นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ตรวจเยี่ยมนิคมฯ ภาคใต้ พร้อมลงพื้นที่เตรียมจัดตั้งอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในภาพรวมของอุตสาหกรรมในประเทศ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานรายได้ของประเทศ และเป็นการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมในการเอื้อต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวต่อว่า นิคมฯ ภาคใต้ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่ที่เหลือประมาณ 755 ไร่ ของนิคมฯ ภาคใต้ ระยะ 3 เป็นนิคมอุตสาหกรรมเมืองยางเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยางพาราให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในท้องตลาดให้สูงขึ้น ล่าสุด บริษัทที่ปรึกษากำลังออกแบบในรายละเอียดโครงการใช้เวลาประมาณ 8 เดือน หรือจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างช่วงเดือนตุลาคมปีเดียวกัน คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2560 ซึ่ง กนอ. มีความพร้อมในการรองรับสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา และในด้านระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปา ระบบบำบัดบำบัดน้ำเสีย การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัจจุบันการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้ว
นิคมฯ ภาคใต้ สามารถรองรับอุตสาหกรรมยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ทดแทนนโยบายแทรกแซงราคายางพาราตกต่ำ สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากยางพารา ด้วยการเพิ่มการใช้วัตถุดิบและมูลค่าเพิ่มในประเทศ จากบทบาทผู้ผลิตวัตถุดิบไปสู่การเป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ยางอย่างเป็นรูปธรรม มีพื้นที่ทั้งหมด 2,261ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณูปโภคอยู่ 32.26 % ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 725 ไร่ ห่างจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา 47 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ 16 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ 15 กิโลเมตร การพัฒนาเป็น Rubber City ระยะ 3 มีพื้นที่ 775 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 516 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 239 ไร่ มีความพร้อมรองรับในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางสำหรับรถยนต์ ท่อยาง แปรรูปน้ำยางข้น แปรรูปไม้ยางพารา และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ประกอบด้วย Testing Lab, R / D / HRD Center, ศูนย์ข้อมูล / ศูนย์แสดงสินค้า, Logistics, ตลาดกลาง / คลังสินค้า รวมทั้งเป็นสถานฝึกอบรม / พัฒนาบุคลากร / สถาบันการศึกษาเกี่ยวกับยาว เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายว่าพื้นที่ใหม่นี้จะทำให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2 หมื่นตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม กนอ. เตรียมพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้ 5 พื้นที่ ได้แก่ 1. ชายแดนแม่สอด จ.ตาก 2. ชายแดน จ.มุกดาหาร 3. ชายแดน อ.สะเดา (ด่านศุลกากรสะเดาและศุลกากรปะดังเบซาร์) 4. ชายแดน จ.ตราด 5 ชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้สามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.สะเดา (ด่านศุลกากรสะเดาและศุลกากรปะดังเบซาร์) ซึ่งอยู่ห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.สะเดา ประมาณ 50 กม. ทั้งนี้จะทำเป็นศูนย์กระจายสินค้า หรือนิคมอุตสาหกรรมบริการด้าน Logistic และ SMEs Complex นายวีรพงศ์ กล่าวสรุป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th