ทั้งนี้ ตามนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงไอซีที มี 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกระทรวงฯ จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย ทางสังคมและจิตวิทยา และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงการเสริมสร้างการตระหนักรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สำหรับด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cyber Crime) ถูกกำหนดเป็น 1 ใน 8 ของปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญของอาเซียน กระทรวงฯ ตระหนักถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการทำสงครามไซเบอร์ อันหมายถึงการกระทำของรัฐ เพื่อแทรกซึมไปยังระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายล้างและสร้างความแตกแยก ซึ่งมีรูปแบบการกระทำต่างๆ การโจรกรรมทางไซเบอร์ การทำลายเว็บไซต์ การโฆษณาชวนเชื่อ การรบกวนเครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสาร การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบการเงิน การธนาคาร ระบบการสื่อสาร ด้านการแพทย์ การฝังหรือซ่อนโปรแกรมการประสงค์ร้าย และการล้วงความลับ เป็นต้น
ปัจจุบัน กระทรวงไอซีทีในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ได้มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในการดำเนินการเฝ้าระวัง รับเรื่องราวร้องทุกข์ ติดตามและการดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมผู้กระทำความผิดที่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ. รวมทั้งมีศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Operation Center: CSOC) ดำเนินการเฝ้าระวังเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม รองรับภัยคุกคามด้านสารสนเทศในระดับประเทศตลอด 24 ชั่วโมง และหมายเลขสายด่วน 1212 ให้ประชาชนแจ้งข้อมูล เบาะแส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มงานวิเคราะห์และพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensic) และฝ่ายกฎหมายที่ร่วมกับพนักงานสอบสวนในการออกหมายจับ หมายค้น ร่วมดำเนินการจับกุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีพบเบาะแสหรือมีเหตุควรสงสัย หรือมีหลักฐานตามสมควรที่จะสามารถเอาผิดกับผู้ต้องสงสัยได้ ตลอดจนมีศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ThaiCERT (Thai Computer Emergency Response Team) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หน่วยงานในกำกับกระทรวงฯ
ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และรับมือภัยคุกคามด้านสารสนเทศ การจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์ (Incident Handling) เป็นต้น ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชองครักษ์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงกับต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศอินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พบว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวปรากฏประเด็นปัญหาในการปฏิบัติ อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ฐานความผิดที่กำหนดในกฎหมายปัจจุบันไม่ครอบคลุมถึงรูปแบบการกระทำความผิดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ปัจจุบันไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากให้กับผู้อื่นได้ (Spam mail) เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีความผิดต่อเมื่อมีการปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มา ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่กฎหมายไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ก่อให้เกิดผลกระทบกับทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทั่วไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงพัฒนากฎหมาย แต่การปรับปรุงกฎหมายจะต้องคำนึงถึงความเป็นสากลและสามารถบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการติดต่อสื่อสารด้วย
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการสัมมนา “นโยบายและแนวทางการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ” ครั้งนี้ขึ้น เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีให้เครือข่ายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) กอ.รมน. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฯ รวมกว่า 100 คน ได้รับทราบ และเพื่อบูรณาการแนวทางการบริหารจัดการเกี่ยวกับการระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Social network) ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐที่เกี่ยวข้องดังกล่าว รวมทั้งเพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงข้อกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ฯ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผลจากการสัมมนาฯ ครั้งนี้จะทำให้กระทรวงไอซีทีและเครือข่ายภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
“กระทรวงฯ ถือว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสนับสนุนการเกิดนวัตกรรมทางธุรกิจ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยในเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดความน่าเชื่อถือได้เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเกิดความมั่นคงปลอดภัย และสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล” นายพรชัยฯ กล่าว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th