บ่ายวันนี้ (22 สิงหาคม2557) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นำคณะสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามมาตรการตรวจสอบ คัดกรอง ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ของด่านควบคุมโรคติดต่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 2 มาตรการหลัก คือการตรวจสอบ คัดกรอง ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดที่จะเข้ามาในประเทศไทย และการเตรียมรับสถานการณ์ภายในประเทศ เตรียมพร้อมสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งความพร้อมของห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า มาตรการตรวจสอบ คัดกรอง ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 4 ประเทศ ได้แก่ กินี เชียร์ล่าลีโอน ไลบีเรีย และไนจีเรีย ได้ดำเนินการทั้งด่านทางบก เรือ และอากาศ ที่กรมควบคุมโรคดำเนินการตรวจคัดกรองมีอยู่ 63 ด่าน สำหรับด่านทางอากาศดำเนินการที่ท่าอากาศยาน 5 แห่งคือสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ซึ่งทุกด่านจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย กรอกเอกสารสุขภาพของผู้เดินทาง ประวัติการเดินทาง สถานที่พำนักในไทย เบอร์โทรศัพท์/อีเมล์ที่ติดต่อได้ รวมทั้งแจกข้อควรปฏิบัติด้านสุขภาพระหว่างพำนักในไทย โดยจะติดตามผู้เดินทางจนครบ 21 วัน ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ ตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงรวม 669 คน โดยมาจากกินี 374 คน ไลบีเรีย 53 คน เชียร์ล่าลีโอน 35 คน และไนจีเรีย 207 คน โดยผ่านที่ด่านภูเก็ต 3 คน ดอนเมือง 2 คน ที่เหลือผ่านทางด่านสุวรรณภูมิ ยังไม่พบรายใดมีไข้
สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นด่านหลักในการเดินทางเข้าประเทศของผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง แต่ละวันมีเที่ยวบินที่บินตรงจากพื้นที่เสี่ยง วันละ 2 เที่ยวบิน และเที่ยวบินที่แวะเปลี่ยนเครื่องอีก 6-7 เที่ยวบิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานร่วมมือกับทุกสายการบินในการประกาศให้ผู้โดยสารจากพื้นที่เสี่ยง ภายในสามสัปดาห์ ให้ไปรายงานตัวที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (Health Control) รวมทั้งการท่าอากาศยานได้กำหนดจุดจอดเครื่องบินเฉพาะ เพื่อให้การตรวจคัดกรองด้านสุขภาพเป็นไปรวดเร็ว ครอบคลุม และได้ยกระดับการตรวจคัดกรองให้มีความเข้มข้นและครอบคลุมมากขึ้น ในวันจันทร์ (18 สิงหาคม 2557) ที่ผ่านมาได้เพิ่มการติดตั้งเครื่องตรวจวัดไข้อัตโนมัติ (Thermoscan) ที่จุดจอดเฉพาะผู้โดยสารขาเข้าจากพื้นที่เสี่ยง เสริมกับการใช้เครื่องตรวจวัดไข้ด้วยมือ มีเจ้าหน้าที่ประจำวันละ 10 คน โดยผู้ที่ผ่านเครื่องตรวจวัดไข้อัตโนมัติที่มีไข้ จะถูกแยกไปตรวจวัดไข้ซ้ำ ก่อนจะนำเข้าสู่ระบบการสอบสวนโรค ควบคุมป้องกันโรคที่ได้กำหนดไว้
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสายการบินที่แวะเปลี่ยนเครื่อง (transit) ได้เพิ่มการเฝ้าระวังโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยสร้างความร่วมมือของเครือข่ายเช่น สายการบิน การท่าอากาศยาน และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานงานหลักในเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และประสานข้อมูล นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ช่วยดูแลและสอบถามผู้เดินทางว่ามาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ เพื่อการติดตามผู้ป่วย ผู้สัมผัส ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงาน
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบร่วมกับการท่าอากาศยานและสายการบิน เพื่อเตรียมรับตัวผู้ป่วย ตามระบบที่วางไว้ โดยจะมีรถพยาบาลมารับไปยังโรงพยาบาลที่เตรียมไว้คือสถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพื่อเข้าสู่ระบบการสอบสวนโรค ควบคุม ป้องกันโรคที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งห้องแยก บุคลากรที่ดูแล และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางมาจะเข้าระบบการเฝ้าระวัง 21 วันเช่นกัน
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้ผลิตเอกสารข้อควรปฏิบัติด้านสุขภาพกรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 3 ภาษา คือไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส สำหรับแจกผู้เดินทางในทุกด่านแล้ว ประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
22 สิงหาคม 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th