สธ.- เกษตรฯ- เอฟเอโอ –อียู ร่วมประชุม กำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยผัก ผลไม้สด

ข่าวทั่วไป Wednesday August 27, 2014 17:57 —สำนักโฆษก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประชุมร่วมจัดทำค่ามาตรฐานความปลอดภัยสารตกค้างในผัก ผลไม้สด โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช ระบบการควบคุมสารเคมีอันตราย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลาง คุ้มครองความปลอดภัยประชาชนในประเทศภูมิภาคอาเซียน

นายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agricultural Organization) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำกระบวนการพัฒนานโยบายปฏิรูประบบการจัดการอาหารปลอดภัย (Evidence-based food safety decision making and policy development using multi criteria approaches, with Thailand as a pilot country) ในการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องสารเคมีในผักและผลไม้ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยอาหาร ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2557 นี้ ที่โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ นครปฐม ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำเสนอข้อมูลกรณีศึกษาเรื่องสารตกค้างในผักผลไม้ และจะร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลผลการวิเคราะห์สารตกค้าง ค่ามาตรฐานความปลอดภัย และปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดสายโซ่การผลิต จนถึงการจำหน่าย รวมทั้งการควบคุมสารเคมีอันตราย อย่างละเอียด โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากอียู และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่กรุงโรม อิตาลี และสำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (กรุงเทพฯ) มาร่วมประชุมด้วย

นายแพทย์ทรงยศกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสร้างความปลอดภัยอาหาร และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรับประทานผักผลไม้ รวมกันให้ได้วันละ 500 กรัมหรือครึ่งกิโลกรัม หรือมีผักครึ่งหนึ่งของอาหารในแต่ละมื้อ เนื่องจากผักผลไม้มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพมากมาย มีกากใยตามธรรมชาติ ช่วยในการขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ แต่จากการตรวจที่ผ่านมายังพบว่าผักผลไม้มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงต้องเร่งสร้างมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ทางด้านนางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการระดมสมองศึกษาแนวการแก้ปัญหาสารอันตรายตกค้างในผักและผลไม้ ที่ครบวงจร โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การค้า สังคมและวัฒนธรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ ต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติและรัฐ เพื่อใช้เป็นต้นแบบกระบวนการพัฒนานโยบายชาติ ที่ต้องใช้หลักฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และการวิเคราะห์ปัญหาของทุกปัจจัยสำคัญมาเป็นองค์ประกอบโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งประเทศไทยได้รับคัดเลือกเป็นประเทศนำร่องในภูมิภาคเอเชีย โดยกำหนดจัดประชุมในระดับระดับชาติ 2 ครั้ง และประชุมระดับนานาชาติกับผู้แทนในภูมิภาคเอเชียอีก 1 ครั้งในปี 2558 นี้

27 สิงหาคม 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ