บังคับใช้กฎหมาย ขยายความคุ้มครองทางสังคม
กระทรวงแรงงาน เสวนาหัวข้อ ‘การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน’ โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคม นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน เป็นวิทยากร ซึ่งดำเนินรายการโดยนางสุขุมาล ธนานันต์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
ด้านแรงงาน ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่าจะต้องดำเนินการภายใต้ Road Map 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนในปี 2557 โดยการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การตรวจแรงงาน ทั้งการตรวจตามภารกิจ ตรวจสหวิชาชีพ ศรชล ซึ่งเป็นนโยบายในลำดับต้นๆ ของ คสช.ในการตรวจแรงงานในทะเลที่มีความลึกออกไป และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ทั้งกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม ระยะกลางการดำเนินการในปี 2558 คือ การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ปรับปรุง/ผลักดันกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานภาคเกษตร ส่งเสริมการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) และ (TLS) 8001 -2553 การเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน พัฒนากลไกการยื่นคำร้อง/ร้องทุกข์ โดยการเปิดสายด่วนและมีล่ามของภาษาแรงงานเพื่อนบ้าน การขยายศูนย์ประสานแรงงานประมงให้ครบทั้ง 22 จังหวัด และการร่างตราสารคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และระยะยาวในปี 2559 คือ การนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบรัฐต่อรัฐ ปรับปรุง/ผลักดันกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายเงินทดแทน สร้างเครือข่ายคุ้มครองแรงงาน ทั้งภาคประชาสังคม อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) และอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถูกมองว่ามีบทบาทเข้าไปคุ้มครองแรงงานต่างด้าว จึงขอทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใครมาจากไหน พนักงานตรวจแรงงานจะเข้าไปคุ้มครองดูแลให้เขาได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม
เหมือนคนไทยทุกประการ แต่บางครั้งมีข้อจำกัดที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการได้ นอกจากแรงงานต่างด้าวจะได้รับค่าจ้างแล้ว การจัดสวัสดิการทั้งอาหารและที่พักก็เป็นสวัสดิการตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับค่าจ้าง นายจ้างจะหักค่าอาหารและที่พักจากค่าจ้างไม่ได้ วิธีการคือต้องทำความเข้าใจให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะออกคำสั่งให้ปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติจะดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางเพ่งและอาญา ส่วนแนวทางการดำเนินการจะบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ การทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อช่วยแจ้งเบาะแส การคุ้มครองแรงงานที่อยู่ในเรือประมงทะเล โดยการตั้งเครือข่ายให้ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตาให้พนักงานตรวจแรงงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th