นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า การจัดประชุมชี้แจงในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาและความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดขึ้นโดย อาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... หรือชื่อที่สื่อมวลชนและคนทั่วไปเรียกว่า กฎหมายอุ้มบุญ ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจ เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการส่งเสริมการตั้งครรภ์แทนหรือการอุ้มบุญ จึงขอความร่วมมือให้เรียกในชื่อเต็มที่ถูกต้องคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจได้มากกว่า เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เน้นการปกป้องคุ้มครองและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ
พ.ร.บ. ฉบับนี้ยกร่างภายใต้คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยมี ดร.สายสุรี จุติกุล เป็นประธานฯ โดยคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมาย ด้านการแพทย์ ด้านการศึกษาและด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งได้มีการยกร่างผลักดันกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓
นางระรินทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... คณะอนุกรรมการได้ตระหนักถึงปัญญาเรื่องเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งได้ยกร่าง พ.ร.บ. โดยความคืบหน้าของการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี ๒๕๕๒ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ตามที่เสนอ เมื่อปี ๒๕๕๓ ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... กำหนดให้มีกรอบเนื้อหาของกฎหมายครอบคลุมเป็น ๓ มิติ ประกอบด้วย ทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง
"ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... มีหลักการเพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง" นางระรินทิพย์ กล่าวตอนท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th