เห็นชอบให้มีการจัดตั้งโรงเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปลัด ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งโรงเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะมีการจัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล อยู่แล้ว แต่จากการไปศึกษาดูงานที่ประเทศมาเลเซีย พบว่ามีโรงเรียนต้นแบบที่จะเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ คือ โรงเรียน SBPI RAWANG จึงเห็นควรให้ยกฐานะโรงเรียนที่อยู่เดิม เช่น โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติจังหวัดยะลา หรือโรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการนำร่องโรงเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อขยายผลต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วยให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น
รับทราบการจัดทำร่างหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้า การจัดทำร่างหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว คิดเป็นร้อยละ 90 เหลือเพียงการตรวจสอบความถูกต้อง สอดคล้องกับพงศาวดารของชาติและประวัติศาสตร์ที่ได้รับการรับรองมาก่อนหน้านี้ โดยเนื้อหาจะต้องไม่ขัดกัน และหลักสูตรดังกล่าวจัดอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษา
นอกจากนี้ ฝ่ายการศึกษาได้จัดตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อจัดทำร่างแผนการสอนเป็นรายวิชาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ เนื่องจากต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกระยะหนึ่ง เมื่อจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้วจะดำเนินการรับสมัครอาสาสมัครให้ใช้ในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่อนำไปประเมินและพัฒนาหลักสูตรให้แน่นอนมากขึ้น คาดว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ทั่วไปในปีการศึกษาถัดไป
รับทราบรายงานความก้าวหน้า การจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงานมหาวิทยาลัย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าการจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงานมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเห็นควรเสนอขอปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นในสายวิชาการ (อาจารย์ผู้สอน) เป็น 2.0 เท่า และสายสนับสนุนเป็น 1.8 เท่าของอัตราเงินเดือนข้าราชการ เพื่อเป็นการชดเชยในเรื่องสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และความเสี่ยงที่ได้รับจากการทำงานในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อไป
รับทราบปัญหาการเบิกจ่ายเงินพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีหนังสือแจ้งว่า สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยข้อความสำคัญคือ “บุคลากรทางการศึกษา” ได้ขาดหายไป ทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ เสียสิทธิในการได้รับเงินพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพิ่มเติม “1,000 บาท จากเดิม 2,500 บาท เป็น 3,500 บาท” จึงขอให้ ศธ.ทบทวนและพิจารณาในการตีความประเด็น “บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ว่ามีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่
ที่ประชุมแจ้งว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาใน 2 กลุ่ม คือ 1) ข้าราชการครู พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำสังกัด ศธ. เดิมเคยได้รับคนละ 2,500 บาทต่อเดือน ให้ได้รับเพิ่มเป็น 3,500บาทต่อเดือน และ 2) ครูโรงเรียนเอกชนในระบบอาจารย์ พนักงานในมหาวิทยาลัยเอกชน ลูกจ้างชั่วคราว ครูอัตราจ้าง วิทยากรสอนศาสนาอิสลามในสังกัดหน่วยงานของ ศธ.ที่ไม่เคยได้รับค่าเสี่ยงภัยมาก่อน ให้ได้รับเงินพัฒนาคุณภาพการศึกษาคนละ 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งคำว่า “บุคลากรสังกัด ศธ.” นั้นมีความหมายครอบคลุมถึง “บุคลากรทางการศึกษา” ด้วยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปลัด ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่ออธิบายในประเด็นดังกล่าว โดยไม่ต้องทบทวนหรือพิจารณาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า และขอให้มีการติดตามผลด้วยว่าบุคลากรดังกล่าวได้รับเงินพัฒนาการศึกษาแล้วหรือไม่
รับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมรับทราบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการปรับปรุงการบริหารจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปศ.จชต.) ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจงานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
รับทราบรายงานความก้าวหน้า การดำเนินงานตามภาระงานกลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามภาระงานกลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม (ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการ (หัวหน้ากลุ่มฯ) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ) โดย ศธ.ได้รับงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 3,544 ล้านบาท (ยอดเงิน ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2557) มีผลการเบิกจ่ายจำนวน 1,735ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ในส่วนของงานที่ดำเนินการและเสร็จสิ้นแล้ว มีการเบิกจ่ายเกินร้อยละ 70 สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2558 ของ ศธ. มีงบประมาณที่ได้รับ (ร่าง) ปี 2558 จำนวน 3,489 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 คิดเป็นร้อยละ 1.32
ทั้งนี้ ปลัด ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. เร่งรัดการดำเนินงานใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 สำหรับงบประมาณปี 2558 ให้จัดทำเป็นโครงการของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อนำมาชี้แจงในที่ประชุมครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมของคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น ให้ทุกกระทรวงจัดตั้งหน่วยงานและผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน พร้อมจัดกำลังคนผู้ปฏิบัติไว้อย่างถาวร ให้มีการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ให้ทุกกระทรวง/หน่วยงาน ต้องนำเสนอแผนและผลการปฏิบัติงาน พร้อมปัญหา อุปสรรค ให้ชัดเจนทุกครั้ง และให้ทุกหน่วยงานติดตามผลการใช้งบประมาณปี พ.ศ.2557 เป็นระยะๆ หากมีปัญหา อุปสรรค ให้นำมาหารือในที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนฯ
นอกจากนี้ มีมติและข้อสั่งการสำหรับกลุ่มงานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม โดยขอให้เข้าไปดูแลเยี่ยมเยียนนักเรียนนักศึกษา ที่เรียนอยู่ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้จัดการศึกษาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา มีการติดตามผลนักเรียนนักศึกษาที่ขาดเรียนหรือออกกลางคัน การศึกษาต่อ การมีงานทำ ต้องมีข้อมูลชัดเจน ในส่วนของการติดตามประเมินผล ควรให้มีความชัดเจนทั้งระบบ และนำผลการประเมินไปใช้ในการจัดทำแผนและขอตั้งงบประมาณ ตรวจสอบการอุดหนุนโรงเรียนให้ชัดเจน และให้มีการเรียนรู้ภาษาถิ่น แต่ต้องเน้นภาษาไทย ให้สามารถอ่าน-เขียนได้ดี เพราะเป็นภาษาประจำชาติ สำหรับด้านพหุวัฒนธรรม ขอให้ปลูกฝังความรักชาติ และการอยู่ร่วมกันตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งจะมีผลต่อสังคมในระยะยาว
รับทราบการขอขยายระยะเวลา การดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย
ที่ประชุมรับทราบเรื่อง การขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 9) พ.ศ.2557-2561 ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 มีมติเห็นชอบการขยายเวลาการดำเนินงานโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (ระยะที่ 9) พ.ศ. 2557-2561โดยมอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นจำนวนผู้จบการศึกษา การประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา และประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินการโครงการต่อไป และให้รายงานผลการประเมินให้ คสช.ทราบด้วย อีกทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง คสช.รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการดำเนินการและประสานงานกับประเทศ หรือองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการกำกับดูแลนักเรียนนักศึกษาไทยที่ได้รับทุนการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ปลัด ศธ.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผล โดยเฉพาะในเรื่องที่จะเอื้อประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะการเทียบวุฒิการศึกษา
ปลัด ศธ.กล่าวด้วยว่า ได้ขอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการชุดนี้เดือนละครั้ง หรืออย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง เพื่อดำเนินการหารือในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนการศึกษา การเยียวยาครูและนักเรียน และรับทราบข้อมูลจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะหากทิ้งช่วงเวลาในการจัดประชุมคณะกรรมการชุดนี้นานเกินไป อาจจะดำเนินการบางเรื่องได้ไม่ทันการณ์
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
17/8/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th