นายสมชาย เทียมบุญประเสิรฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การที่นักวิจัยได้ทำงานวิจัยหรือนวัตกรรมขึ้นมาชิ้นงานหนึ่งเพื่อให้สังคมได้ใช้ประโยชน์นั้น นักวิจัยต้องใช้ทั้งความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม ในเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศนั้นต้องร่วมกันระดมสมองและทำงานให้ผลงานออกมาสู่สาธารณะและใช้งานได้จริง ซึ่งนักวิจัยของศูนย์นาโนเทค และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเองต่อสังคมและประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้เป็นอีกก้าวที่สำคัญของการพิสูจน์ความสามารถของนักวิจัยไทยในเวทีระดับนานาชาติที่ ดร.ณัฏฐพร พิมพะ นักวิจัยของศูนย์นาโนเทค สวทช. เป็นผู้ชนะรางวัล ASEAN-US Science Prize for Women ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นร่วมกันระหว่างอาเซียนและประเทศสหรัฐอเมริกา มาเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่นของภูมิภาคอาเซียน ที่มีผลงานทั้งในด้านการวิจัยจนถึงการนำเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง และ ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ ไบโอเทค ได้รับรางวัล The ASEAN Meritorious Service Award (AMSA) ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์แก่ภูมิภาคอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัล ASEAN-US Science Prize for Women และ The ASEAN Meritorious Service Award (AMSA) ได้จัดขึ้นในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอาเซียน ครั้งที่ 9 ณ เมือง Bogor ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557
รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า รางวัลในปีนี้มอบให้นักวิทยาศาสตร์สตรีของภูมิภาคอาเซียนซึ่งทำงานวิจัยหลักเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ นับเป็นการสนับสนุนความพยายามของอาเซียน ที่จะพัฒนาสมรรถภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคเพื่อการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งภูมิภาค รางวัลที่ได้รับประกอบด้วยโล่และเงินรางวัล 25,000 เหรียญสหรัฐ “ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในระดับนานาชาติ เพราะเป็นเทคโนโลยีและงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ผลิตน้ำดื่มสะอาดในช่วงที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัยได้จริง และสามารถช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงน้ำสะอาดได้ แม้ในภาวะวิกฤติด้านภัยพิบัติต่างๆ เป็นตัวอย่างของการนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างนาโนเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ”
ในส่วนของ ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ไบโอเทค ซึ่งได้รางวัล The ASEAN Meritorious Service Award (AMSA) เป็นหนึ่งในรางวัลภายใต้ ASEAN Science and Technology Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีผู้มีคุณูปการต่อการสร้างความเข้มแข็งรวมถึงผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค ดร. ธีรยุทธ เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาบุคลากรในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้มีความสามารถในการใช้ดีเอ็นเอเทคโนโลยีในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของประเทศตนให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย และต้านทานต่อ โรคและแมลงที่สำคัญ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาบัณฑิตและโครงสร้างพื้นฐาน ให้กับบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรนานาชาติ เช่น Rockefeller Foundation และ Generation Challenge Programme (GCP)
เขียนข่าวโดย : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ภาพข่าวโดย : นายรัฐพล หงสไกร
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th