วันนี้ (9 ก.ย.57) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการประชุมคณะรัฐมนตรีและรับฟังการรายงานการดำเนินการจากหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 5 ฝ่าย ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมฯ ว่า การประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ไม่ถือว่าเป็นการประชุมฯ อย่างเป็นทางการ และไม่เรียกว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่หนึ่ง เนื่องจากเป็นการประชุมก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาล แต่ที่ต้องมีการประชุมหารือ เพราะมีหัวข้อสำคัญ 3 หัวข้อ ที่คณะรัฐมนตรีควรจะต้องทราบก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย
ข้อที่ 1) คือ การชักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีทำงาน รวมทั้งการเตรียมตัวปฏิบัติภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละคน ซึ่งส่วนนี้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ชี้แจงแนวทางในการที่รัฐมนตรีแต่ละคนจะเสนอแต่งตั้งเลขานุการฯ ที่ปรึกษาฯ หรือการเสนอแต่งตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งมีกฎหมายระเบียบรองรับไว้แล้ว อย่างไรก็ตามวันนี้ ยังไม่มีมติแต่งตั้งบุคคลใด ให้ทำหน้าที่ใด ๆ ทั้งสิ้น
ข้อ 2) คือ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หัวหน้าแต่ละฝ่ายของ คสช. ประกอบด้วย ฝ่ายความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา ฝ่ายกิจการพิเศษ และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนฝ่ายเลขาธิการ คสช. มารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของแต่ละฝ่ายในช่วงเวลา 3 – 4 เดือนที่ผ่านมาให้รัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อจะได้สานต่องานที่ คสช. ดำเนินการไว้ โดยจะมีการนำผลการดำเนินงานของ คสช. ที่ได้สรุปดังกล่าวไปจัดทำเป็นเอกสารเพื่อแจกจ่ายไปให้ส่วนราชการได้รับทราบ เพื่อจะได้สานต่องานอย่างถูกต้องต่อไป
ข้อ 3) คือ การหารือถึงเรื่องนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 เนื่องจากนโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม หรือปรับปรุง โดยวันนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี ได้รับทราบ ว่า การยกร่างนโยบายรัฐบาล ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและกำกับด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด และรองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตรวจพิจารณาร่างนโยบายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ร่างนโยบายรัฐบาลฉบับนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้ยกร่างก่อนเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
สำหรับร่างนโยบายรัฐบาลดังกล่าวมีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ 5 แหล่ง โดยส่วนแรกนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ในการจัดทำนโยบายฯ ให้ยึดหลักยุทธศาสตร์ตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ได้แทรกเข้าไปในนโยบายรัฐบาลทุกข้อ
แหล่งที่ 2 คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นเรื่องความพอดี ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน
แหล่งที่ 3 คือ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11
แหล่งที่ 4 คือ นโยบายของ คสช. เช่น Road Map ทั้ง 3 ระยะ หรือหลักค่านิยม 12 ประการ
แหล่งที่ 5 คือ ปัญหาของประเทศ และความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วง 3 – 4 เดือนทีผ่านมา ว่า มีความต้องการในเรื่องใด เรียกร้องอะไร และต้องการเห็นอะไร เป็นต้น
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษและให้นำเข้าไปใส่ในนโยบายรัฐบาลด้วย คือ ปัญหาของประชาชนที่จะต้องสามารถตอบคำถามที่ค้างคาใจของประชาชนให้ได้ เช่น เรื่องปัญหาที่ดินหรือที่อยู่อาศัย การจัดโซนนิ่งการเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนการจัดทำผังเมือง เป็นต้น
อีกทั้ง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าเพิ่มเติมว่า รัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต มีภารกิจที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญอยู่ข้อหนึ่ง คือ การบริหารราชการแผ่นดิน แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ได้กำหนดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ให้รัฐบาลมีหน้าที่หรือภารกิจ 3 ข้อ คือ 1) ยังคงเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน 2) เรื่องการดำเนินการปฏิรูป และ3) การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ซึ่งข้อ 2 และข้อ 3 ได้เพิ่มเข้ามาใหม่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
เพราฉะนั้น นโยบายที่จะมีการแถลงต่อ สนช. จึงครอบคลุมหน้าที่ทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ซึ่งหน้าที่ในแต่ละข้อมีการแบ่งออกเป็นเรื่องย่อยอีกหลายข้อ
สำหรับหน้าที่แรก คือ การบริหารราชการแผ่นดินนั้น นโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อ สนช. ก็จะครอบคลุมปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ 11 ด้าน เช่น เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา การดูแลศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อาเซียน การต่างประเทศ และการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นต้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการในแต่ละปัญหาดังกล่าวว่า จะต้องพิจารณาให้ได้ว่า อะไร เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเฉพาะหน้าในระยะแรก ภายใน 1 เดือน หลังจากรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ระยะกลาง เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อระยะแรก ภายใต้กรอบเวลา ภายใน 1 ปี และสุดท้ายระยะยาว ประมาณ 5 – 10 ปี เช่น รถไฟทางคู่ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องในอนาคต แต่รัฐบาลก็จะวางรากฐานไว้ให้ ทั้งในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การศึกษาผลกระทบในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการพิจารณาหาสถานที่ เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศได้มารับช่วงไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาล ทั้ง 11 ข้อ ที่ได้แยกออกเป็นระยะต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำไว้ในโยบาย คือ การทำก่อน ทำจริง ทำทันที โดยหวังผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้ปรากฏเป็นรูปธรรมในนโยบาย ทั้งเรื่องรถไฟ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การสร้างความปรองดอง ฯลฯ
สำหรับนโยบายที่ 2 เรื่องการปฏิรูป นั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะถือเป็นสถาปนิกหลักของประเทศในการคิดว่าจะออกแบบประเทศอย่างไร ซึ่งรัฐบาลจะให้ความร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติอย่างเต็มที่ โดยสั่งและกำชับข้าราชการทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกับ สปช. โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลหากมีการร้องขอมา รวมทั้งจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับสภาปฏิรูป โดยไม่มีการแทรกแซงการทำงาน
รวมทั้ง รัฐบาลจะมีการเปิดเวทีการปฏิรูปเพิ่มสำหรับคนที่สมัครเข้ามา (จำนวน 7,300 คน) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( ปสช. 250 คน ) ซึ่งมีความคิดที่ดีและต้องการเสนอความเห็นในการออกแบบประเทศ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีเวทีและพื้นที่สำหรับแสดงความเห็น โดยเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง
เรื่องสุดท้าย ของการประชุมในครั้งนี้ คือการหารือเกี่ยวกับนโยบายของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่รัฐบาลได้รับช่วงมาดำเนินการต่อจาก คสช. ที่เคยมอบหมายให้กองทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์ดำรงธรรม ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวรัฐบาลจะเน้นในเรื่องการขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม อาทิ ปัญหาทางเศรษฐกิจ รายได้ ความยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลจะต้องพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้ได้ และจะไม่ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าการดำเนินการของรัฐบาลมีแบบ 2 มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หัวใจสำคัญจะอยู่ที่นโยบายบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 11 ด้าน ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจ ที่จะมีการแบ่งเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนและครอบคลุมทั้งด้านการค้า การทำธุรกิจอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการปรับปรุงร่างนโยบายฯ ว่า ทุกหัวข้อและทุกเรื่องจะต้องมีการสอดแทรกเนื้อหาของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น การปฏิรูป การสร้างการเปลี่ยนแปลง การเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอแนะของรัฐมนตรี ก่อนนำไปจัดพิมพ์ และจัดส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อ สนช. แล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า นายกรัฐมนตรี จะให้มีการประชุมชี้แจงนโยบายฯ แก่ปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ปฏิบัติหรือข้าราชการฝ่ายประจำ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้แต่ละกระทรวงจัดทำแผนปฏิบัติการ Action Plan ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณและบุคลากรอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด โดยกำหนดกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจนภายในระยะเวลา 1 ปี และให้จัดพิมพ์เป็นเอกสารเพื่อใช้เป็นคู่มือในการติดตามการดำเนินงาน และตรวจราชการ โดยภายในสิ้นปีนี้ จะมีการประมวลผลงานทั้งหมดจัดทำรายงานประจำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ มีระยะเวลาของการบริหารเพียงประเทศ 1 ปี แตกต่างจากรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งที่มีเงื่อนไขเข้ามาบริหารประเทศ 4 ปี โดยรัฐบาลได้เข้ามาหลังจากที่ คสช. ได้วางหลักไว้ก่อนแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่ว่ารัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จเมื่อใด ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ จึงเขียนเพื่อให้สามารถทำงานได้ในระยะเวลา 1 ปี ยกเว้นสิ่งที่วางรากฐานในระยะยาว เพราะฉะนั้นเป้าหมาย เรื่องประชาธิปไตย ปฏิรูป การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามาบริหารประเทศต่อไป
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th