วันนี้ (26 มิ.ย. 57) เวลา 14.35 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน นายสมพาศ นิลพันธ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และพ.ต.อ.ทรงพล วัธนะชัย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ในฐานะผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายสมพาศฯ กล่าวว่า คสช. ร่วมกับ 1111 ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส เช่น เรื่องยาเสพติด บ่อนการพนัน ฯลฯ รวมถึงข้อเสนอแนะเรื่องต่าง ๆ จากประชาชน ผ่านทางหมายเลข 1111 ทั้ง 4 ช่องทาง คือ สายด่วน 1111 กด 2 (โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง) ตู้ ปณ. 1111 ปณ. ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร 10302 (ส่งฟรีไม่ต้องติดแสตมป์) และจุดบริการประชาชน 1111 (ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล) โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมเรื่องต่าง ๆ และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการต่อไป รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าเรื่องราวร้องทุกข์ให้ประชาชนรับทราบด้วย
พร้อมกันนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปประเทศ การป้องกันแก้ไขการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนข้อเสนอแนะการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ผ่านทางหมายเลข 1111 ทั้ง 4 ช่องทางดังกล่าวด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมความเห็นต่าง ๆ ส่งไปยังศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ และศูนย์ปฏิรูป ที่ คสช. จัดตั้งขึ้น เพื่อรายงานให้หัวหน้า คสช. รับทราบต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ทรงพลฯ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าผลการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลัง คสช. ได้เข้ามาควบคุมด้านการบริหารของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาวุธปืน และวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องระดมกวาดล้าง เพราะเป็นอาวุธร้ายแรง โดยผลการดำเนินการปัจจุบันได้มีการจับกุมไปแล้ว จำนวน 90 คดี และสามารถยึดอาวุธปืน ได้จำนวน 320 กระบอก วัตถุระเบิด 543 ลูก กระสุนปืนอีก จำนวน 34,000 กว่านัด
พร้อมกล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันพิทักษ์ทรัพยากรของชาติว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการสั่งการระดมจับกุมการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะไม้พะยูง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้กระทำผิดรายใหญ่ได้ จำนวน 25 ราย คิดเป็นมูลค่า 200 กว่าล้านบาท รายย่อย จำนวน 524 ราย มูลค่ารวม 585 ล้านบาทเศษ รวมคดีทั้งหมด จำนวน 547 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท และคิดเป็นการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ จำนวนกว่า 10,000 ต้น ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเร่งดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเร่งดำเนินการปราบปรามบ่อนการพนันและการลักลอบเล่นการพนันฟุตบอลผ่านทางเว็บไซต์ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมี พล.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ปป 3) พล.ต.ท.อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ปป 5) และพล.ต.ท.ชัยยง กีรติขจร ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ปป 2) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมบริหารหมายจับและคดีค้างเก่า หรือ CCOC ในการควบคุมและสั่งการไปยังภูธรภาคต่าง ๆ รวมทั้งนครบาล เพื่อระดมและวางมาตรการในการป้องกันและการลักลอบเล่นการพนัน โดยเน้นให้ดำเนินการเฉพาะรายใหญ่ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาบังคับใช้ โดยให้หน่วยงานที่จับกุมได้ทำการตรวจสอบสถานะทางบัญชีของผู้ที่ถูกจับกุม ซึ่งหากพบว่ามีส่วนที่ผิดปกติ หรือมีกระแสการเงิน และมีการกระทำความผิดที่ชัดเจน มีผู้เล่น จำนวน 100 ราย ขึ้นไป และมีมูลค่าทางบัญชีเกิน 10 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ สามารถตรวจพบเว็บไซต์ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาลักลอบเล่นการพนัน จำนวน 1,018 เว็บไซต์ โดยขณะนี้ ได้มีการประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการทำการปิดกั้นช่องทางการลักลอบเล่นการพนันผ่านทางเว็บไซต์ไปแล้วจำนวนหนึ่ง และจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ จำนวน 1,795 คดี ผู้ต้องหา 1,846 คน เป็นเจ้ามือรายใหญ่ จำนวน 129 ราย เป็นผู้เล่น จำนวน 1,655 ราย คนเดินโพย 60 คน มูลค่าเงินสดที่ยึดได้ จำนวนประมาณ 458,000 บาท มูลค่าทางโพย จำนวนประมาณ 7,000,000 บาท และสมุดบัญชีที่ตรวจยึดได้ มีมูลค่า จำนวน 580,001 บาท
นอกจากนี้ ยังสามารถดำเนินการจับกุมกวาดล้างบ่อนการพนัน ห้วย และตู้ม้า โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 312 ราย และตรวจยึดตู้ม้าไฟฟ้า ได้จำนวน 3,300 กว่าตู้ รวมทั้งได้มีการดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง การฮั้วประมูล และการปล่อยเงินกู้ที่ผิดกฎหมายนอกระบบ เป็นต้น
พ.อ.วินธัยฯ กล่าวถึงข้อกังวลของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ มีคำสั่งแต่งตั้ง 5 คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อด้านต่างๆ ว่า การดำเนินการของคณะทำงานด้านสื่อ เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการทำงานภาครัฐให้การตอบกลับข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างทันท่วงที และให้การรับทราบข้อเท็จจริงจากทางภาครัฐกระจายไปสู่สังคมได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งป้องกันความสับสนที่จะเกิดขึ้นเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา ยืนยันการดำเนินการของคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ไม่ใช่มาตรการบังคับลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อ และการปิดกั้น หรือทำให้กระทบสิทธิ์ของการรับรู้ข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรจะรับรู้แต่อย่างใด แต่จะเป็นการดำเนินการบนหลักการเหตุผลและข้อเท็จจริง ภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ควรจะเป็นไปอย่างเหมาะสม
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th