พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีการรายงานถึงความคืบหน้าการติดตามเยี่ยมบ้านหญิงอุ้มบุญกรณีนายมิตสุโตกิ ชิเกตะ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ติดตามเยี่ยมบ้านหญิงอุ้มบุญกรณีนายมิตสุโตกิ ชิเกตะ จำนวน ๑๑ ราย โดยมีบุตรที่เกิดจากหญิงอุ้มบุญ จำนวน ๑๖ ราย (เป็นฝาแฝด ๕ คู่) และปัจจุบันมีเด็กได้เดินทางออกนอกประเทศแล้วจำนวน ๓ ราย อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จำนวน ๑๒ ราย และอีก ๑ ราย เพิ่งคลอด โดยหญิงอุ้มบุญต้องการขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงฯ ดังนี้ ๑) ต้องการรับเด็กกลับมาดูแล จำนวน ๔ ราย ๒) ต้องการขอรับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ จำนวน ๑ ราย ๓) ไม่ต้องการให้ความช่วยเหลือ จำนวน ๔ ราย ๔) ไม่ประสงค์ให้ข้อมูล จำนวน ๑ ราย และ ๕) ยังไม่ได้ตัดสินใจ ๑ ราย เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะทำงานร่วมกับมารดาเด็กเป็นรายกรณี ซึ่งหากมารดาเด็กมีปัญหาและต้องการขอรับการช่วยเหลือไม่ว่าทางด้านกายจิตสังคม อาชีพ ครอบครัวเดิม โดยกระทรวงฯ จะใช้กลไกของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และบ้านพักเด็กและครอบครัวทีมีอยู่ในทุกจังหวัดดำเนินงานร่วมกัน ส่วนกรณีที่หญิงอุ้มบุญต้องการรับเด็กกลับมาดูแลเอง กระทรวงฯ ไม่อนุญาตให้นำเด็กไปดูแลเอง เนื่องจากหญิงอุ้มบุญไม่มีพร้อมที่จะดูแลเด็กได้
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนการให้ความช่วยเหลือแม่อุ้มบุญ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ดำเนินการดังนี้ ๑. กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ออกประกาศลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗เรื่อง รับจดแจ้งลงทะเบียนบุคคลผู้ที่ตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ตามมติคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ โดยให้แม่อุ้มบุญที่ยังไม่ได้คลอดบุตรหรือคลอดบุตรแล้วมาขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นการคุ้มครองแม่และเด็กในกรณีอุ้มบุญระหว่างที่ยังไม่มีการบังคับใช้ พรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันไม่ปรากฏมารดาอุ้มบุญมาแจ้งลงทะเบียนบุคคลผู้ที่ตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ๒.การช่วยเหลือด้านกาย จิต สังคม เช่น การดูแลสุขภาพ การเยียวยาจิตใจ การให้คำปรึกษาแนะนำ การช่วยเหลือสงเคราะห์ครอบครัว ให้คำแนะนำในการฝึกอาชีพ และสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะทำงานร่วมกับมารดาเด็กเป็นรายกรณี โดยใช้กลไกของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และบ้านพักเด็กและครอบครัวทีมีอยู่ในทุกจังหวัดดำเนินงานร่วมกัน ๓. การคุ้มครองความปลอดภัย เช่น จัดสถานที่ที่ปลอดภัย (Safe House) โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ๔. การให้ความรู้กับแม่อุ้มบุญ ครอบครัว และชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญทั้งในด้านสังคมและด้านกฎหมาย เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์ หน่วยงานราชการในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สาธารณสุข มหาดไทย ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการให้ความรู้กับประชาชนและให้มีการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าว
“สำหรับการเปิดช่องทางการรับจดแจ้งลงทะเบียน (Register) บุคคลผู้ที่ตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ที่ทางกระทรวงฯ ได้ให้ลงทะเบียนทางศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นั้น ขณะนี้มีผู้โทรศัพท์มาปรึกษาเท่านั้น แต่ยังไม่มีการได้รับการจดแจ้งลงทะเบียนแต่อย่างใด นอกจากนี้ จะมีการเชิญแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาอุ้มบุญต่อไป” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th