นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดสุโขทัย เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางตามพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำ

ข่าวทั่วไป Friday September 12, 2014 10:23 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดสุโขทัย เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางตามพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำ

วันนี้ (12 กันยายน 2557) เวลา 15.00 น. ณ วัดกงไกรลาศ ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย พร้อมรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดสุโขทัย จากนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พลโทปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 โดยมีผู้ ข้าราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ประชาชนให้การต้อนรับ

นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวรายงานสรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดสุโขทัยว่า จังหวัดสุโขทัยได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีน้ำไหลหลากเข้าท่วม ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2555 ในพื้นที่ จำนวน 8 อำเภอ 52 ตำบล 323 หมู่บ้าน 14 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 12,178 ครัวเรือน 34,999 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 18,405 ไร่ พืชไร่ 1,220 ไร่ นาข้าว 6,600 ไร่ พืชสวน 1,095 ไร่ บ่อปลา 50 บ่อ ถนน 32 สาย ท่อระบายน้ำ 10 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรอำเภอกงไกรลาส เนื่องจากเนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำ ในลำน้ำยมได้ไหลลงสู่อำเภอกงไกรลาศ ซึ่งเป็นอำเภอรับน้ำ อำเภอสุดท้ายก่อนไหลไปสู่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ประกอบกับน้ำที่เอ่อล้นสองฝั่งแม่น้ำยม ได้ไหลลงไปรวมอยู่ในเขตอำเภอกงไกรลาศ ทำให้พื้นที่ในชุมชน หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร และปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ คาดว่าสถานการณ์น้ำจะท่วมขังในเขตพื้นที่อำเภอกงไกรลาศไปอีกอย่างน้อยประมาณหนึ่งเดือน สถานการณ์จึงจะเข้าสภาวะปกติ

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวถึงแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยมว่า ให้เพิ่มแก้มลิงสำหรับการบริหารจัดการน้ำ โดยผันน้ำช่องการไหลสูงสุดเข้าหนองจระเข้ ที่มีความปัจจุบัน 42 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาให้ลึก 5 เมตร เพื่อให้ได้ความจุประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. และเชื่อมต่อการระบายน้ำลงทุ่งทะเลหลวงซึ่งสามารถจุน้ำประมาณ 32.4 ล้าน ลบ.ม นอกจากนั้นให้ขยายความจุน้ำในตัวเมืองสุโขทัย จาก 570 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 800 ลบ.ม.ต่อวินาที

พลโทปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ 3 แนวทาง 1. สร้างขีดความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำยม, ลำน้ำ และคลองสาขา 2. การบริหารจัดการน้ำทำการเปิด - ปิด ประตูระบายน้ำอย่างประสานสอดคล้อง การใช้ประโยชน์จากแก้มลิงที่สร้างไว้แล้วอย่างเต็มขีดความสามารถ และการระบายน้ำลงทุ่ง ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรแล้ว 3. การสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อบูรณาการบริหารจัดการ

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ากับประชาชนที่มารอต้อนรับ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางตามพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำ และจะใช้งบประมาณปี 57 ที่มีอยู่แล้ว ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดำเนินโครงการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ และกระจายทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง การพร่องน้ำ การระบายน้ำรวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปแผนการบริการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำปิง วัง ยม และน่าน รวมถึงกลางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และปลายทางในการระบายน้ำลงสู่ทะเล จัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ขณะที่การเยียวยาช่วยเหลือขอให้จังหวัดเร่งทำการสำรวจ และต้องทำด้วยความโปร่งใส เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ของชาติขึ้นมาใหม่ และตนจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดยึดประโยชน์ส่วนรวม เพราะไม่ใช่นักการเมืองทีต้องทำเพื่อคะแนนเสียง

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะตั้งใจทำให้คนมีรายได้น้อยมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ นโยบายรัฐบาลไม่ใช่นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงงบประมาณต่าง ๆ ต้องกระจายให้ทั่วถึง และการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ได้ในระยะยาวไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งทุก ๆ ปี การบริหารจัดการน้ำต้องแก้ทั้งหมดอย่างบูรณาการ งบประมาณปี 58 จะเอากลุ่มงานเดียวกันมารวมกันไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำโดยสิ้นเดือนนี้ การบริหารจัดการน้ำ 4 สาย รวมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลออกจากทะเลต้องเสร็จ และจัดสรรงบปี 57 ที่ยังไม่ได้ใช้อีกหมื่นล้านมาใช้ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาน้ำจะยึดแนวพระราชดำริ ยืนยันทำงานจริงใจ จริงใจ ยั่งยืน ไม่ต้องการเสียงปรบมือ แต่ต้องการรอยยิ้มจากประชาชน ขอให้ทุกฝ่ายให้เวลารัฐบาลในการทำงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองเพราะไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งและความรุนแรงเกิดขึ้นอีก หลายประเทศที่ด้อยกว่าไทยขณะนี้พัฒนาแซงหน้าแล้ว พร้อมขอคำสัญญา จากประชาชน ให้ช่วยกันสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับประเทศ และจะกลับมาอีกครั้งพร้อมรอฟังเพลง “คืนความสุขให้ประชาชน”

ส่วนกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ในโลกออนไลน์ว่า ตนและน้องมีเงินในบัญชี 2 หมื่น 8 พันล้าน ไม่เปิดเผย ย้ำว่าไม่เป็นความจริงหากมีจะเอามาแจกประชาชนให้หมด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้นั่งเรือ เพื่อนำถุงยังชีพและสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมให้กับประชาชน โดยระหว่างการมอบของได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย ซึ่งได้ให้กำลังใจขอให้อดทน รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุดก่อนยิ้มทักทายชาวบ้านและโบกมือลา

หลังมอบของช่วยเหลือประชาชน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ ว่าการแก้ปัญหาอุทกภัยต้องพิจารณาภาพรวมทั้งลำน้ำโดยเฉพาะปัจจุบัน แม่น้ำยมมีปัญหามากที่สุด เพราะไม่มีเขื่อนไว้บริหารจัดการน้ำ แต่ทั้งหมดอยู่ในแผนจัดการน้ำของรัฐบาลแล้ว ส่วนการแก้ปัญหาในระยะแรกต้องเร่งระบายน้ำออกจากแม่น้ำสายหลักไปยังแก้มลิงทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงการแก้ปัญหาถนนที่ขวางทางน้ำ ซึ่งได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยในการเจาะช่องระบายน้ำรวมถึงสร้างประตูระบายน้ำ ส่วนการสร้างเขื่อนยังไม่ขอคุยเพราะจะต้องพิจารณาให้รอบด้านถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่มีความจำเป็น

ด้านการลงพื้นที่หลังจากนี้ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องติดตามปัญหาแล้ว อย่างไรก็ตามเห็นว่าปัญหาอุทกภัยปีนี้จะไม่หนักเหมือนปี 2554 แน่นอน แต่ปัญหาภัยแล้งในปีหน้าจะมีแน่นอนจึงต้องจัดทำแผนแก้ปัญหาให้เกิดความต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่าการลงพื้นที่ครั้งแรกได้รับกำลังเป็นอย่างดีและได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นทั้งนี้ก็อยากเห็นประชาชนได้รับความสุขอย่างเต็มที่

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

นราวุธ รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ