นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการริเริ่มของประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทยที่ทำให้เกิดภาคีความร่วมมือด้านสังคมสงเคราะห์อาเซียน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ นักการศึกษาและสถาบันการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งนี้ งานสังคมสงเคราะห์เป็นงานที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะการประชุมระดับโลกด้านสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคม ที่จัดโดยสภาสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศและสมาคมการศึกษาสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙–๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยได้ให้ความสำคัญกับงานสังคมสงเคราะห์ในการก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม โดยทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการสร้างหลักประกันทางสังคมให้เกิดขึ้นสำหรับอาเซียน ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีที่ผ่านมา ได้ให้การรับรองปฏิญญาที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ทั้งปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการคุ้มครองทางสังคม ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยผู้ประกอบการเยาวชนและการจ้างงาน ซึ่งบทบาทของผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์มีส่วนในการผลักดันให้เกิดปฏิญญาดังกล่าว และมีความจำเป็นต้องมีส่วนในการนำปฏิญญาไปแปลงให้เกิดการปฏิบัติต่อไป
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ภูมิภาคอาเซียนจะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ คือ การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งต่างคาดหวังผลในแง่บวกที่จะเกิดขึ้นจากการเป็นประชาคมในด้านต่างๆ อาทิ การเป็นประชาคมที่มีประชากรเพิ่มเป็น ๖๐๐ ล้านคน ทำให้เพิ่มศักยภาพในการบริโภค เพิ่มอำนาจการต่อรองในระดับโลก การมีขนาดเศรษฐกิจที่โตขึ้น มีแรงดึงดูดเงินลงทุนที่อยู่นอกอาเซียนสูงขึ้น เป็นต้น โดยการที่จะบรรลุความคาดหวังดังกล่าวจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้มแข็งของทรัพยากรมนุษย์ การสร้างหลักประกันและสวัสดิการให้แก่พลเมือง และแก้ไขปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอาเซียนต้องมีกลไกคือผู้ปฏิบัติงานที่เข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพที่ช่วยนำพาอาเซียนไปสู่จุดมุ่งหมาย
นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ โดยได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ขึ้น ซึ่งยังมีอีกหลายประการที่ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถแสดงบทบาททั้งในระดับมหภาค ระดับมัชฌิมภาคและระดับจุลภาคได้ โดยการประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ คือ บทบาทของงานสังคมสงเคราะห์ในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม และการร่วมกันหาแนวทางในการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานของภาคี ปี ๒๐๑๐-๒๐๑๔ ให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งการกำหนดประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการดำเนินงานของภาคีภายหลังจากการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้งานสังคมสงเคราะห์ของภูมิภาคเจริญก้าวหน้าและเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาสังคม อันก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองอาเซียนได้ในที่สุด
ที่มา: http://www.thaigov.go.th