นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. ...และ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจ้างงานผู้สูงอายุ พ.ศ. .... ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาข้อมูลด้านประชากรชี้ชัดว่า นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10.4 ของประชากรรวม จึงสะท้อนให้เห็นว่าไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว ขณะที่ในปี 2555 ไทยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.7 ของประชากรทั้งประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาส่งเสริมกันอย่างจริงจังให้ผู้สูงอายุมีโอกาสในการเข้าสู่การทำงานที่มีคุณภาพ ได้รับการดูแลที่เหมาะสม มีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามที่ผู้สูงอายุต้องการ
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวมองว่าถ้า พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับสามารถ
ยุบรวมกันได้ จะก่อให้เกิดเอกภาพในทางกฎหมาย นำไปใช้ได้โดยไม่ทำให้เกิดการสับสน ส่วนการสัมมนา
ในวันนี้ต้องการรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการทำให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีผล
เป็นรูปธรรม ทำอย่างไรให้การขับเคลื่อน การดูแลผู้สูงอายุลงไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้
“พ.ร.บ. 2 ฉบับ จะส่งผลดีต่อผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถยังมีงานทำได้ ไม่เป็นภาระ
ต่อครอบครัว สังคม หากยังมีวิชากำลังความรู้ความสามารถ เลี้ยงตัวเองได้ เชื่อว่าหาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงอย่างน้อยผู้สูงอายุก็จะมีงานทำมากขึ้น และจะเป็นแรงจูงใจให้สถานประกอบการจ้างงาน กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็พร้อมที่จะให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพ”นายพีรพัฒน์ฯ กล่าว
ทั้งนี้จากตัวเลขการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2555 ของสำนักงานสิถิติแห่งชาติ พบว่า
ผู้สูงอายุที่ทำงานมีอยู่ 3.4 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคการค้าและการบริการ ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรผู้สูงอายุ และสัดส่วนผู้สูงอายุที่ยังทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากผลกระทบหลายด้าน อาทิเช่น ประชากรวัยแรงงานในอนาคตมีแนวโน้มลดลง การเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพเข้ามาทำงานทดแทนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน ดังนั้นประชากรสูงอายุเหล่านี้จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วน(ร่าง)พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. .... และ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจ้างงานผู้สูงอายุ พ.ศ. .... ทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวม ประมวลและขับเคลื่อนตามขั้นตอน โดยสาระสำคัญ คือ เรื่องการทำงานของผู้สูงอายุ หลายมาตราได้กำหนดให้เป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน และมีผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการ
ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รวมทั้งนายจ้างในสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th