นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 อนุมัติในหลักการแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและธนาคารออมสินได้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นความจำนงสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ธนาคารออมสิน ตั้งแต่บัดนี้
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากปัญหายางพารา ลดต่ำลง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตของผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการใช้ ทำให้ราคายางพาราลดลงและมีความผันผวน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะรองรับผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานยางพาราในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศยังมีปัญหาที่สำคัญ คือ เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เป็นเครื่องจักรเก่าและล้าสมัย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำ อีกทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีการลงทุนสูง ดังนั้น การดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิตหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ดร.สมชาย กล่าวต่ออีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งจากน้ำยางข้นและยางแห้ง ที่ใช้ยางพาราในประเทศ เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม ฯลฯ และต้องเป็นผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยและมีผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว การให้สินเชื่อเป็นประเภทเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 10 ปี ผู้กู้จะชำระดอกเบี้ยเท่ากับอัตรา FDR (FDR คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนของธนาคารออมสิน ปัจจุบันประมาณ 2%) โดยแบ่งการชำระหนี้ เป็น 3 ระยะ คือ (1) ปีที่ 1 - 3 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย (2) ปีที่ 4 - 5 พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ย (3) ปีที่ 6 - 10 ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ดอกเบี้ยพักชำระของปีที่ 1-3 นำไปทยอยชำระในปีที่ 4 -10 สำหรับหลักประกันสินเชื่อ ใช้ทรัพย์สินหลักของกิจการ เช่น ที่ดิน อาคาร สำนักงาน เครื่องจักร กรณีที่หลักประกันดังกล่าวไม่เพียงพอ สามารถใช้หลักประกันอื่นเพิ่มเติมตามที่ธนาคารออมสินกำหนด นอกจากนี้ ผู้กู้สามารถใช้หนังสือค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นหลักประกันเสริมได้ รวมทั้ง เครื่องจักรที่ใช้ในโครงการฯ ต้องผ่านการพิจารณาและรับรองความเหมาะสมจากกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าเป็นเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพดีและเพิ่มผลผลิตได้จริง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางจะมีผลิตภาพการผลิตมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การใช้เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท ตามโครงการฯ คาดว่า จะทำให้ปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น 300,000 ตัน/ปี ซึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางที่สนใจ สามารถยื่นความจำนงเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ หรือธนาคารออมสินสาขาย่อยทุกสาขา โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ภายใต้กรอบวงเงินในการสนับสนุนสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท
ที่มา: http://www.thaigov.go.th