วันนี้ (16 ก.ย.57) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ร้อยเอก นายแพทย์ ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงผลการทำงานในส่วนของ คสช. ในช่วงผ่านมา การทำงานของคณะอนุกรรมการ 5 กลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ดูแลแผนจัดการบริหารน้ำ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก คณะอนุกรรมการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คณะอนุกรรมการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรข้อกำหนดและกฎหมาย ต่าง ๆ รวมถึงคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ โดยทั้งหมดมีระยะเวลาทำงาน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก คือ ระยะร่างโครงการและแผนงาน ระยะที่สอง รายละเอียดแผนงานโครงการ และระยะที่สามแผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งระยะที่ 2 จะเสร็จสิ้นในปลายเดือนกันยายนนี้ และจะเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการมีแผนการบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนตุลาคม
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยที่เกี่ยวกับน้ำในระยะสั้น ซึ่งมีทั้งปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทย และมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และในวันที่ 16 - 18 กันยายน 2557 เป็นต้นไปก็จะมีอิทธิพลของพายุใต้ฝุ่นคัลแมกี ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนน้ำอันเนื่องมาจากอัตราการคายระเหยน้ำสะสมสูง จำนวนวันฝนตกมาก ปริมาณฝนสะสมต่ำ ทั้งนี้จะต้องมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ แพร่ พิจิตร นครสวรรค์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ เป็นต้น
ส่วนปัญหาเรื่องของน้ำหลากนั้น ตรงนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำหลากได้ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ เป็นต้น
สำหรับปัญหาในเรื่องของคลื่นชัดฝั่ง อันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังอยู่ที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
ทั้งนี้ ได้มีแนวทางพิจารณาสำหรับการสั่งการดำเนินการในระยะสั้น โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ คือ
1) เร่งปรับปรุงฟื้นฟูระบบระบายน้ำของชุมชนเมืองที่สำคัญ คือ จังหวัดนครราชสีมา สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุบลราชธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ
2) เรื่องการทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ศักยภาพให้มากที่สุด และสร้างแหล่งน้ำประจำตำบลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
3) เจาะบ่อบาดาลเร่งด่วนในพื้นที่ศักยภาพช่วยภัยแล้งที่จะมาถึง เตรียมจุดจ่ายน้ำ เตรียมการแจกจ่ายน้ำวิธีต่าง ๆ
4) ป้องกันระบบประปาบ่อน้ำตื้น บ่อบาดาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำและน้ำหลาก และเร่งฟื้นฟูเป่าล้างระบบดังกล่าวเมื่อน้ำลด
5) รณรงค์มาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และควรจะเร่งรัดให้ภาคอุตสาหกรรมมีแหล่งน้ำของตนอย่างเพียงพอ
6) การปรับแผนการผลิตการเกษตรให้ใช้น้ำตามศักยภาพและการหาอาชีพเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่มีศักยภาพการส่งน้ำ
7) ลำน้ำที่ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งมากก็ต้องระวังเรื่องของตลิ่งทรุด
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมในส่วนของการเตรียมการป้องกันภัยแล้ง โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการในการดำเนินการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูในเรื่องของลำน้ำยม โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำไปสู่พื้นที่แก้มลิง รวมไปถึงถนนที่อาจจะขวางกั้นทางเดินของน้ำจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร ตรงไหนที่จะต้องดำเนินการก็ขอให้ลงไปจัดการให้มีผลสัมฤทธิ์ ขณะที่เรื่องของการขุดแก้มลิง ก็อยากจะให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อที่เม็ดเงินก็จะได้อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งได้ฝากถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องของการหาวิธีเก็บกักน้ำไว้ ถึงแม้จะมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกไปเนื่องจากน้ำท่วม แต่ต้องสามารถเก็บกักน้ำไว้ในส่วนของช่วงต่อไปเพื่อรองรับภาวะน้ำแล้งที่จะเกิดขึ้น เช่น การขุดบ่อ การเจาะท่อลอดไว้ เป็นต้น
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ดูในเรื่องของโซนนิ่งของพืชต่าง ๆ ให้มีความเหมาะกับพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจ เรื่องผักออร์แกนิค ซึ่งตลาดยังมีความต้องการเป็นจำนวนมาก
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th