นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ กล่าวต่อไปว่าในส่วนของการร้องเรียนร้องทุกข์นั้น ได้สั่งการทุกจังหวัด/อำเภอ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน หอกระจายข่าวและสื่อต่างๆ เพื่อจะได้มาใช้บริการ
จากศูนย์ดำรงธรรมเพิ่มขึ้น โดยได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการในลักษณะหน่วยเคลื่อนที่เร็ว บูรณาการกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงหรือเกี่ยวข้องลงไปพบปะผู้ร้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งแก้ไขปัญหาร่วมกันในทันที แต่หากเรื่องใดเกินอำนาจหน้าที่ เป็นเรื่องเชิงนโยบาย ก็จะต้องรีบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนกลางทราบภายในกรอบเวลาที่ชัดเจน และติดตามรายงานผลให้ผู้ร้องทราบโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากจำเป็นก็จะขอให้ผู้แทนหน่วยงานในส่วนกลางลงไปชี้แจง ทำความเข้าใจแก้ปัญหาถึงในพื้นที่ เพื่อลดภาระของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ต้องเดินทางมาร้องเรียนถึงกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอขึ้นมารองรับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทุกแห่ง โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการอำเภอ ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการทุกหน่วยในอำเภอ และภาคเอกชนบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกัน และมีชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ชปต.) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงไปปฏิบัติงานเชื่อมโยงกับศูนย์ยุติธรรมชุมชน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งมีบทบาทในเรื่องการรับเรื่องร้องทุกข์ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยด้วยว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูป เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการขึ้นบัญชีกลุ่มธุรกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน กลุ่มบุคคล บุคคลต่างๆ ที่เต็มใจจะช่วยชาติ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม หรือจำหน่ายปัจจัยการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งมีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ไม่ค้ากำไรเกินควร เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบและมาใช้บริการ รวมทั้งแจ้งให้ คสช. รัฐบาล ได้รับทราบ ตามนโยบายของหัวหน้า คสช. ด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th