รมว.พม. เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่จังหวัดพังงา

ข่าวทั่วไป Wednesday September 17, 2014 17:09 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๑๗ ก.ย.๕๗) เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๙ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีการให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา จำนวน ๓๒ คน ที่จังหวัดพังงา ว่า ผู้เสียหาย ทั้ง ๓๒ คน ประกอบด้วย ชาวบังกลาเทศ ๒๗ คนและชาวพม่า ๕ คน ได้รับการช่วยเหลือจากการเข้าจับกุมของ พ.ต.ท.ทวี จันทร์แก้ว สว.สส.สภ.คุระบุรี ( หัวหน้าชุดจับกุม ) พร้อมชุดจับกุมสถานีตำรวจภูธรคุระบุรี จากการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับ และจากการสืบสวนทราบว่า จะมีกลุ่มผู้ลักลอบนำพาบุคคลต่างด้าวผ่านตามเส้นทางดังกล่าวข้างต้น เพื่อจะไปส่งในพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้ดักซุ่มรออยู่ตามเส้นทางดังกล่าว ได้เห็นรถยนต์จำนวน ๒ คัน ตามที่ได้รับแจ้ง จึงได้ไล่ตามสกัดและได้ทำการตรวจค้นพบบุคคลต่างด้าวชาวโรฮิงญา คันที่ ๑ จำนวน ๑๓ คน และคันที่ ๒ จำนวน ๑๙ คน

จากนั้น ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดพังงา ร่วมกับบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคุระบุรี และล่ามจากมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้ร่วมกันสัมภาษณ์ และคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งรูปแบบการในการกระทำ วิธีการ และการแสวงหาผลประโยชน์ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันดังนี้ ผู้เสียหายทั้ง ๓๒ คน เป็นบุคคลต่างชาติที่มาจากบังกลาเทศ ๒๗ คน และพม่า ๕ คน ซึ่งได้รับการชักชวนจากนายหน้า เพื่อไปทำงานที่ประเทศมาเลเชีย โดยจะต้องจ่ายค่าเดินทางให้แก่นายหน้า เป็นจำนวนเงิน ๖๐,๐๐๐ - ๘๐,๐๐๐ บาทไทย เพื่อเป็นค่าเดินทาง โดยบางรายที่ไม่สามารถนำเงินมาให้นายหน้าได้ จะโดนทำร้ายร่างกาย ด้วยการปิดตา ทุบตี กักขัง หน่วงเหนี่ยว ข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อเป็นการบีบบังคับญาติผู้เสียหายให้โอนเงินมาให้แก่นายหน้า จึงจะยอมหยุดการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ชึ่งในบางรายเมื่อญาติโอนเงินมาแล้ว ผู้เสียหายก็ไม่ประสงค์ ที่จะเดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเชีย เนื่องจากเกิดความไม่ไว้วางใจ แต่ทางนายหน้าก็ไม่ยอมปล่อยตัว ยังดำเนินการพาผู้เสียหายเดินทางไปยังประเทศมาเลเชีย ชึ่งจากการสัมภาษณ์ การคัดแยกเหยื่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยทีมสหวิชาชีพ ทั้ง ๓๒ คน พบว่า มีผู้เสียหาย จำนวน ๑๕ คน มีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เนื่องจากมีลักษณะองค์ประกอบการถูกกระทำ วิธีการถูกการกระทำ และการแสวงหาผลโดยมิชอบที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา การพามาจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง การหน่วงเหนี่ยว การกักขัง มีการข่มขู่ การใช้กำลังบังคับ การหลอกลวง การใช้อำนาจโดยมิชอบและการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ส่วนอีก ๑๗ คน ทีมสหวิชาชีพเห็นตรงกันว่า ไม่เป็นผู้เสียจากการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นผู้สมัครใจที่จะเดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย และไม่มีลักษณะถูกกระทำด้วยวิธีการใดๆ ที่นำไปสู่การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแต่อย่างใด

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าว ตนได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดพังงา ให้ช่วยเร่งดำเนินคดีนี้ และได้สั่งการ ไปยังพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา (พมจ.) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา เข้าไปดูแลและ ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย รวมทั้ง ชี้แจงให้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองกรณีจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินการช่วยเหลือ การส่งตัวกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ตนจะลงพื้นที่เพื่อเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ