แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 24, 2014 16:05 —สำนักโฆษก

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ในประเด็นนโยบายการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย

รมช.ศธ. กล่าวว่า จากการที่ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายให้ตนดูแลรับผิดชอบงานด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายของ ศธ. ที่จะต้องมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างองค์กรหลักของ ศธ. โดยมีแนวคิดที่จะดำเนินการในเรื่องสำคัญต่างๆ ดังนี้

Smart Classroom

รมช.ศธ. กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทันสมัย เป็น 1 ในนโยบายที่ ศธ.ต้องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยขยายโรงเรียนนำร่องในการจัดทำห้องเรียน Smart Classroom ออกสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ซึ่ง Smart Classroom ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะจะต้องจัดตามความพร้อมและความต้องการของแต่ละโรงเรียน พร้อมทั้งมีการพัฒนาเรื่องทางเทคนิคต่างๆ ไปด้วย เช่น การดูแลรักษาอุปกรณ์หรือระบบต่างๆ การแก้ไขปัญหาขัดข้องของอุปกรณ์ เพื่อให้โรงเรียนสามารถใช้Smart Classroom ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของครูจะต้องมีการฝึกอบรม เพื่อให้ครูใช้เทคโนโลยีได้ และพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ต่อไปด้วย

ความก้าวหน้าในการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

รมช.ศธ. กล่าวว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุให้มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งเวลาก็ผ่านมานานพอสมควรแล้ว แต่พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาก็ยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ไปให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน

โดยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีวัตถุประสงค์ให้เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา และให้เครือข่ายหลักทั้ง 3 เครือข่ายของ ศธ. คือ 1) UniNet ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 2) OBECNetของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3) MOENet ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกัน รวมทั้งสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับโรงเรียนกว่า 7,000 แห่งที่รับสัญญาณจากเครือข่าย UniNet ที่ยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากเราเตอร์ (Router) ของโรงเรียนยังไม่สอดรับกับการทำงานของ UniNet ดังนั้นหากจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้สำเร็จ ก็จะทำให้การบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อศึกษามีความเป็นเอกภาพมากขึ้นทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า เรื่องของเทคโนโลยีทางการศึกษาไม่ใช่เรื่องของการให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการดูแลรักษา การฝึกอบรมบุคลากร การวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงความปลอดภัยด้วย เช่น การโพสต์ข้อความผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปคิดต่อว่า สามารถพัฒนาหรือใช้ซอฟต์แวร์ในการป้องกันหรือบล็อก (Block) เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร

รมช.ศธ. ตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชนในประเด็นนโยบาย “อาชีวะสร้างชาติ” ด้วยว่าเป็นนโยบายของ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการจะให้อาชีวะเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นว่าจะต้องพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กอาชีวะได้รู้ตัวตนของตัวเอง มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และมีจุดยืนในสังคม เพื่อเน้นย้ำให้เป็นคนที่มีความสำคัญของสังคม ตลอดจนถึงความร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคเอกชนที่จะช่วยดึงศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะออกมาได้อย่างถูกทิศทาง และตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยอาจจะมีการจัดโครงการตามนโยบายของ รมว.ศธ. เช่น พรีอาชีวะ เพื่อให้เด็กได้เข้าใจตัวตนก่อนเรียนและเข้าใจอาชีพที่ตัวเองจะทำ

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 24/9/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ