หลักการ
เป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวนไม่เกิน 2,575,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวน 2,533,034,659,800 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 41,965,340,200 บาท
เหตุผล
เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และ หน่วยงานอื่น ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำหรับใช้เป็นหลักในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดใช้เงินคงคลังที่ได้ใช้จ่ายไปแล้ว
2 หลักการสำคัญในการจัดทำงบประมาณ
หลักการแรก เป็นการน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่วนหลักการที่สอง ได้ยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เป็นทิศทางในการพัฒนาของประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควบคู่กับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
นโยบายและแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้
ประการแรก จัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ จำนวน 14 เรื่อง เพื่อเชื่อมโยงภารกิจและการดำเนินงาน ของหน่วยงานที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น โดยนำนโยบายที่สำคัญมาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. มีดังนี้
(1) การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ และพระเกียรติคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต และสังคม เป็นต้น งบประมาณรวมทั้งสิ้น 456.6 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 30 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานหลัก
(2) การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจ ในพื้นที่เป็นไปอย่างมีเอกภาพและเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ด้วยความเข้าใจ ให้เกิดความยุติธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาควบคู่กันไปด้วย งบประมาณทั้งสิ้น 25,744.3 ล้านบาท มีหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรวม 48 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(3) การดำเนินการตามกรอบประชาคมอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม ในการดำเนินการตามกรอบประชาคมอาเซียน ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ให้สามารถเดินหน้าไปได้พร้อมๆกันและสอดคล้องกันของทุกภาคส่วน โดยการดำเนินการทุกด้านให้ไปสู่ระบบที่เป็นสากล งบประมาณทั้งสิ้น 6,241.5 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 162 หน่วยงาน โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก
(4) การป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการจัดการปัญหาการทุจริตในสังคมไทย และมีเป้าหมายให้ค่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ของประเทศไทยเข้าสู่ระดับคะแนนที่ดีขึ้น งบประมาณทั้งสิ้น 2,120.5 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 21 หน่วยงาน โดยมี ปปช. เป็นหน่วยงานหลัก
(5) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบูรณาการเครือข่ายและการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดการเรียนรู้และการศึกษาอย่างกว้างขวาง งบประมาณทั้งสิ้น 20,301.9 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 168 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานหลัก
(7) การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เพื่อให้คนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงการบริการทางสังคม อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเน้นการเสริมสร้างตั้งแต่แรกเริ่มพัฒนาการ เพื่อนำไปสู่การศึกษาที่เสริมสร้างศักยภาพทางอาชีพ รวมทั้งการดูแลผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับสิทธิความเท่าเทียม งบประมาณทั้งสิ้น 93,821.5 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 17 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ
(9) การป้องกัน ปราบปราม การค้ายาเสพติด และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันแก้ปัญหาตั้งแต่แหล่งที่มาของยาเสพติด จนถึง การติดตามช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่สังคม ทั้งวงจร นำไปสู่สังคมที่เข้มแข็ง ปลอดภัย และมีภูมิคุ้มกันจากภัย ยาเสพติด งบประมาณทั้งสิ้น 9,644.2 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 27 หน่วยงาน โดยมี ปปส. เป็นหน่วยงานหลัก
(13) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่จะต้องร่วมมือและให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐานและคุณภาพงานวิจัย ที่มุ่งเน้นให้นำไปใช้ประโยชน์ในสภาพสังคมและชีวิตประจำวัน ได้จริง และไม่เป็นการวิจัยที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 20,822 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 138 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก
ประการที่สอง พิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้ เงินสะสมและเงินกู้ รวมทั้งเงินงบประมาณ พ.ศ. 2557 เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการพิจารณาทบทวน ชะลอหรือยกเลิกการดำเนินงานที่มีลำดับความสำคัญลดลง หรือหมดความจำเป็นหรือมีลักษณะไม่ยั่งยืน หรือเพิ่มภาระรายจ่ายประจำในระยะยาว การดำเนินการดังกล่าวสามารถปรับลดงบประมาณได้ไม่น้อยกว่า 92,900 ล้านบาท เพื่อทดแทนข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 50,000 ล้านบาทได้
สำหรับการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2558 กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 19.5 ของวงเงินงบประมาณ รองลงมา คือ งบกลาง และกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ
ประการที่สาม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 โดยสนับสนุนภารกิจที่มีความพร้อมในระดับสูง สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เช่น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความพร้อมรองรับงบประมาณในเรื่อง แบบแปลนและพื้นที่มากขึ้น เป็นต้น
โครงสร้างงบประมาณ
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,027,176 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.7 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 41,965.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 450,158.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 55,700 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น
กรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
มีการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2558 ไว้จำนวน 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องตามยุทธศาสตร์ที่ 1, 4, 6, 7 ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ ในส่วนของ ศธ. ระบุไว้ในส่วนของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การเสริมสร้างความพร้อมของภาครัฐ เอกชนและประชาชน ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต ที่ผ่านมาแม้ว่าคนไทยจะได้รับการพัฒนาศักยภาพทุกช่วงวัย แต่ยังคงมีปัญหา ด้านคุณภาพการศึกษา ระดับสติปัญญาของเด็ก พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และผลิตภาพด้านแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ผู้ด้อยโอกาสยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง คสช.ได้ตระหนักถึงปัญหาเชิงสังคม ดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้ให้ความสำคัญกับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวน955,921 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อการพัฒนาด้านสังคมที่สำคัญ ดังนี้
ด้านการศึกษา สนับสนุนให้คนไทย ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งด้านคุณภาพครู หลักสูตร ห้องเรียน และเทคโนโลยีด้านการศึกษา สนับสนุนการจัดการศึกษาผ่านระบบโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อกระจายโอกาสให้แก่นักเรียน ในพื้นที่ห่างไกล การให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต ตลอดจนสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เร่งรัดผลิตบัณฑิตสาขาวิชาที่ขาดแคลน
ด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกระบบ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพเครือข่ายบริการสุขภาพ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการให้ได้ระดับสากล รวมทั้งให้การคุ้มครอง พัฒนาและส่งเสริม การถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร
ด้านคุณธรรมจริยธรรม สนับสนุนให้น้อมนำหลักธรรมและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ร่วมเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสังคมไทย ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม สนับสนุนให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่า มีความภาคภูมิใจและร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีไทย และวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย
ด้านแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในการทำงานตามกฎหมายอย่างทั่วถึง พัฒนาฝีมือแรงงานและศักยภาพแรงงานให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานแรงงาน คุณวุฒิวิชาชีพ และสอดคล้องกับความต้องการแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงบูรณาการภารกิจตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่แรงงานในระบบ
ด้านคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พัฒนาศักยภาพ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการสงเคราะห์ในรูปแบบของเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพคนพิการ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 3,100 ทุน รวมทั้งส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เข้าแข่งขันทางวิชาการ นอกจากนี้ ในการสนับสนุนการวิจัยของประเทศ ได้กำหนดเป้าหมายให้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อีกไม่น้อยกว่า 4,400 โครงการ
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. คือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีภูมิภาคและอนุภูมิภาค การสร้างบทบาทของไทยในฐานะผู้ให้ โดยให้ความช่วยเหลือทั้งทางวิชาการ และทางการเงินในการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมและประเทศที่มีบทบาทสำคัญทั่วโลกนอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ให้มีทัศนคติในทางบวกและมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ ตลอดจนคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของคนไทย และแรงงานไทยในต่างประเทศ
นอกจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ยังได้กำหนดงบประมาณไว้ในรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 517,020.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งถูกสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาในสภาวะฉุกเฉินให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น สามารถนำไปใช้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย อีกส่วนหนึ่งจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรภาครัฐตามสิทธิทางกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นรายจ่ายในการชำระหนี้ และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
19/8/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th