ปลัด ศธ. กล่าวว่า ประเทศไทย และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Arab Republic of Egypt) ได้สถาปนาความสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ซึ่งความสัมพันธ์ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการศึกษาที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีนักศึกษาไทยเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอียิปต์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนอาจารย์กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในจังหวัดภาคใต้ การส่งครูมาฝึกอบรมการสอนภาษาอาหรับ การมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยเพื่อไปศึกษาต่อที่อียิปต์ ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัรได้กลับมาเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้นำทางศาสนาที่ถ่ายทอดความรู้และสืบสานค่านิยมตามธรรมเนียมของศาสนาอิสลามที่ดีแก่สังคมไทย
ในการนี้ ปลัด ศธ.ได้หารือกับรองผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามฯ และคณะในประเด็นต่างๆ ดังนี้
n การจัดตั้งสถาบันภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ได้เจรจากับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) จ.นราธิวาส เพื่อจัดตั้งสถาบันภาษาอาหรับ โดยจะส่งครูมาให้การอบรมครูผู้สอน ใช้มาตรฐานขั้นต่ำ 7 ชั้นเรียนตามที่กำหนดการเรียนภาษาอาหรับเป็น 7 ระดับ จึงจะมีการสอบวัดผลและให้การรับรองเพื่อสามารถเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องมีการหารือในเรื่องการพัฒนาและอบรมครูสอนภาษาอาหรับ กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อีกครั้ง และในอนาคตจะขยายการจัดตั้งสถาบันภาษาอาหรับในจังหวัดอื่นๆ ด้วย
n การส่งเสริมการเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร มีหลักสูตรและเว็บไซต์สำหรับการเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตในหลายสาขาวิชา ซึ่ง ศธ.จะสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนสมัครเรียนทางเว็บไซต์ เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น
n ทุนการศึกษา ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ได้ตกลงมอบทุนการศึกษา 20 ทุนแก่นักศึกษาไทย เพื่อศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ เภสัช วิศวะ หรือคณะทางสังคมศาสตร์ โดย ศธ.จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อคัดเลือกผู้ได้รับทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งจะมีการออกหนังสือรับรองคุณสมบัติของผู้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ตรงกับที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้ในระดับสากล เป็นเกณฑ์เดียวกับที่ใช้ในการรับรองคุณสมบัติของนักเรียนต่างชาติที่มาศึกษาต่อในประเทศไทย และจะมีหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) แนบไปด้วย
n มาตรฐานและการเทียบวุฒิ ศธ.ได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรปี พ.ศ.2551 ให้เหมาะสมกว่าหลักสูตรที่ผ่านมา และมีความพร้อมที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีสมรรถนะ มีคุณลักษณะที่พร้อมกับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น จึงต้องการให้มีการรับรองนักเรียนไทยที่จบการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้ จะมีการนำข้อหารือในวันนี้ไปพิจารณาในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง โดย ศธ.มีคณะกรรมการซึ่งดูแลการศึกษาในจังหวัดภาคใต้ ในการจัดการประชุมกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือ ศึกษา และวิเคราะห์ในเรื่องดังกล่าวกันต่อไป
ผู้แทนจากอียิปต์ กล่าวขอบคุณผู้บริหาร ศธ.ที่ให้ความสำคัญต่อคณะผู้แทนจากอียิปต์ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้งยังกล่าวว่ามหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร เป็นองค์กรศาสนาแห่งโลกอิสลาม ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมทั่วโลก และให้ความสำคัญด้านการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของประชาชนในอียิปต์ รวมถึงผู้ที่นับถือต่างศาสนา
จากการเดินทางเยี่ยมชมสถานศึกษาและหน่วยงานในจังหวัดภาคใต้ มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งสถาบันภาษาอาหรับในประเทศไทย ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เนื่องจากภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ซับซ้อน ผู้ที่พูดภาษาอาหรับได้อาจจะไม่สามารถสอนได้ การก่อตั้งสถาบันภาษาอาหรับในประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร มาทำการสอน และจะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ แก่ประชาชนในพื้นที่
ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ประมาณ 3,000 คน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มอบทุนการศึกษา ค่าที่พัก และเบี้ยเลี้ยงแก่นักศึกษาไทยจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา นักศึกษาส่วนมากศึกษาต่อด้านศาสนา เนื่องจากนักศึกษาไทยและต่างชาติมีจำนวนมากขึ้นแต่พื้นที่และอาคารเรียนในมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร มีจำกัด จึงทำให้มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร สนใจที่จะก่อตั้งสถาบันของมหาวิทยาลัยให้เป็นสาขาประเทศไทย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเดียวกับที่ผู้เรียนจะได้รับเมื่อศึกษาในอียิปต์ รวมถึงการเปิดสถาบันภาษาอาหรับเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาไทย
การก่อตั้งสถาบันภาษาอาหรับในต่างประเทศมีเงื่อนไขหลายข้อ เช่น อาคารที่ทำการสอนจะต้องประกอบด้วยห้องเรียน 7 ห้อง เพราะระบบหลักสูตรการเรียนภาษาแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และครูผู้สอนจะต้องมาจากต้นสังกัด คือ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ต้องมีการอบรมครูผู้สอนที่มาจากต้นสังกัดกับครูชาวต่างชาติเพื่อทำการสอนในสาขาที่เปิดในต่างประเทศ ต้องมีการสอบวัดผลที่ถูกกำหนดมาจากต้นสังกัด และเมื่อสอบผ่าน ทางสถาบันฯ จะออกประกาศนียบัตรให้นักศึกษาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสอบเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ เป็นต้น เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้น ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องหารือกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องของการเทียบวุฒิได้ แต่จะให้เจ้าหน้าที่เฉพาะด้านร่วมหารือในรายละเอียด เนื่องจากหลักสูตรของไทยและอียิปต์อาจแตกต่างกัน จึงเสนอให้รัฐบาลไทยหรือสถาบันสอนศาสนา จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับหลักสูตรและรายละเอียดต่างๆ ให้แก่มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องมีการหารืออย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการเทียบวุฒิและของมหาวิทยาลัยที่ได้กำหนดไว้
ภาพ สำนักงานรัฐมนตรี โดยสถาพร ถาวรสุข
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
25/8/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th