ศธ.-กก. หารือความร่วมมือพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา และมัคคุเทศก์

ข่าวทั่วไป Wednesday September 17, 2014 17:49 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงข่าวภายหลังการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ในประเด็น"ความร่วมมือด้านหลักสูตรพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา และมัคคุเทศก์" เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และพลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองกระทรวง ร่วมประชุมในครั้งนี้

รมว.ศธ. กล่าวแสดงความยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทั้งผู้บริหาร ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียน และได้หารือกับผู้บริหาร ศธ. ในประเด็นต่างๆ ซึ่งได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง พร้อมจะดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้ ดังนี้

1) การเพิ่มชั่วโมงเรียนหลักสูตรพลศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการให้เพิ่มชั่วโมงเรียนพลศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยตามปฏิญญากรุงเทพคือไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมรับหลักการที่จะนำไปปรับปรุงหลักสูตร โดยจะเพิ่มเวลาเรียนพลศึกษา ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาปรับลดเวลาเรียนวิชาอื่นลง และจะมีการทบทวนหลักสูตรภาพรวมอีกครั้งว่า มีวิชาใดที่หนักเกินไปหรือไม่ และจะสามารถปรับลดลงได้หรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงหลักสูตรพลศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ของสถานศึกษาอาชีวศึกษาด้วย

สำหรับข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกี่ยวกับการออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติในช่วงเช้า ที่ต้องการให้มีการประกอบท่าทางมวยไทย หรือข้อเสนอจากที่ประชุมให้ใช้ท่าราชนาวีในการออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติด้วยนั้น สพฐ.รับที่จะไปพิจารณาดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557

ในส่วนของการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูพลศึกษานั้น ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดฝึกอบรมหรือจัดทีมเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่ไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้การอบรมความรู้และเทคนิคการดูแลนักเรียนในชั่วโมงเรียนพลศึกษาแก่ครูที่ไม่ได้จบพลศึกษาโดยตรง เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ต้องมีความรู้และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนพอสมควรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่นักเรียนในขณะที่เล่นกีฬา

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า เด็กเล็กๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษา เป็นเด็กที่อยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา ความคิด และจิตใจ ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็กให้เจริญเติบโตควบคู่กันไป โดยไม่ยัดเยียดวิชาความรู้ให้เด็กเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการออกกำลังกายให้เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย เพื่อเด็กจะได้มีสุขภาพที่ดี เพราะแม้ว่าเด็กจะเรียนเก่งอย่างไร หากสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยบ่อย ก็ไม่สามารถจะเรียนได้ดี

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้เสนอให้มีการจัดกิจกรรมกีฬาระหว่างโรงเรียน เช่น การแข่งขันกีฬาจังหวัด เพื่อให้นักเรียนแต่ละสถานศึกษาในพื้นที่เดียวกันได้มีโอกาสรู้จัก เสวนา และทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีความสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้นด้วย

รมว.กก. กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงทั้งสองเห็นตรงกันคือ จะทำอย่างไรให้การพัฒนาการท่องเที่ยวและการกีฬาเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างคนโดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า “ให้ช่วยกันทำงาน” ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ ศธ. เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาทั่วทุกระดับการศึกษา ซึ่งในโอกาสแรกที่ได้ร่วมมือกับ ศธ. จึงได้เสนอให้มีการเพิ่มชั่วโมงเรียนพลศึกษาตามปฏิญญากรุงเทพ คืออย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมทั้งเสนอให้มีการออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติ โดยมีเพลงประกอบ เช่น เพลงเกี่ยวกับคุณลักษณะคนไทยในอนาคต และใช้ท่ามวยไทย ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมกีฬาหลังเลิกเรียนให้มากขึ้นด้วย

2) วิทยาศาสตร์การกีฬา

รมว.กก. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นการเน้นที่จะพัฒนาความเป็นเลิศของนักกีฬา ซึ่ง ศธ.มีมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็มีสมาคมกีฬาที่ต้องการจะพัฒนากีฬาไทย ดังนั้นจึงจะร่วมมือกันเพื่อพัฒนานักกีฬาไทยไปสู่ความเป็นเลิศ อย่างไรก็ตามจะไม่เน้นวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อให้ได้เหรียญทองเท่านั้น แต่จะมีการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาสำหรับพัฒนาเด็กเล็กเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายให้เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย

ประเด็นนี้ รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.จะบูรณาการการทำงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในมหาวิทยาลัย กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำรูปแบบที่ทันสมัยไปใช้ในการพัฒนานักกีฬาของไทยต่อไป

3) ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

รมว.ศธ. กล่าวว่า การเป็นมัคคุเทศก์อาจไม่จำเป็นต้องศึกษาสูงจนถึงระดับปริญญาตรี แต่อาจจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ที่สามารถสื่อสารภาษาต่างๆ รู้เรื่อง รู้ถึงการทำหน้าที่ของมัคคุเทศก์ที่ดี รวมทั้งต้องสอบผ่านเกณฑ์และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ก็จะสามารถเป็นมัคคุเทศก์ได้ แต่ขณะนี้ยังมีประเด็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น มัคคุเทศก์จะต้องจบปริญญาตรี ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับที่จะดำเนินการเสนอแก้ไขกฎหมายต่อไปซึ่งหากสามารถแก้ไขกฎหมายได้ ก็จะทำให้นักเรียนที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านการท่องเที่ยว สามารถออกไปทำงานเป็นมัคคุเทศก์ได้มากขึ้น เพราะในความเป็นจริงขณะนี้มีนักเรียนที่จบ ปวช.กว่า 1,000 คน แต่ไปเรียนต่อในระดับ ปวส.สาขาดังกล่าวเพียง 60 คน เพราะมองไม่เห็นอนาคตในการประกอบอาชีพ เนื่องจากกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก

รมว.กก. กล่าวสนับสนุนว่า เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะได้ร่วมมือกับ ศธ. เพื่อสร้างและพัฒนามัคคุเทศก์รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น หลากหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีมัคคุเทศก์ที่ลงทะเบียนไว้กว่า 50,000 คน แต่ทำงานจริงเพียง 10,000 คน ถือว่าไทยกำลังขาดแคลนมัคคุเทศก์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ที่สื่อสารภาษาที่สามได้ เช่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอาเซียน ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมเรื่องภาษาที่สามต่อไปด้วย นอกจากนี้ในระยะสั้นจะส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีแก่นักเรียนที่มีความสนใจหรือเด็กที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเป็น "มัคคุเทศก์น้อย" ในท้องถิ่นนั้นๆ

โอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทั้งสองกระทรวง ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 16/9/2014

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ