คสช. ชี้แจงความเป็นมาและรายละเอียดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ข่าวทั่วไป Wednesday July 23, 2014 14:32 —สำนักโฆษก

คสช. ชี้แจงความเป็นมาและรายละเอียดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแผนงานที่ได้เคยให้ไว้กับประชาชน ยืนยันจะนำไปใช้ในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นอันขาด

วันนี้ (23 ก.ค.57) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงชี้แจงการจัดทำและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พลเอกไพบูลย์ฯ ชี้แจงว่า ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นั้น เป็นไปตามที่หัวหน้า คสช. ได้ชี้แจงกับประชาชนว่า ภายในเดือนกรกฎาคมจะมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานขั้นที่ 2 ของ คสช.

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชรฯ ได้กล่าวถึงความเป็นมาและแนวคิดสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับดังกล่าวว่า แม้จะเป็นฉบับชั่วคราวก็ทำให้บ้านเมืองมีกฎกติกาที่แน่นอนเพราะเป็นหลักของกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในการอยู่ร่วมกันของประชาชนกับองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และทำให้ประเทศไทยมีแนวทางการพัฒนาในรูปแบบที่ชัดเจนในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พร้อมกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อใช้บังคับขึ้น โดยยึดหลักนิติรัฐ และมีหลักการในการยกร่าง คือ คณะทำงานได้ปรึกษาขอความเห็นชอบในประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญจาก หน.คสช. และคณะที่ปรึกษา คสช. จากนั้นส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตั้งคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นมาตรวจแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมทั้งร่วมกันยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

สำหรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีการจัดโครงสร้างและองค์กรต่างๆ อย่างชัดเจน โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงบทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังคงใช้บังคับอยู่ต่อไป รวมถึงพระราชอำนาจในเรื่องต่าง ๆ ด้วย อาทิ พระราชอำนาจในการใช้อำนาจอธิปไตยทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล พระราชอำนาจในการแต่งตั้งต่างๆ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจในการทำสัญญากับนานาประเทศ และพระราชอำนาจอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะองคมนตรี เป็นส่วนหนึ่งของหมวดพระมหากษัตริย์ซึ่งคงไว้เช่นเดิม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่นิติบัญญัติคือการออกกฎหมาย มีจำนวนไม่เกิน 220 คน เป็นอำนาจของ คสช. ที่จะคัดเลือกจากบุคคลภาคส่วนต่าง ๆ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามหลายประการต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อน ๆ

โครงสร้างคณะรัฐมนตรียังคงเหมือนเดิม ส่วน คสช. ยังคงมีอยู่ต่อเพื่อดูแลเรื่องความมั่นคง การปฏิรูปปรองดอง โดย คสช. มีสมาชิกไม่เกิน จำนวน 15 คน และทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีในลักษณะการปรึกษาและให้ความเห็นที่จะต้องดำเนินการ แต่จะไม่ไปก้าวก่ายการทำงานของคณะรัฐมนตรี

ส่วนมาตรา 44 ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดของ คสช. นั้น ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชรฯ ได้กล่าวชี้แจงว่า มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความสงบและความเป็นปึกแผ่น รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่ดีในการนำไปสู่การปฏิรูป หรือในกรณีที่อาจมีสิ่งใดที่รัฐบาลปกติไม่อาจทำได้ คสช. ก็จะเข้าไปดูแลตามอำนาจที่ให้ไว้ เป็นต้น ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน ซึ่ง คสช. คัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ และจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอจังหวัดละหนึ่งคน มีบทบาทในการประสานกับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิก 36 ราย มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสอดคล้องกับการปฏิรูป ส่วนองค์กรเกี่ยวกับอำนาจตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญของพุทธศักราช 2550 ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิษณุฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย หากนับทั้งฉบับถาวรและชั่วคราว โดยไม่นับฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีอายุระยะเวลาประมาณ 1 ปี ที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ฉบับที่ 20) จะแล้วเสร็จ และมีการจัดการเลือกตั้ง (ระยะที่3) เพื่อคืนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับสู่ประเทศต่อไป

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ จะนำไปสู่องค์กรสำคัญอีก 5 องค์กร คือ 1) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะของหัวหน้า คสช. ซึ่งสมาชิกดังกล่าวไม่มีการสมัคร แต่จะมาจากการพิจารณาและตัดสินใจของหัวหน้า คสช. ซึ่งได้มีการจัดฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสาขาอาชีพ จังหวัดพื้นที่ ภูมิภาค เพศ และวัย คุณสมบัติสำคัญคือ จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี มีสัญชาติไทย ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายและพิจารณาเห็นชอบสนธิสัญญาและหนังสือสำคัญที่รัฐบาลไปทำกับต่างประเทศ มีอำนาจให้ความเห็นชอบแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลโดยจำกัดเพียงตั้ง กระทู้ถามแต่ไม่รวมถึงการอภิปรายเพื่อซักฟอก รวมถึงให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งของบุคคลบางตำแหน่ง เช่น อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตลอดจนการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

2) คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน รวมไม่เกิน 36 คน คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งมาจากบุคคลใดก็ได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี จึงควรเปิดทางให้บุคคลทุกส่วนสามารถ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กันไปเป็นรายกรณี ซึ่งเป็นไปตามปกติที่เคยปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอื่นๆ ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดอำนาจหน้าที่คณะรัฐมนตรีแต่เดิม คือการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ไม่ปกติ จึงได้กำหนดเป็นครั้งแรกให้คณะรัฐมนตรี มีอำนาจเพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดิน คือ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่ ครม. พิจารณา หรือมีข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือมาจากบุคคลอื่นๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้โดยไม่จำกัดว่าเป็นอำนาจของผู้ใด ซึ่งตรงนี้ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี โดยถือเป็นคนละส่วนกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือการพัฒนาประเทศในยามปกติ นอกจากนี้ ครม. ยังมีหน้าที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยถือเป็นพันธกิจที่ ครม. ต้องปฏิบัติ

3) สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา จากจังหวัดต่างๆ 77 จังหวัด รวม 77 คน แต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหา 1 ชุด ทำหน้าที่สรรหาและเสนอชื่อเข้ามาเป็นผู้แทนในสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยเสนอชื่อจังหวัดละ 5 คน และคสช. เลือกมา 1 คน ส่วนอีก 173 คน จะมาจากข้อกำหนด 11 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง กฎหมาย การปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พลังงาน สื่อสารมวลชน และอื่นๆ มีคณะกรรมการสรรหาด้านละ 1 ชุด ใช้วิธีเสนอชื่อโดยไม่มีการเปิดรับสมัคร และต้องมีองค์กรหรือนิติบุคคลหรือสถบันการศึกษาเสนอชื่อเข้ามาได้องค์กรละ 2 คน โดยระบุว่าจะเข้ามาปฏิรูปด้านใด รวม 550 คน ส่งให้ คสช. เลือกเหลือ 173 คน เพื่อนำไปรวมกับตัวแทนจังหวัด 77 คน ได้ 250 คน ทำหน้าที่เสนอความเห็นในการปฏิรูปส่วนต่าง ๆ หากต้องมีกฎหมายรองรับสมาชิกสภาปฏิรูปฯ ก็จะมีการยกร่างกฎหมายแล้วเสนอต่อ สนช. นอกจากนี้ ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มีคณะกรรมาธิการไปยกร่างจัดทำขึ้นด้วย

4.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 36 คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปฯ เสนอ 20 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอ 5 คน คณะรัฐมนตรี เสนอ 5 คน และ คสช. เสนออีก 5 คน และที่ คสช. จะเสนอเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างอีก 1 คน โดยมีระยะเวลาทำงานในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 120 วัน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 ปีย้อนหลัง รวมถึงไม่เคยอยู่ในองค์กรอิสระ และไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังยกร่างรัฐธรรมนูญ และต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ อาทิ กรอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ให้แนวทางไว้ และกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในมาตรา 35 โดยกำหนดว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างใหม่จะต้องกล่าวถึงความเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การป้องกันขจัดการทุจริต และการป้องกันไม่ให้คนที่เคยทุจริตหรือโกงในการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคต เป็นต้น

5. คสช. มีอำนาจเพียงเสนอแนะให้ ครม. พิจารณาปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่ง ครม.อาจพิจารณาไม่ปฏิบัติก็ได้ รวมถึงการจัดประชุมร่วมระหว่าง คสช. กับ ครม. แต่ไม่มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี หรือมีอำนาจบังคับบัญชา ครม. หรือข้าราชการ คสช. มีทบบาทในการแบ่งเบาภาระ ครม. ในด้านความมั่นคงสงบเรียบร้อยในช่วง 1 ปีนี้เท่านั้น และเพื่อให้ คสช.มีอำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ จึงมีการกำหนด มาตรา 46 ให้อำนาจพิเศษเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น และใช้เพื่อสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิษณุฯ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า จะอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช.จะหมดวาระเมื่อมี ส.ส.สมัยหน้า คณะรัฐมนตรี ก็อยู่จนมีครม.ชุดใหม่ สภาปฏิรูปจะหมดหน้าที่ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จและเขียนเกี่ยวกับสภาปฏิรูปอย่างไร สภาปฏิรูปก็เป็นอย่างนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะอยู่จนยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ส่วน คสช.จะอยู่ไปจนเมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งหมดนี้คือแผนและขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี

พลเอกไพบูลย์ฯ ได้กล่าวยืนยันในเจตนารมณ์ของ คสช. ว่า ที่เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพื่อมาแก้ไขปัญหาของชาติที่มีมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้กับประชาชนชาวไทย จึงจำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแผนงานที่ได้เคยให้ไว้กับประชาชน ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และยืนยันว่าจะนำไปใช้ในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นอันขาด จึงขอให้คนไทยได้ให้โอกาสและเวลากับ คสช. ได้ปฏิบัติตามแผนงานที่ได้เคยให้ไว้ด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

วิไลวรรณ/รายงาน

ลัดดา/ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ