การจัดเตรียมข้อมูลด้านการศึกษา เสนอต่อรัฐมนตรีใหม่
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ได้จัดเตรียมสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของ ศธ. ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการใน 2 ส่วน ดังนี้
1) ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
การสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง เช่น จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตำบล ปลุกจิตสำนึกสร้างความรัก ความสามัคคี สร้างความสุข ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จัดงานชุมนุมยุวกาชาด และเยาวสตรีภาคใต้ เป็นต้น
การปลูกฝังค่านิยมหลัก 12 ประการ เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายการสร้างค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการสู่การปฏิบัติ จัดนำร่องสถานศึกษาค่านิยม 12 ประการในสถานศึกษา จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา เป็นต้น
การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการและพัฒนาหลักสูตรของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปรับหลักสูตรและการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง การลดเวลาเรียนให้เด็กอยู่กับครอบครัวมากขึ้น การแก้ไขปัญหาการกวดวิชา เป็นต้น
อาชีวศึกษา เช่น ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา สุภาพชนคนอาชีวะ แก้ปัญหาการทะเลาะวิวาท เป็นต้น
อุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ค่าตอบแทนอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น
การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการการศึกษาทางไกล จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น
การจัดทำข้อเสนอและ Roadmap ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน (พ.ศ.2558-2569)เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน และคณะทำงานฝ่ายเลขานุการจัดทำ Roadmap ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน จัดประชุมกลุ่มและประชุมรับฟังความคิดเห็น เปิดช่องทางเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนและเปิดโอกาสให้คนเก่งคนดีมาเป็นครู เช่น จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น
การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประจำทุกเดือน จัดหลักสูตรการเรียนรู้ประชาธิปไตยในสถานศึกษา พัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและพหุวัฒนธรรม
ICT เพื่อการศึกษา เช่น โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชน (Community) ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เช่น คสช.เห็นชอบให้เพิ่มวงเงินกู้ยืม กยศ. และการขยายเวลาดำเนินโครงการ กรอ.
2) ประเด็นเร่งด่วน 9 ประเด็นที่จะดำเนินการในปี 2558
การปรับหลักสูตรการเรียนการสอน
ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา
ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระดับอุดมศึกษา
ปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ และระบบการบริหารจัดการศึกษาใหม่
ให้คนดี คนเก่งมาเป็นครู
การได้มาซึ่งผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
การส่งเสริมการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
การปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัว
แผนแม่บทการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อการศึกษา
ทั้งนี้ ได้มอบให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สนย.สป.) จัดเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในการนำเสนอ และให้สำนักงานรัฐมนตรี (สร.) จัดเตรียมห้องทำงานสำหรับรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านให้เรียบร้อย พร้อมทั้งเร่งประสานเรื่องวันเวลาที่รัฐมนตรีจะเดินทางเข้า ศธ.อย่างเป็นทางการ และประสานเชิญผู้บริหาร ศธ.เข้าร่วมงานวันเวลาดังกล่าวด้วย
ปลัด ศธ.กล่าวถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย) ว่า เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และแนวคิดด้านการศึกษาที่ชัดเจน มองการณ์ไกล และให้ความสนใจกับครูและคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองท่านนั้น นายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นผู้อยู่ในวงการการศึกษามาก่อน ทำให้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษาเป็นอย่างดี ส่วนพลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนขนาดเล็ก และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จึงเชื่อว่าทั้ง 3 ท่าน จะสามารถบริหารงานด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าต่อไปได้
? การดำเนินการตามข้อสั่งการของที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557
ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการตามข้อสั่งการของที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ใน 2 ประเด็นคือ
ให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการของเยาวชนไทยให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ทั้งด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ และด้านสังคม โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านโภชนาการให้เยาวชนบริโภคอาหารที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอ้วน
ให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดยกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาปรับโครงสร้างทางการศึกษา วิธีการจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานและให้เด็กไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เน้นการศึกษาในห้องเรียน ปรับหลักสูตรให้ครอบคลุมวิชาพื้นฐาน เช่น ประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง สิทธิและหน้าที่ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไทย ทั้งนี้ ให้ปรับปรุงเนื้อหาของหนังสือชุด “พระมหากษัตริย์ไทย 9 รัชกาล” จาก 9 เล่มให้เหลือเพียงเล่มเดียว เพื่อให้มีเนื้อหาที่กระชับและน่าสนใจ สำหรับใช้เป็นหนังสือพื้นฐานในการศึกษาของเยาวชนด้วย
ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รายงานผลการดำเนินการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพราะ สกศ.มีแผนการพัฒนาคนแต่ละช่วงวัยและแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัย ซึ่งระบุเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว
นอกจากนี้ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันมาด้วย ว่าได้ดำเนินการส่งเสริมภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการอย่างไร และในส่วนของการปรับปรุงหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานของ สพฐ. นั้น ขอให้นำข้อสั่งการเรื่องการปรับปรุงเนื้อหาของหนังสือชุด “พระมหากษัตริย์ไทย 9 รัชกาล” ไปดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ได้ขอให้ สร. เป็นผู้ประสานรวบรวมรายงานความก้าวหน้าจากทุกหน่วยงาน ส่งไปยังหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อนำเสนอต่อหัวหน้า คสช.ต่อไป
? การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษารูปแบบใหม่
สกศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ เกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายของที่ประชุมอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการสื่อสารและใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 เรื่องการใช้เทคโนโลยีห้องเรียนอัจฉริยะ Smart Classroom เพื่อจัดการเรียนรูปแบบใหม่ ดังนี้
ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ Smart Classroom
การกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ Smart Classroom อย่างชัดเจน
เร่งดำเนินการพัฒนาครูให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและการใช้เครื่องมือ
เนื้อหาสาระวิชา (Content) ศธ.พัฒนาเนื้อหาสาระเอง และนำสื่อการเรียนการสอนที่มีอยู่ในท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศมาใช้งาน รวมทั้งนำเนื้อหาสาระที่ถูกลิขสิทธิ์บรรจุลงในฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์แม่ข่ายด้านเนื้อหา (Content Server) เพื่อให้บริการในรูปแบบ Cloud และดำเนินการลิขสิทธิ์สื่อในรูปแบบของ Country License
สำรวจความต้องการและความแตกต่างด้านศักยภาพของโรงเรียนให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการกำหนดคุณลักษณะอุปกรณ์ (Hardware Specification)
การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ควรเป็นไปในรูปแบบของการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น การใช้ TV Digital, Social Media ร่วมกับการดำเนินงานของ Smart Classroom เนื่องจากโรงเรียนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน
ควรมีการศึกษาวิจัยรองรับการดำเนินงานโครงการ Smart Classroom โดยในระยะสั้นอาจศึกษาผลการประเมินโครงการ Smart Classroom ที่มีอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศ
แนวทางการดำเนินงาน ได้กำหนดจัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้กรอบความคิดในการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษารูปแบบใหม่ รวมทั้งนำคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการสื่อสารและใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ เยี่ยมชมโรงเรียนที่มีเป็น Best Practice ด้าน Smart Classroom เพื่อศึกษาสภาพจริงของการดำเนินงานในปัจจุบัน
? สอศ. ตั้งกรรมการสอบกรณีนักศึกษาเสียชีวิตระหว่างการรับน้อง
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ กรณีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักศึกษาชั้น ปวช. ปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี ในระหว่างการรับน้อง ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 ซึ่งคาดว่าจะทราบผลสรุปในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการรับน้อง เป็นข้อห่วงใยของหัวหน้า คสช. ที่ต้องการให้ ศธ.ดูแลเรื่องการรับน้องและไม่ให้เกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ ที่ผ่านมา ศธ.ได้มีการประชุมในเรื่องนี้หลายครั้ง ได้มีการออกมาตรการเพื่อป้องกัน และหน่วยงานที่มีสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ สอศ. ก็ได้จัดทำแนวปฏิบัติพร้อมทั้งแจ้งไปยังสถานศึกษาในสังกัดมาโดยตลอด ซึ่งในส่วนของ สกอ.ได้รายงานว่าได้ออกแนวปฏิบัติและแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมแล้วถึง 2 ครั้ง และส่วนของ สอศ. และ สช. ก็ได้ร่วมดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ได้ย้ำและกำชับในที่ประชุมอีกครั้งว่า ขอให้ทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ดูแล เข้มงวดและตรวจตราในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการออกไปรับน้องกันเองข้างนอก เพราะแม้ว่าเด็กจะออกไปกันเอง หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นผู้อำนวยการสถานศึกษาก็ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้น จะต้องมีหน่วยที่จะคอยเสาะหาข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้ป้องกันป้องปรามเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
? การแก้ปัญหารับจ้างทำการบ้าน เอกสารงานวิจัยต่างๆ
นายอนันต์ ระงับทุกข์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานต่อที่ประชุม เกี่ยวกับการแก้ปัญหารับจ้างทำการบ้านผ่านเว็บไซต์ว่า จากการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการรับทำการบ้าน พบว่ามี Facebook Twitter Instagram Line Blog และเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับการรับจ้างทำการบ้าน เอกสารงานวิจัย วิทยานิพนธ์ จำนวนถึง 1.5 ล้านรายการ ซึ่งมีรายละเอียดในส่วนต่างๆ ดังนี้
วิธีการซื้อหรือรับจ้าง เช่น ลูกค้าส่งต้นฉบับและแจ้งรายละเอียดงาน เช่น ตัวอักษร (Font) ข้อจำกัดต่างๆ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ให้ผู้รับจ้างผ่านทางe-Mail Facebook Line หรือ Twitter, รอการยืนยันจากผู้รับจ้าง พร้อมแจ้งราคาและวิธีการชำระเงิน หลังจากลูกค้าชำระเงิน ผู้รับจ้างจะทำงานทันที หรือเมื่องานเสร็จเรียบร้อย ผู้รับจ้างก็จะจัดส่งงานให้แก่ลูกค้า
อัตราค่าบริการ เขียนการบ้าน/รายงาน หน้าละ 15 บาท, เขียนการบ้านพร้อมหาคำตอบ หน้าละ 30 บาท, พิมพ์งานหน้าละ 15 บาท, Powerpointพร้อมหาข้อมูลหน้าละ 10 บาท, ทำรายงานรูปเล่มพร้อมหาข้อมูล จะขึ้นอยู่กับปริมาณตามที่ตกลงกัน
ความผิดตามกฎหมาย
1) กรณีผู้กระทำผิดเป็นบุคคลทั่วไป
ความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หากผู้กระทำลงข้อความทางเว็บไซต์ดังกล่าวโดยมีเจตนาทุจริต หลอกลวงนักเรียน ด้วยการลงข้อความที่ไม่เป็นความจริงและทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากนักเรียนหรือผู้ปกครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 14 (1) หากผู้กระทำความผิดนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลปลอมหรือเป็นเท็จ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน และผลลัพธ์นั้น น่าจะเกิดความเสียหายแก่นักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา หรือส่วนราชการ และมาตรา 14 (3) กรณีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากความผิดดังกล่าวอาจมีผลกระทบกับความมั่นคงทางด้านการศึกษาของประเทศได้
2) กรณีผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการครู นอกจากจะมีความผิดทางอาญาเหมือนบุคคลทั่วไปแล้ว ยังมีความผิดทางวินัยและจรรยาบรรณ ดังนี้
ความผิดตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน” และมาตรา 94 วรรคหนึ่ง “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว”
ความผิดข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ.2550 ตามข้อ 7 (ข) (7) กรณีเรียกร้องผลตอบแทนจากศิษย์ หรือผู้รับบริการในงานตามหน้าที่ที่ต้องให้บริการ และข้อ 11 (ข) (8) กรณีใช้ความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ หรืออาศัยองค์กรวิชาชีพแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หากผู้กระทำเป็นข้าราชการประเภทอื่นก็อาจเป็นความผิดวินัยตามที่กฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการประเภทนั้นๆ กำหนดไว้
ข้อเสนอเพื่อดำเนินการ
แจ้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อพิจารณาดำเนินการปิดเว็บไซต์ และดำเนินการทางกฎหมาย
แจ้งหน่วยงานในสังกัดที่มีหน้าที่จัดการศึกษา เพื่อให้กำชับผู้บริหาร โดยเฉพาะครู อาจารย์ ที่ทำหน้าที่สอนและทราบถึงความรู้ความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างดี ได้พิจารณาอย่างพิถีพิถันในการตรวจการบ้านหรือรายงานของนักเรียนนักศึกษาอย่างจริงจังและรอบคอบ ว่าเป็นงานที่เกิดจากความรู้ความสามารถของผู้เรียนจริงหรือไม่ ทั้งนี้ อาจให้ใช้การเขียนด้วยลายมือแทนการพิมพ์ หากครูอาจารย์เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ รวมทั้งมีปริมาณงาน/การบ้านที่พอเหมาะ และบูรณาการระหว่างครู อาจารย์ด้วยกัน ปัญหาเหล่านี้ย่อมลดน้อยลง
ศธ.ควรเร่งรัดการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือให้หน่วยงานในสังกัดและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนและผู้ปกครอง ได้ทราบถึงผลเสียของการกระทำดังกล่าว อันส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษา ครอบครัว สังคม และประเทศชาติในอนาคต ตลอดจนสร้างความตระหนักและสำคัญของการทำการบ้านว่า การได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ก่อให้เกิดผลดีอย่างไร
ปลัด ศธ. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประสานไปที่กระทรวง ICTเพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์เหล่านี้ เพราะอาจจะกระทบกับความมั่นคงของประเทศตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กล่าวคือ การที่เด็กไม่ได้ทำการบ้านเอง เด็กก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ ทำให้ทรัพยากรมนุษย์เกิดความอ่อนแอ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติในที่สุด นอกจากนี้ ศธ.จะจัดทำแนวปฏิบัติในภาพรวมและแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
2/9/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th