ตามที่กรมศุลกากรได้มุ่งเน้นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าที่แสดงกำเนิดเป็นเท็จ เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้ นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายชูชัย อุดมโภชน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายศักดิ์ ยศธแสนย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม เข้มงวดเป็นพิเศษในการสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบนำสินค้าที่ยังไม่ได้เสียภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งการลักลอบนำสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านการอนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นำโดยนายศักดิ์ ยศธแสนย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และเจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายสืบสวนปราบปรามที่ 3 ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 สำนักสืบสวนและปราบปราม นำโดยนายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม ได้ดำเนินการด้านการสืบสวนปราบปรามในพื้นที่ความรับผิดชอบพบการกระทำผิดกฎหมายศุลกากร ดังนี้
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
1. ใบขนสินค้าขาออก เลขที่ A014-15708-02252 จำนวน 4 ตู้ สำแดง “เศษพลาสติก” ตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์พบมีการนำเศษเหล็ก เศษอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เก่า ปิดบังสินค้าลำโพงและดอกลำโพง จักรยานยนต์ใช้แล้ว (USED BIG BIKE) ซึ่งมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ จำนวน 28 ลัง (69 คัน) ถือเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 40 ล้านบาท
2. ใบขนสินค้าขาออก เลขที่ A015-15708-02689 จำนวน 11 ตู้ สำแดง “ผงซิลิคอน” จำนวน 1,100 BG น้ำหนัก 275,000 ก.ก. เปิดตรวจพบเป็น “ผงโลหะปนเปื้อนสารประกอบตะกั่ว” เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ลำดับที่ 2.2 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นการสำแดงชนิด ปริมาณ พิกัดและอัตราอากรเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 34 ล้านบาท
3. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A015-05708-05054 สำแดง “แผ่นเหล็ก (Waste steel sheet) จำนวน 1,000 หีบห่อ น้ำหนัก 20,000 ก.ก. ตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์พบเป็น “เศษขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 5 ล้านบาท
4. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A007-05708-03018 ตรวจพบของนำเข้าเมืองกำเนิดประเทศจีน เกินจากสำแดง เป็น “ยากันยุง” Brand GOLDEER ที่มีส่วนประกอบสำคัญของสาร MEPERFLUTHIRIN 0.08% จำนวน 22,800 กล่อง น้ำหนัก 3,762 กิโลกรัม เป็นสินค้าที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มิได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. เข้าข่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย และ อย. ได้ตรวจพิสูจน์แล้วเป็นสินค้าอันตรายต่อมนุษย์ ถือเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 1 ล้านบาท
5. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A014-05708-13680 และเลขที่ A020-05708-04174 สำแดง “ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน” เปิดตรวจพบเป็นของตรงสำแดง แต่ที่สินค้ามีตรา/เครื่องหมายการค้าละเมิดทรัพย์ สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์) จำนวน 6,130 Sets/Pcs ถือเป็นการสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จ หลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 1 ล้านบาท
6. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A015-05708-11574 สำแดง “ธูป” เมืองกำเนิดประเทศจีน น้ำหนัก 25,380 ก.ก. ตรวจพบชนิดสินค้าตรงตามสำแดง แต่ที่หีบห่อสำแดงชนิดสินค้าและประเทศผู้ผลิตเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย เป็นการสำแดง ที่ทำให้ผู้บริโภคสำคัญผิดในประเทศผู้ผลิตสินค้า เป็นความผิดฐานแสดงกำเนิดเป็นเท็จตามพระราชบัญญัติห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มูลค่าของกลาง 1.2 ล้านบาท
7. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A021-05708-03760 สำแดง “กระเบื้องเซรามิคไม่เคลือบ” จำนวน 7 ตู้ รวม 5,200 CT น้ำหนัก 176,000 ก.ก. ชำระอากร 0% (ใช้สิทธิ A.C.N) ตรวจพบเป็น “กระเบื้องเซรามิคเคลือบ” มีการใช้สติกเกอร์ติดทับผู้ผลิตที่เสียอัตราอากรทุ่มตลาดในอัตรา 4.58% ซึ่งที่ถูกต้องต้องชำระอากรในอัตรา 30% และอัตราอากรตอบโต้ การทุ่มตลาด 35.49% รวมค่าภาษีอากร ที่ขาด 1.1 ล้านบาท เป็นความผิดในฐานสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงอากร
สำนักสืบสวนและปราบปราม
1. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A021-05707-14043 ตรวจพบสินค้าเกินจากสำแดงเป็นเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมแผ่นบังคับโซ่ขนาดความยาว 22 นิ้ว จำนวน 50 SET สินค้าดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตนำเข้าจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีจึงเป็นความผิดฐานนำสินค้าต้องกำกัดเข้ามา ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมมูลค่าของกลาง 7 หมื่นบาท
2. ใบขนสินค้าขาออก เลขที่ A021-15707-01756 จำนวน 20 ตู้ สำแดงเป็นของเสียประเภทโลหะ และที่มีโลหะเป็นองค์ประกอบ จำนวน 500,000 กิโลกรัม เนื่องจาก สินค้าดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีจึงเป็นความผิดฐานนำสินค้าต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน มูลค่าของกลางรวม 20 ล้านบาท
3. ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A006-05708-09149 ตรวจพบสินค้าเกินจากสำแดงเป็น รถจักรยานยนต์ใช้แล้ว จำนวน 6 คัน และส่วนประกอบ ถือเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด มูลค่าของกลางรวม 7 ล้านบาท
4. ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A023-05707-00538 สำแดง”รองเท้า”เมืองกำเนิดประเทศจีน ตรวจพบชนิดสินค้าตรงตามสำแดง ได้ทำการตรวจสอบพบสลากระบุสถานที่ผลิตเป็นสถานที่ในประเทศไทย เป็นความผิดฐานสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติห้ามนำของที่มีการแสดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 มูลค่าของกลาง 1.2 ล้านบาท
5. ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A026-05706-09507 ตรวจพบสินค้าไม่ตรงสำแดงเป็น BODY CREAM, BODY LOTION, SHOWER GEL สินค้าดังกล่าวมิได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. เข้าข่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายถือเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 1 ล้านบาท
6. ใบขนสินค้าขาเข้า เลขที่ A007-05708-05877 และเลขที่ A004-05708-07423 ตรวจพบสินค้าประเภทผ้าเช็ดตัว 48,000 ผืน ผ้าปูที่นอน 900 ชุด ผ้าห่ม 800 ผืน ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีตรา/เครื่องหมายการค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ลิขสิทธิ์) ถือเป็นการสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด มูลค่าของกลาง 6.5 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้า ปริมาณ ประเภทพิกัดและอัตราอากรเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัดและอากรตามมาตรา ๙๙, ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ประกอบกับมาตรา ๑๖, ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ สินค้าดังกล่าวเป็นสิ่งของอันพึงต้องริบตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ และความผิดตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.๒๕๒๒ ความผิดตามมาตรา ๔ และ ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.๒๕๔๕ ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๓ พระราชบัญญัติห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 ความผิดตาม พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ความผิดตามมาตรา ๒๓ และ ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕ และความผิดตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน
อนึ่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 (ตั้งแต่ ตุลาคม 2556 ถึงปัจจุบัน) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิด ทั้งสิ้น 342 ราย ค่าภาษีอากรรวมค่าปรับ 106.41 ล้านบาท (ยังไม่รวมครั้งนี้)
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th