นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ.2484 ได้พัฒนาด้านโครงสร้างและศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 400 เตียง ให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินมารับบริการเฉลี่ยวันละ 90-100 ราย ทำให้พื้นที่ใช้สอยในอาคารแคบ มีข้อจำกัดในการดูแลรักษาและทำหัตถการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินและการช่วยกู้ชีวิตในผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการจำนวนมากในเวลาเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวนเงิน 30,214,800 บาท และโรงพยาบาลได้สมทบเงินบำรุงเพิ่มเติม 4,105,200 บาท ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ชั้น วงเงินก่อสร้างจำนวน 34,320,000 บาท โดยขณะนี้พร้อมให้บริการประชาชนในจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้รับบริการด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2547 จังหวัดนราธิวาสเป็น 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นด่านแรกที่ต้องดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่มารับบริการรวม 503 ราย สำหรับสถิติมีผู้มารับบริการเฉลี่ยวันละ 90-100 ราย มารับบริการมากที่สุดเวลา 16.00 น.- 24.00 น. เฉลี่ยปีละ 28,000 ราย เป็นผู้ป่วยอุบัติเหตุประมาณ 9,000 ราย ผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 19,000 ราย
บุคลากรงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบด้วย แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 2 คน พยาบาลวิชาชีพ 21 คน เวชกิจฉุกเฉินระดับกลาง 6 คน พนักงานช่วยเหลือคนไข้ 6 คน พนักงานทั่วไป 4 คน โดยมีแพทย์เวร พยาบาล ประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น เช่น รถพยาบาลฉุกเฉิน เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า เครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ ตู้ควบคุมอุณหภูมิทารกขณะเคลื่อนย้าย เป็นต้น
22 กันยายน 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th