รมว.ศธ.-รมช.ศธ.เข้ารับตำแหน่งวันแรก

ข่าวทั่วไป Monday September 15, 2014 17:57 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และ พลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันที่ 12 กันยายน 2557

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมว่า มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงที่ใหญ่ทั้งโครงสร้าง กำลังคน งบประมาณ และถือเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นกระทรวงที่มีผลต่อคุณภาพของประชาชนในประเทศ แม้ว่าการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีที่เป็นทหาร 2 คน อาจจะสร้างความกดดันอยู่พอสมควร เพราะคนคาดหวังไว้มาก แต่จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวไว้ทุกเวทีว่า เราเข้ามาทำงานด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ส่วนรวมของประเทศดีขึ้น โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร ตนจึงตั้งใจที่จะทำงานเต็มความสามารถและทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เรื่องของการศึกษา ถือเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจและเป็นความคาดหวังของสังคม เพราะเราใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงเป็นลำดับที่ 2 ของโลก แต่ผลที่ออกมายังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทุกคนจึงจับตาดูการทำงานของ ศธ. จึงย้ำว่าจะใช้เวลา 1 ปีต่อจากนี้เพื่อปฏิรูปการศึกษา ซึ่งถือเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญในกลุ่มที่จะต้องปฏิรูปประเทศ ดังนั้นหากข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา มีข้อเสนอแนะใดๆ ก็ขอให้เสนอมา เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นและถูกจุด เพราะทุกคนรู้ปัญหาอยู่แล้ว ทั้งจะขอความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากผู้บริหารระดับกระทรวง เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษา เพื่อร่วมดำเนินการให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ให้ผลผลิตคือ นักเรียนและลูกหลานของเราดีกว่าที่ผ่านมา

ในส่วนของโครงสร้างของ ศธ. ที่มีรูปแบบโครงสร้างองค์กรต่างจากกระทรวงอื่นๆ เพราะทั้ง 5 องค์กรหลักก็ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นตั้งใจจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งความเหมาะสม ข้อดีข้อเสีย หรือแม้แต่การทำให้คนทั้งองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่อย่างไร

"โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายการศึกษาแก่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ๕ นโยบายทั่วไป ๗ นโยบายเฉพาะ และ ๑๐ นโยบายเร่งด่วน"

นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘

๕ นโยบายทั่วไป

๑. การพัฒนาและปฏิรูปการศึกษา จะต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นไปตามกระบวนการของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับและเกิดความมั่นคงยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทย

๒. การสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยการน้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ได้โดยสะดวก และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม

๓. การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลูกฝังคุณธรรม การสร้างวินัย ปลูกฝังอุดมการณ์ความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การมีจิตสาธารณะ ความตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อ รวมทั้งรู้คุณค่าและสืบสานวัฒนธรรมและขนบประเพณีอันดีงามของไทย

๔. การส่งเสริมและยกสถานะของครูซึ่งเป็นบุคลากรหลักในระบบการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงในสังคม เป็นบุคลากรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม มีภูมิความรู้และทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู ตลอดจนมีฐานะและคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน

๕. การบริหารและการปฏิบัติราชการกระทรวงในทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในสังกัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานสอดคล้องกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของสังคม

๗ นโยบายเฉพาะ

(ดำเนินการให้เห็นผลใน ๑ ปี)

๑. การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๑.๑ การพัฒนาการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษามีความเหมาะสมกับพื้นที่

๑.๒ สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ และแก้ไขปัญหาการอ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนในพื้นที่อย่างจริงจัง

๑.๓ สามารถพัฒนาระบบการให้ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจและสวัสดิการ สำหรับบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างเหมาะสม

๑.๔ มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนสำหรับนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และสถานศึกษาโดยการบูรณาการแผนและการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่

๑.๕ มีกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและการจัดการศึกษาโรงเรียนเอกชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์และสร้างความหวัง การยึดมั่นในหลักคุณธรรมและสถาบันหลักของชาติ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

๑.๖ สามารถเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติและยูเนสโก ประเทศกลุ่มประชาชาติมุสลิม ประเทศเพื่อนบ้าน และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง

๒. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๒.๑ โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘

๒.๒ มีกิจกรรมการเรียนรู้ ขยายความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษา และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

๒.๓ สามารถพัฒนาและเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาประเทศสมาชิกอาเซียน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายในลักษณะพหุสังคมวัฒนธรรม และให้ความเคารพในอุดมการณ์ความเชื่อบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

๓. การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๓.๑ มีแนวทางการส่งเสริมและดำเนินการเพื่อปรับสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาและสามัญศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานรองรับการพัฒนาประเทศ

๓.๒ มีแนวทางการพัฒนาหลักสูตร ระบบการจัดการศึกษา และบุคลากรทางศึกษา รองรับทิศทางการพัฒนาประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นฐานการพัฒนา

๓.๓ มีกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรมในสถาบันทางการศึกษา เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

๓.๔ มีแผนงานและโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตกำลังคนด้านการอาชีวศึกษาตอบสนองต่อภาคการผลิตสินค้าและอาหาร ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคการขนส่ง บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล และอื่น ๆ ในสาขาที่มีความขาดแคลน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการจัดทำความตกลงร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการผลิต การพัฒนาระบบการจัดการ และการพัฒนากำลังคน ทั้งระบบ

๓.๕ มีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้และการพัฒนาต่อยอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ วิสาหกิจ การประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้และแนวทางการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันในการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม

๔. การมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๔.๑ มีแนวทางการพัฒนาระบบการผลิตครูให้เพียงพอต่อความต้องการและเหมาะสมกับอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และปรับระบบการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษา

๔.๒ ระบบการบริหารงานบุคคล การย้ายบรรจุ และการประเมินวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา มีมาตรฐานระดับสากล สามารถเพิ่มศักยภาพในการให้การศึกษาและลดภาระงานที่ไม่จำเป็นรวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก

๔.๓ ครูและบุคลากรทางการศึกษามีจิตวิญญาณของความเป็นครู การเป็นครูมืออาชีพ และยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ

๔.๔ สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาตามเส้นทางวิชาชีพและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างเป็นระบบ มีระบบสนับสนุนการพัฒนาตนเองและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการระบบคลังความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประเมินผล อย่างเป็นรูปธรรม

๔.๕ มีแผนงานและโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยการพัฒนาระบบสวัสดิการที่มุ่งการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ

๕. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๕.๑ น้อมนำแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

๕.๒ การดำเนินแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมและความเหมาะสมกับหลักสูตรและระดับการเรียนการสอน ความคุ้มค่า ความจำเป็นในการลดอุปสรรคและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งความเท่าเทียมและครอบคลุมพื้นที่

๕.๓ มีแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยขยายโรงเรียนนำร่องในการจัดทำห้องเรียน Smart Classroom ออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น

๕.๔ สามารถใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและบูรณาการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครือข่ายต่าง ๆ เชื่อมโยงกับสถิติข้อมูลทางการศึกษา และประมวลผลข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๖. การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของกระทรวงศึกษาธิการ

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๖.๑ สามารถถ่ายทอดนโยบายพื้นฐานและนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาลงสู่แผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

๖.๒ สามารถสื่อสารถ่ายทอดให้ทุกหน่วยงานและบุคลากรทุกระดับมีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญของแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และพัฒนาตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประสิทธิภาพในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ ภายในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ เพื่อให้การปฏิบัติราชการในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

๖.๓ หน่วยงานส่วนกลางสามารถให้การสนับสนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอในการปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่

๖.๔ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การได้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้ทันต่อเหตุการณ์

๖.๕ สามารถติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการปฏิบัติราชการและผลการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาอย่างทันต่อสถานการณ์ มีระบบวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณและจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

๗.การดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษา

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๗.๑ มีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๒ และเป็นไปตามเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนฯ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ และสามารถดำเนินการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติในห้วงระยะเวลาต่อไป

๗.๒ มีแผนงานและโครงการในการจัดและส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะการดำเนินการต่อเนื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้เชื่อมโยงกันทั้งการปฏิรูปหลักสูตรและการปฏิรูปการเรียนการสอนกับการเรียนรู้ยุคใหม่ ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับการปฏิรูปการเรียนรู้ การยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล และการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการศึกษา

๗.๓ สามารถติดตามรายละเอียดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถรายงานสรุปความก้าวหน้าเป็นรายไตรมาส รวมทั้งสามารถวางแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบงาน กฎหมาย ระบบการบริหารจัดการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างเป็นระบบ

๑๐ นโยบายเร่งด่วน

(ดำเนินการให้เห็นผลใน ๓ เดือน)

๑. เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งฟื้นฟูโรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยเร็ว

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

โรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟู ให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว

๒. เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๒.๑ มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

๒.๒ ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป/จำนวนเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาในช่วง ๓ เดือนลดลงอย่างชัดเจน

๓. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ปรับภาพลักษณ์ และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่และผู้ปกครอง มีความยินดีและส่งเสริมให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๓.๑ มีกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง

๓.๒ มีการกำหนดแผนงานหรือมาตรการเพื่อจูงใจในการเข้ารับการศึกษาสายอาชีพอาชีวศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีระบบการติดตาม ควบคุม อย่างเป็นระบบและชัดเจน

๔. ทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ มีเวลาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างวินัย จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๔.๑ มีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนากระบวนการคิด ทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้านทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมสติปัญญา การปลูกฝังค่านิยม ๑๒ ประการ การเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำกิจกรรม ฝึกปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่ละช่วงวัย และการวางพื้นฐานเพื่อการทำงาน การศึกษาเพื่ออาชีพ

๔.๒ นำร่องรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี และผลักดันกฎหมายที่จะเป็นรากฐานและกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว

๕. เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๕.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด

๕.๒ สามารถให้การอุดหนุนและการช่วยเหลือมีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

๖. เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนและการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา และการสนับสนุนอื่น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๖.๑ มีแนวทางและมาตรการจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษา

๖.๒ มีการจัดทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

๗. เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา และครูสาขาขาดแคลนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๗.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด รวมถึงปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

๗.๒ สามารถปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

๘. เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบการจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา ให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรง การละเมิดและคุกคามทางเพศ รวมทั้งไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมขนบประเพณีอันดีงาม และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบัน การศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๘.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด

๘.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

๙. เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา และมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งเป็นหมู่คณะของนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบันการศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๙.๑ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด

๙.๒ มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

๑๐. เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาทั้งที่เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักและหน่วยสนับสนุน ให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด

เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย :

๑๐.๑ มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่ชัดเจน

๑๐.๒ มีการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรม รองรับอย่างเป็นรูปธรรม

๑๐.๓ มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง

๑๐.๔ มีระบบการวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางลบได้อย่างรวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

๑๐.๕ สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยต่อคณะรัฐมนตรีและสังคมได้อย่างรวดเร็ว

การขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย

๑. นโยบายทั่วไปเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานทั้งปวงของทุกหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดของ ศธ.

๒. สป. ดำเนินการทบทวนตัวชี้วัด กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๘ รองรับการดำเนินงานและการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัตินโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประจำปี (นโยบายเฉพาะและนโยบายเร่งด่วน) ออกแบบกระบวนการ กลไก และแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งสื่อสารถ่ายทอดให้หน่วยปฏิบัติได้รับทราบทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘

๓. หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด

๔. สป. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกรุณาทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะ ดังนี้

๔.๑ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเฉพาะ ในเดือนสุดท้ายทุกไตรมาสของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค.๕๗ และ มี.ค. มิ.ย. ก.ย.๕๘)

๔.๒ จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ทุกเดือนตลอด ๓ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค.๕๗)

๔.๓ การจัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติ ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒ อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีการสั่งการให้ทราบเพื่อให้การดำเนินการเกิดความเหมาะสมต่อไป

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กันยายน ๒๕๕๗

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ได้ทำงานระดับอุดมศึกษาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปทำงานในต่างจังหวัด แต่ก็ทำให้ได้เห็นสภาพการทำงานของการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาเอกชน และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นประจำ ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะได้นำเรียน รมว.ศธ. เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาต่อไป และขอฝากผู้บริหารช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา ซึ่งแทรกอยู่ในทุกส่วนของนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น ด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้การศึกษาตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่และตลาดแรงงาน ไม่ใช่ขับเคลื่อนเพียงเพราะโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ ทำอะไรได้ แต่ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อน รวมทั้งจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงต้องการทำงานร่วมกับ ศธ. เพราะมีสถานศึกษาทุกระดับอยู่ทั่วประเทศ

พลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงผลสำรวจของสวนดุสิตโพลล์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ากระทรวงที่คิดว่าควรได้รับการแก้ปัญหามากที่สุด คือ ศธ. และกระทรวงที่ผู้คนสนใจมากที่สุด คือ ศธ. แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงที่คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จ 1 ใน 5 ไม่ใช่ ศธ. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังร่วมกันต่อไป ทั้งนี้นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะข้อ 4, 5, 6 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ก็มีข้อเกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย ส่วนนโยบายเฉพาะก็จะเป็นโจทย์ที่จะได้น้อมนำไปทำงานในบทบาทที่รับมอบต่อไป

ภายหลังมอบนโยบาย รมว.ศธ.ได้ตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชนเพิ่มเติม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่

การปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ผ่านมามีแนวความคิดในเรื่องนี้จำนวนมาก ซึ่งเดิมเป็นทบวงมหาวิทยาลัย แต่เมื่อปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ก็นำมารวมเป็นกระทรวงเดียวกัน จึงต้องมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมว่าเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือไม่ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง แต่มีผลกระทบต่อการบริหาร จึงต้องนำทุกเรื่องมาพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าในสภาปฏิรูปแห่งชาติก็คงมีการหารือกันในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นประเด็นค่อนข้างสำคัญ

โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จะมีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะยกเลิกหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ และมีการใช้งบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ ในส่วนของการจัดซื้อจัดหาแท็บเล็ตนั้นได้ยุติโครงการไปแล้ว แต่จะต้องมีการพิจารณาว่าจะนำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้อย่างไร เช่น จัดทำ Smart Classroom หรือพัฒนา ICT เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม ทดแทน รวมทั้งการใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อนำมาทดแทนการเรียนรู้จากแท็บเล็ตหรืออินเทอร์เน็ตให้มีความเหมาะสมตามสภาพแต่ละโรงเรียน เช่น โรงเรียนขนาดใหญ่อาจไม่มีความจำเป็น Smart Classroom มากนัก เพราะว่ามีพร้อมอยู่แล้ว แต่โรงเรียนขนาดกลางอาจจะจำเป็นต้องเพิ่มเติมอุปกรณ์เข้าไป หรือโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะมีจำนวนนักเรียนน้อยมาก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องไปดูตามความจริงและให้มีความเหมาะสม

ในส่วนของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หากมีการขยายโครงการไปทั่วประเทศจะเกิดผลดีอย่างมาก เช่น ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ได้ผลอย่างดีมาก มีส่วนสำคัญทำให้ผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะสามารถขยายโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไปยังโรงเรียนทั่วประเทศได้สำเร็จ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ซึ่งมีจำนวนกว่า 14,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อใช้จัดการเรียนการสอน ทดแทนการขาดแคลนครูวิชาหลัก

กุณฑิกา พัชรชานนท์

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 12/9/2014

Update 13/9/2014

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ