ตามที่กรมศุลกากร ได้มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและคสช. ในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้ นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร วางแผนร่วมกับนายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม โดยมอบหมายให้ ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 ตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันสกัดกั้นและปราบปรามสินค้าลักลอบหนีศุลกากรและหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามข้อกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมด้วยของกลาง ดังนี้
1.ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและสินค้าต้องห้ามต้องกำกัด สามารถจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ เสื้อ กางเกง อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา ของเด็กเล่น เครื่องเขียน กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด แก้วน้ำ โคมไฟ และอื่นๆ ยี่ห้อ Disney, Apple, Samsung, Marvel, Casio, Chanel, Louis Vuitton เป็นต้น รวมจำนวน 101,134 ชิ้น วัตถุลามกอนาจาร รวมจำนวน 4,026 ชิ้น และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ได้แก่ ครีมทาผิว เครื่องสำอาง อุปกรณ์แต่งหน้า ยาฉีดผิว รวมจำนวน 108,588 ชิ้น จับกุมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 4 คัน เป็นยี่ห้อ Porsche รุ่น Carrera s 911 จำนวน 1 คัน และรุ่น Cayenne GTS จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ Rolls-Royce รุ่น Ghost จำนวน 1 คัน และ ยี่ห้อ Mercedes Benz รุ่น CLS 350 จำนวน 1 คัน รวมมูลค่าของกลางประมาณ 103 ล้านบาท
2.สินค้าหลีกเลี่ยงอากรและสินค้าต้องห้ามต้องกำกัด สามารถจับกุมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเก่าใช้แล้วยี่ห้อ Bentley GTC ปี 2008 มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท และรถมอเตอร์ไซด์เก่าใช้แล้วยี่ห้อ BMW จำนวน 11 คัน มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท โดยไม่มีใบอนุญาตนำเข้า จับกุมพัดลมไอน้ำ จำนวน 132 เครื่อง สำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท รวมมูลค่าของกลางประมาณ 14 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐานลักลอบ และนำหรือพาของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษี หรือของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือของที่ยังไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 99 มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16 มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2481 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ฯจึงได้ยึดของกลางนำส่งกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th