โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่องานของทั้ง ๒ กระทรวง โดยจะเพิ่มชั่วโมงพลศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดให้เรียน ๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะกลับไปทบทวนปรับลดชั่วโมงเรียนในภาพรวมเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเด็ก คาดว่าจะเริ่มได้ภาคเรียนที่ ๒ อีกทั้งจะส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนมีกิจกรรมกีฬาร่วมกันมากขึ้น แต่จะต้องมีการศึกษาหลักสูตรในภาพรวมดูว่าเนื้อหาวิชาใดที่หนักเกินไปและพอจะตัดทอนได้ เพื่อสอดแทรกวิชาพลศึกษาเข้าไปแทน ส่วนเรื่องการผลิตมัคคุเทศก์ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์นั้น จะต้องจบปริญญาตรีโดยตรงทางด้านมัคคุเทศก์ จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้มีประสบการณ์ในท้องถิ่น หรือผู้ที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงด้านการท่องเที่ยว และคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่กำหนดเป็นมัคคุเทศก์ได้ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รับที่จะกลับไปแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องต่อไป
ด้านรัฐมนตรีว่าการการท่องเที่ยวและการกีฬากล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันในการสร้างคนให้สมบูรณ์ จึงเห็นว่าในช่วงเช้าที่ทุกโรงเรียนต้องเคารพธงชาติควรเพิ่มการออกกายบริหาร โดยใช้ท่าที่เป็นเอกลักษณ์ไทย เช่น มวยไทย และนำวิทยาศาสตร์การกีฬาฯ เข้ามาช่วยส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยตั้งแต่เด็กด้วย สำหรับมัคคุเทศก์นั้น ที่ผ่านมามีมัคคุเทศก์ลงทะเบียนไว้ ๕๐,๐๐๐ คน แต่ประกอบอาชีพจริง ๑๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ขาดแคลนใน ภาษาที่ ๓ ได้แก่ จีน
รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลี และภาษาอาเซียน ที่ประชุมคาดหวังว่านักเรียนอาชีวศึกษาจะเข้ามาช่วยเสริมการท่องเที่ยวในได้ ซึ่งยังสอดคล้องกับนโยบายอาชีวะสร้างชาติ และช่วยการท่องเที่ยวให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ศศิพิชญ์/สรุป
ศุภชัย/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สป.ศธ.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th