ดร. สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในรายการตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นศูนย์ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษา มีศูนย์อยู่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคคือสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑ - ๑๓ ทั้งหมด ๑๓ เขต ทั่วประเทศ และได้บรรจุเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๕๙ กำหนดให้คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึงหลักสูตรปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดในเรื่องสาระวิชาสังคมศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีหลักคิด หลักปฏิบัติตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กำหนดในเรื่องการบริหารจัดการของผู้บริหารครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งเรื่องการวางแผนการบริหาร การเน้นการมีส่วนร่วม คำนึงถึงหลักการมีเหตุ มีผล การดำรงชีวิตของผู้บริหารเอง การถือหลักคิด หลักปฏิบัติในเรื่องการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษามีการวางแผนอบรมครู คณาจารย์ที่จะขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นที่จะสอนนักเรียนจัดกิจกรรมเสริมในเรื่องของโครงการ การบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ เข้าสู่การเรียนการสอน
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่ออีกว่า ในระยะแรกของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา 5 ยุทธศาสตร์ เช่นการจัดทำแนวทางจัดการศึกษา หลักสูตร กิจกรรม การอบรมครู พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การขยายเครือข่ายเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมนำไปปฏิบัติ และขยายผล ตลอดจนในเรื่องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต้นแบบที่ดี มีการประเมินผล เป็นต้น นอกจากนี้ในเรื่องของการขับเคลื่อนค่านิยม ๑๒ ประการ ถือว่า สามารถดำเนินการโดยผ่านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในเรื่องของการสร้างความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความมีระเบียบวินัย เคารพกติกา การดำรงตนโดยความพอประมาณ การสร้างภูมิคุ้มกัน ในตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“ ในเรื่องของการประเมินสถานศึกษาพอเพียง และศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะมีการกำหนดตัวชี้วัดโดยจะเลือกสถานศึกษาที่สามารถบูรณาการการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ทั้งกิจกรรมใน ๘ กลุ่มสาระและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จะคัดเลือกทุกปี และจากการประเมินสถานศึกษาพอเพียงก็จะมีการประเมินศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะต้องทำหน้าที่ในการเผยแพร่ขยายเครือข่าย การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ถึงจะผ่านการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันมีถานศึกษาพอเพียง ๑๔๐๐๐ กว่าโรง และมีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ๔๗ ศูนย์ รวมถึง มีทุนเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่รุ่นที่ ๑ - รุ่นที่ ๔ จำนวน ๗๓ ทุน”
“นางสาววลีรัตน์ มิ่งศูนย์ นักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ ๑ กล่าวว่า ได้รับทุนในสมัยที่อยู่ในโรงเรียนลาซาน จันทบุรีมารดาอุปถัมภ์ โดยส่วนตัวเป็นเด็กกิจกรรม มีการแบ่งเวลาเรียนและการทำกิจกรรม และการทำงาน ที่ชัดเจน มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้มีหลักคิด หลักปฏิบัติเป็นคนดีมีจิตอาสา และเป็นแกนนำในการบำเพ็ญประโยชน์ จึงทำให้ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนทุน และสิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อได้รับทุนคือการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคม ในรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่ความถนัดของนักเรียนทุน ซึ่งในส่วนตัวแล้วนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่อง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขมาใช้ คือในเรื่องของการมีคุณธรรมยึดเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต มีเหตุมีผล รู้จักอดออม รู้จักใช้ มีความพอประมาณ และเลือกที่จะทำกิจกรรมควบคู่กับการเรียนด้วยแต่ไม่ทำให้เสียการเรียน”
ตอนท้ายรายการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชาสัมพันธ์งานตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการศึกษา ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยจะเป็นการจัดแสดงนิทรรศการ การจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้หน่วยงาน/สถานศึกษา และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนนำผลการดำเนินงานขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาที่ผ่านมา จัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ แก่สาธารณชน พิธีมอบเกียรติบัตรแก่สถานศึกษาพอเพียง ประจำปี ๒๕๕๕ และศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมงานได้ในวันเวลา ดังกล่าว
วิมลรัตน์ /ข่าว
ศุภชัย / ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th