นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่งให้จัดระบบการป้องกันน้ำท่วมสถานบริการ และเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ว่าสถานการณ์จากฝนตกหนักวานนี้ สถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วม 1 แห่งคือโรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้ง อ.เวียงเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 1.50 เมตร โดยท่วมที่ตึกผู้ป่วยนอก แผนกซักฟอก โรงครัว และท่วมคลังเวชภัณฑ์ยาบางส่วน มีผู้ป่วยนอนพักรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 28 ราย ได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาล 2 แห่งรวม 7 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร จำนวน 4 ราย เป็นโรคถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดสมองแตก ไปที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จำนวน 3 ราย โดยเป็นเด็ก 1 รายเป็นโรคหอบหืด ทุกรายปลอดภัยดี ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้ แพทย์ได้ให้กลับไปพักต่อที่บ้าน ขณะนี้โรงพยาบาลยังคงเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และงดบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในชั่วคราว เนื่องจากระบบน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสียยังใช้การไม่ได้ โดยสถานการณ์ล่าสุดเช้าวันนี้ เวลา 10.00 น.ระดับน้ำลดลงแล้ว ได้ส่งทีมช่างและเจ้าหน้าที่ประเมิน สำรวจความเสียหาย และเร่งฟื้นฟูเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามปกติโดยเร็วที่สุด
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอื่นๆ ไม่มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ โดยที่จังหวัดน่าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้จัดส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ที่อ.ทุ่งช้าง อ.ปัว ซึ่งขณะนี้ระดับลดลงแล้ว โดยหน่วยแพทย์ให้บริการตรวจรักษาฟรี จ่ายยาป้องกันโรคฉี่หนู และให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออกสำรวจประเมินสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ด้วย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นน้ำป่าไหลหลาก เกิดอย่างฉับพลัน และน้ำลดลงเร็ว เป็นห่วงประชาชนเกิดบาดแผลในช่วงขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ และขณะทำความสะอาดที่พักอาศัย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านออกให้ความรู้ คำแนะนำประชาชนในการดูแลความสะอาดบาดแผล หากบาดแผล บวม แดง ให้ไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาที่สายด่วน 1669 รวมทั้งให้เฝ้าระวังป้องกันโรคที่อาจเกิดตามมาภายหลังน้ำท่วม ได้แก่โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนมากที่สุด
ที่มา: http://www.thaigov.go.th