นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ากรมสรรพสามิตได้ตระหนักถึงสภาพการณ์ ที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะก่อให้เกิดการรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของ 10 ประเทศสมาชิก โดยประเทศไทยมีข้อพันธะผูกพันที่จะต้องเปิดเสรีทางการค้าและบริการ การลงทุน เงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเป็นตลาด และฐานการผลิตเดียวจะนำไปสู่การจัดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหมดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น กรมสรรพสามิตในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษีบริโภค จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมต่อการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดอุปสรรคในการเปิดเสรีทางการค้าในระหว่างประเทศสมาชิก
ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ดำเนินโครงการจัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและโครงการปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต แต่มีการจัดทำเฉพาะที่เป็นภาษาไทยเท่านั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ และชาวต่างชาติที่จะทำความเข้าใจในกฎหมายภาษีสรรพสามิตของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดเสรีทางการค้าหากประเทศไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ยังขาดการสร้างเครือข่ายและการเชื่อมโยง (Network)
ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีสรรพสามิต ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิตของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิต รวมถึงผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย โดยไม่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติหรือภาษา จึงได้ดำเนินการแปลร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต และร่างกฎหมายสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้มีความเป็นสากลและง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย และจัดให้มีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายภาษีสรรพสามิตขึ้น โดยเชิญตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของประเทศที่เข้าร่วมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ รับทราบประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย และทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในหลักการของกฎหมายภาษีสรรพสามิต อันจะเกิดประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีในระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการแปลร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและร่างกฎหมายสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติ ตลอดจนการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายสรรพสามิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่องกับโครงการจัดทำประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและโครงการปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติฯ กรมสรรพสามิตจึงไว้วางใจมอบหมายภารกิจนี้ให้กับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของภาครัฐที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการเช่นเดียวกับทั้งสองโครงการที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาการดำเนินการทั้งสิ้น 9 เดือน และมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
1. ดำเนินการแปลร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลภาษีสรรพสามิตของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและจัดทำในรูปแบบเว็บไซต์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้ประชาชนทั่วไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสามารถเข้าถึงได้ง่าย
2. จัดอบรมเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตไทย เพื่อสร้างความพร้อมและเตรียมการเข้าสู่การเปิดเสรีทางการค้า ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ.2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายภาษีสรรพสามิตของแต่ละประเทศ
3. จัดการประชุมภาษีสรรพสามิตอาเซียน (ASEAN Excise Tax Forum) โดยเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ เข้าร่วมประชุมในประเทศไทย เพื่อรับทราบกฎหมายและทิศทางของกฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต และสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของแต่ละประเทศเพื่อประโยชน์ในการประสานงานร่วมกันต่อไปในอนาคต
4. จัดทำร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติภาษาอังกฤษฉบับสมบูรณ์เสนอกรมสรรพสามิต โดยคาดหมายว่าฉบับภาษาอังกฤษนี้จะเสร็จทันเพื่อรองรับกับประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและอนุบัญญัติที่จะผ่านความเห็นชอบในเวลาอันใกล้นี้
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการแปลร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงการจัดประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ จะทำให้ร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตและร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตระดับอนุบัญญัติมีความพร้อมในการใช้บังคับเมื่อผ่านเป็นกฎหมาย อันจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีในบริบทการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อันจะส่งผลให้กรมสรรพสามิตมีภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีที่มีความเป็นสากลอย่างแท้จริง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต
โทร/โทรสาร 0 2241 4778
www.excise.go.th
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th