พลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวต้อนรับประธานสมาพันธ์ฯ และคณะว่า นับเป็นความโชคดีที่โอกาสแรกของการทำงานในฐานะ รมช.ศธ. ที่ได้หารือกับผู้ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบอำนาจในการสั่งและปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับภารกิจการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
จากนั้น สมาพันธ์ฯ ได้เสนอ 8 ประเด็นสำคัญในการจัดการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ซึ่งได้มีการหารือกันมาแล้ว โดยได้สรุปเป็นข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้
การจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหาร"
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหาร" ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและสามัญ สถาบันศึกษาปอเนาะ และตาดีกา เพื่อต้องการพัฒนาผู้บริหารในด้านการบริหารจัดการ การบริหารหลักสูตร การวัดผลและประเมินผล การบริหารบุคคล และเพื่อให้มีความรู้ด้านกายภาพและสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ด้านเทคนิคการจัดการเรียนการสอน จิตวิทยาการสอน การจัดทำสื่อการเรียนการสอนระบบ ICT การมีหลักสูตรวิชาชีพครูในด้านเทคนิคการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเร่งรัดระยะสั้นให้กับโต๊ะครูและผู้ช่วยโต๊ะครู การดูแลช่วยเหลือนักเรียน การจัดอบรมครูผู้สอนศาสนาในด้านประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) เฉพาะกรณีครูผู้จบปริญญาตรีด้านศาสนาจากต่างประเทศ และการจัดทำหลักสูตรการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ให้ครอบคลุมทั้งครูผู้สอนศาสนาและครูผู้สอนสามัญ
ผลการหารือ รมช.ศธ. เสนอให้มีการจัดประชุมหารืออีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน 2557 เวลา 14.00 น. ที่อาคารรัชมังคลาภิเษก โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เป็นประธาน โดยขอให้นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ตรวจราชการ ศธ. ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และผู้แทนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและสามัญ สถาบันศึกษาปอเนาะ และตาดีกา ร่วมประชุมหารือในเรื่องโครงสร้างองค์กร หลักสูตรที่สำคัญและจำเป็น การจัดสรรงบประมาณ และรายละเอียดต่างๆ
การจัดให้มีระบบการนิเทศ การติดตามผลการจัดการเรียนการสอน
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการจัดระบบการนิเทศ การติดตามผลการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและสามัญ สถาบันศึกษาปอเนาะ และตาดีกา เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีระบบการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลอิสลามศึกษาที่เป็นระบบ ให้กับสถานศึกษาของเอกชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์การนิเทศเฉพาะกิจดังกล่าว ซึ่งจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทุกแขนง ทั้งด้านสามัญและอิสลามศึกษา (ศึกษานิเทศก์ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาจำนวน 15 คน และศึกษานิเทศก์ด้านวิชาสามัญจำนวน 15 คน) โดยปรับคุณลักษณะของครูผู้สอนศาสนาที่จบการศึกษาด้านศาสนาจากต่างประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถดำเนินการให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้กับครูผู้สอนศาสนาได้
ผลการหารือ เลขาธิการ กช. เห็นว่า ขณะนี้ สช.ยังไม่สามารถบรรจุแต่งตั้งศึกษานิเทศก์ หรือนักวิชาการศาสนาที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ารับราชการได้ เนื่องจากติดขัดกับข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ได้กำหนดถึงคุณสมบัติของศึกษานิเทศก์ ดังนั้น สช. จึงได้มีการจัดอบรมพนักงานและนักวิชาการของ สช.จังหวัด/อำเภอ เพื่อทำหน้าที่แทนไปก่อน โดยจะมีการจัดทำคู่มือในการนิเทศให้ด้วย อย่างไรก็ตาม สช.จะทำเรื่องเสนอสำนักงาน ก.ค.ศ.ให้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวต่อไป
รมช.ศธ .กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาระเบียบทางราชการ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ในการบรรจุศึกษานิเทศก์ หรือนักวิชาการศาสนาที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ารับราชการว่า ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบอะไรหรือไม่อย่างไร หากไม่สามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ ก็ต้องหาวิธีอื่นที่เหมาะสม
การปรับปรุงหลักสูตรบูรณาการของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในวิชาสามัญ/ศาสนาให้เหมาะสม
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการปรับปรุงหลักสูตรบูรณาการของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในวิชาสามัญและวิชาศาสนาให้น้อยลง โดยให้นักเรียนมีเวลาเรียนน้อยลง ซึ่งจะส่งผลในด้านคุณภาพและความเหมาะสมกับแต่ละระดับ ตลอดจนเหมาะสมกับช่วงวัยของผู้เรียน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในเนื้อหาสาระ ทำให้มีการจัดห้วงเวลาเรียนและรายวิชาได้อย่างเหมาะสมกับช่วงอายุของนักเรียนในแต่ละช่วงวัย เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนได้ดีขึ้น
ผลการหารือ รมช.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดย สพฐ.และ สช.มีการปรับปรุงและบูรณาการหลักสูตรตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้การเรียนการสอนน้อยลง ผู้เรียนเครียดน้อยลง แต่จะต้องได้คุณภาพทั้งการเรียนวิชาสามัญและวิชาทางศาสนา ต้องช่วยกันคิด และนำมาเชื่อมโยงกับหน่วยงานกลาง เพื่อให้ได้หลักสูตรที่สมบูรณ์ สามารถใช้ได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ได้
เลขาธิการ กช.เสนอให้สมาพันธ์ฯ จัดทำโมเดลนำร่องในสถานศึกษา 2-3 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางในการใช้พิจารณาจำนวนหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรด้านศาสนาที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
การจัดตั้งศูนย์ภาษา
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ภาษา เพื่อพัฒนาภาษาให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในภาษาต่างๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามลายูกลาง ภาษาอาหรับ เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมบุคลากรให้ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เชื่อมโยงการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ
ผลการหารือ ผู้ตรวจราชการ ศธ.กล่าวว่า ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 (ศธภ.12) จังหวัดยะลา ได้คำนึงถึงเรื่องการพัฒนาภาษาสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารในพื้นที่ด้วย จึงยินดีที่จะเชิญผู้แทนจากสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามฯ มาร่วมงานกัน เพราะ ศธภ.12 มีเครื่องมือค่อนข้างพร้อม เพียงแค่มีการจัดสรรงบประมาณและบุคลากร ก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า หากจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทั่วประเทศ จะต้องหารือกับ สป.ในการใช้ ศธภ.1-12 ให้เป็นศูนย์ภาษาอาเซียนของ ศธ. โดยใช้ ศธภ.เป็นโครงสร้างองค์กร และผู้ดำเนินการ ผู้จัดทำแผนงาน อาจจะเป็นผู้แทนจาก 5 องค์กรหลักสามารถทำร่วมกันได้
รมช.ศธ.กล่าวว่า อาจให้ ศธภ.12 ดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง หรือภาคอื่นๆ จะดำเนินการได้เหมือนกัน แต่ภาษาหรือรายละเอียดบางอย่างอาจจะมีแตกต่างกันบ้างตามความจำเป็น ที่จะต้องศึกษาภาษานั้นๆ ของคนในพื้นที่
การจัดให้มีการปรับปรุงพัฒนาด้านสวัสดิการแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหาร
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการจัดให้มีการปรับปรุงพัฒนาด้านสวัสดิการแก่ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ 5จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนด้านอิสลามศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม การเพิ่มสัดส่วนของครูสอนศาสนาต่อครูสอนสามัญเป็น 30 : 70 การบรรจุครูสอนศาสนาให้อยู่ในระบบการอุดหนุน PSIS (Private School Information and Support System) และการปรับเงินอุดหนุนอื่นๆ เพื่อยกระดับรายได้เพื่อการดำรงชีพและความเป็นอยู่ ทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารมีขวัญกำลังใจในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผลการหารือ เลขาธิการ กพฐ. เสนอให้นำประเด็นนี้ไปรวมประเด็นที่ 3 (จัดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรบูรณาการของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในวิชาสามัญและวิชาศาสนาให้น้อยลง โดยให้นักเรียนมีเวลาเรียนน้อยลง และส่งผลในด้านคุณภาพและความเหมาะสมกับแต่ละระดับ ตลอดจนเหมาะสมกับช่วงวัยของผู้เรียน) และทำให้เป็นมิติที่กลมกลืนกันไปเพื่อความยั่งยืน โดยอิงจากโรงเรียนการศึกษาพิเศษของผู้พิการ หรือเด็กด้อยโอกาส หรือโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ในการจัดสัดส่วนจำนวนครูสอนศาสนาในสถานศึกษา
รมช.ศธ. มอบ สพฐ.รับผิดชอบดำเนินการต่อไป
เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.554 ในมาตรา 4 และปรับปรุงคู่มือการจดทะเบียนสถาบันการศึกษาปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการศึกษาปอเนาะ พ.ศ.2547 ดังนี้
7.1 ให้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้งสถาบันศึกษาปอเนาะและตาดีกา ต้องจบปริญญาตรี แก้ไขเป็น “ไม่ต้องจบปริญญาตรี”
7.2 กำหนดให้คุณสมบัติของผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย (ตามที่ระบุในคู่มือการจดทะเบียนสถาบันศึกษาปอเนาะ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการศึกษาปอเนาะ พ.ศ. 2547) แก้ไขเป็น “กำหนดให้ผู้เรียน เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ถ้าเป็นชาวต่างชาติ ต้องถือหนังสือเดินทางที่ได้รับการตรวจลงตราประเภท NON IMMIGRANT รหัส ED”
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามวิถีชีวิต อัตลักษณ์ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดให้ผู้ถือใบอนุญาตไม่ต้องจบปริญญาตรี เนื่องจากการสอนด้านวิชาการศาสนาเป็นการสอนมาตั้งแต่ตั้งเดิม ผู้สอนวิชาศาสนาจึงเป็นผู้มีความรู้เฉพาะด้านศาสนาที่ได้รับการยอมรับและเป็นไปตามความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง
ผลการหารือ เลขาธิการ กช. แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้ทำเรื่องเสนอให้ คสช.พิจารณาแล้ว รอการดำเนินการแก้ไขต่อไป
การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนในระบบ “1 IT 1 ศูนย์ตาดีกา”
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนแก่ตาดีกา ในระบบ “1 IT 1 ศูนย์ตาดีกา” ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ชุดคอมพิวเตอร์ เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เพื่อจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ และเป็นการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ตลอดจนเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ต่อผู้เรียนได้อย่างเพลิดเพลิน
ผลการหารือ เลขาธิการ กช.กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและสามัญมีการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทางภาคใต้แล้ว โดยเริ่มจากพื้นที่ที่เสี่ยงที่สุดเป็นอันดับแรก แต่สถาบันศึกษาปอเนาะและตาดีกาเพิ่งเสนอเรื่องมา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ประกอบกับปีนี้ สช.ของบประมาณเพิ่มเติมไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะเร่งดำเนินการให้เรียบร้อย จึงขอให้สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือผู้ที่ต้องการขออุปกรณ์ดังกล่าว ส่งเรื่องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อช่วยพิจารณาตามความเหมาะสมอีกทางหนึ่ง
การจัดมหกรรมการศึกษาเอกชน ปอเนาะ ตาดีกา เพื่อแสดงผลงานการจัดการศึกษา
สมาพันธ์ฯ ได้เสนอให้มีการจัดมหกรรมการศึกษาเอกชน ปอเนาะ ตาดีกา เพื่อแสดงผลงานการจัดการศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวิธีการขยายผลและเผยแพร่ให้กับประชาคมในภูมิภาคอื่นและประชาคมโลกได้เข้าใจในบริบทของพื้นที่ดังกล่าวด้วยวิธีการที่หลากหลาย
ผลการหารือ เลขาธิการ กช.กล่าวว่า สช.มีการจัดกิจกรรมวันการศึกษาเอกชนประมาณวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี ที่สำนักงานศึกษาธิการภาคทั่วประเทศ จึงจะจัดมหกรรมการศึกษาเอกชนปอเนาะ ตาดีภายในงานเดียวกันกับกิจกรรมวันการศึกษาเอกชน แต่จะนำเอาเฉพาะตัวอย่างที่ดีและเด่นมาแสดง โดย สช.พร้อมจะสนับสนุนงบประมาณบางส่วน
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 23/9/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th