ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่กรุงฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2557 ว่า ได้หารือทวิภาคีกับ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ในประเด็นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้สูงอายุ การรับมือภัยพิบัติ การสร้างโรงงานผลิตวัคซีน การพัฒนาวัคซีน รองรับการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และปัญหาการจัดการสุขภาพแรงงานต่างด้าว
ในประเด็นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไทยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ขณะนี้ครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 99 มีการพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลในชนบท การผลิตบุคลากรด้านสุขภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลน พร้อมนโยบายส่งเสริมการทำงานในพื้นที่ชนบทของบุคลากร เช่น เบี้ยกันดาร เงินชดเชยการไม่ทำงานเอกชน เป็นต้น ได้หารือกับนายหม่า เสี่ยวเหว่ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขจีน ซึ่งจีนอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าสู่หลักประกันสุขภาพมากกว่า 10 ปี เนื่องจากมีจำนวนประชากรและพื้นที่มากที่สุดในโลก
โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขจีน ได้ขอบคุณประเทศไทยในการเป็นแกนนำของเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศอาเซียนบวก 3 (ASEAN Plus three UHC network) ที่ผลักดันความร่วมมือระหว่าง 13 ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และชื่นชมความเป็นผู้นำด้าน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของไทย ที่ได้แสดงให้เห็นในการประชุมคู่ขนาน (Side meeting) ร่วมกับสมัชชาอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557ที่ผ่านมา และจีนพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้ให้การสนับสนุนผลักดันประเด็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่เมืองเนปิดอร์ สหภาพเมียนมาร์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า ในส่วนประเทศญี่ปุ่น ได้หารือกับนางเคอิโกะ นากาโอกะ (Keiko Nagaoka) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษในการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการรับมือภัยพิบัติ โดยญี่ปุ่นได้สนับสนุนไทยในการเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เน้นการพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ (health security) รองรับการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค พร้อมร่วมกันคิดค้นพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกที่กำลังเป็นปัญหาในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน
นอกจากนี้ ได้หารือกับดาโต๊ะ เสรี ซุบรามานิอัมเสรีสุบรามาเนียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ในประเด็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีสภาพปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย โดยมาเลเซียมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในจำนวนที่ใกล้เคียงกันคือประมาณ 250,000 คน ซึ่งแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาโรคติดต่อข้ามพรมแดน ทั้งมาลาเรีย วัณโรค และเอดส์ที่ควบคุมได้ยาก รวมทั้งการคลอดบุตรโดยไม่ผ่านการดูแลอนามัยแม่และเด็ก จึงมีความเห็นตรงกันว่า ความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศจะเป็นการร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพในภูมิภาคได้เข้มแข็งขึ้น และการจัดการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชากรของอาเซียนได้รับสิทธิ์การรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง จะสามารถจัดการปัญหาสุขภาพแรงงานต่างด้าวได้อย่างยั่งยืน
20 กันยายน 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th