของแต่ละพลังงานเป็น 4 ประเภท คือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงาแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อน พลังงานน้ำ และพลังงานลม และยกเว้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ ไม่เป็นโรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรงงานในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานต่าง ๆ จึงเห็นควรกำหนดแยกประเภทหรือชนิดของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าของแต่ละพลังงานให้มีความเหมาะสม และให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับการยกเว้นไม่เป็นโรงงาน ถ้าหากติดตั้งบนหลังคา ดาดฟ้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งบนอาคาร ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์

โดย คสช. ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาทบทวนนโยบาย และข้อกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแลการใช้ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทุกประเภทให้เป็นระบบ ให้ลดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานและเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบกิจการ และเสนอฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อไป

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ